ReadyPlanet.com


ช่วยหนูด้วย3


หนูเป็นผู้หญิงอายุ 35 ปี ขับรถมอเตอร์ไซด์กลับจากทำงานตอน 3 ทุ่ม คนเดียว มาตามถนนหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนชนบทลาดยาง ถึงที่เกิดเหตุมีชายฉกรรจ์มาทราบภายหลัง คือ ชุด ชรบ.ยืนดักอยู 3 คน ดาบตำรวจ 1 นาย กำลังค้นมอเตอร์ไซด์อยู่ 1 คัน บนถนนช่องเลนซ้าย หนูตกใจมากเพราะมันมืดและมองไม่เห็น พอเห็นก็ใกล้มากแล้ว หนูตกใจจะขับผ่านแต่เกิดเฉี่ยวกับรถกลุ่มคนดังกล่าว หนูรถล้มบาดเจ็บหลายแห่ง ฟันหัก 3 ซี่ โยกอีก 5 ซี่ มีกู้ภัยนำส่งโรงพยาบาล หนูมาทราบภายหลังว่าฝ่าย ชรบ.ก็บาดเจ็บเหมือนกัน คือ ขาหัก 1 คน และหัวแตกเย็บ 2 เข็ม อีก 1 คน แต่รถมอเตอร์ไซด์ไม่เสียหาย แต่ของหนูเสียหายมาก เรื่องถึงโรงฟังหนูแปลกใจที่กลุ่มตำรวจและชรบ.จะให้หนูชดใช้ค่าบาทเจ็บ คนขาหัก 1 แสน คนหัวแตก 50000 บาท หนูงง ที่จริงหนูต้องเป็นฝ่ายเรียกร้องค่าเสียหายไม่ใช่หรือคะ  หนูงงไปหมดไม่รู้จะพึ่งใคร นี่ก็ตกลงไม่ได้  หนูอยากให้เรื่องจบๆ ตามคำแนะนำของคุณมโนธรรม โดยไม่เรียกร้องอะไรจากฝ่ายเขา และก็จะหาเงินช่วยเขา สัก 20000  บาท เขาก็ไม่เอา พนักงานสอบสวนก็บอกจะส่งสำนวนไปที่ศาลให้ศาลตัดสิน หนูอยากถาม

1.คดีแบบนี้ใครจะชนะคดีคะ

2.หนูก็แจ้งความเขาเหมือนกันค่ะว่าประมาทและผิดกฏหมาย เรียกเงินชดใช้ ค่ารักษาตัวและซ่อมมอเตอร์ไซด์ 30000 บาท ที่หนูยอมให้เขา 20000 บาท เพราะหนูกลัวค่ะ

3.อยากให้อธิบายขั้นตอนที่ศาลแบบละเอียดด้วยค่ะ

4.หากหนูไม่มีเงินจ้างทนาย หนูจะยื่นคำร้องเอง  และจะให้คำต่อศาลเองได้ไหมคะ เพราะหนูก็จะพูดตามจริงค่ะ  มีทนายความอาสาช่วยเขียนสำนวนและให้คำปรึกษาที่ศาลไหมคะ

5.หนูมีพยานที่เกิดเหตุช่วยยืนยันความจริง 3 คน ค่ะ

6.หนูมีภาพถ่ายที่ยืนยันว่าพวกเขาดักตรวจบนถนนเพราะตรงนั้นไหล่ถนนนอกเส้นขาวกว้าง  60  ซม.เองค่ะ ยืนคนเดียวยังไม่ได้เลยค่ะ  และ ภาพถ่ายที่ดิฉันบาดเจ็บ  ภาพรถเสียหาย  หนูจะต้องให้ศาลตอนไหนคะ แล้วก็เรื่องตำรวจสัญญาบัตรในสำนวนไกล่เกลี่ยระบุค่ะว่ามีแต่ดาบตำรวจเท่านั้น

7.ผู้รู้ทุกท่านช่วยให้คำแนะนำหนูหน่อยค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ คนเย็บผ้าโหล :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-06 18:04:24 IP : 182.93.182.133


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3288690)

 1.คดีแบบนี้ใครจะชนะคดีคะ

 

ตอบ....ผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย   คือผู้ที่ประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับ บาดเจ็บและเสียหายต่อทรัพย์สิน...ใครจะเป็นฝ่ายประมาท  ก็ต้องดูข้อเท็จจริงโดยละเอียด   ประกอบพยานหลักฐาน  หรือพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์....  ความเห็นของร้อยเวรเจ้าของคดี  จะมีผลต่อรูปคดีค่อนข้างมาก  และศาลมักรับฟัง   เพราะไปตรวจที่เกิดเหตุ   ประกอบกับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติตามหน้าที่.....

 
2.หนูก็แจ้งความเขาเหมือนกันค่ะว่าประมาทและผิดกฏหมาย เรียกเงินชดใช้ ค่ารักษาตัวและซ่อมมอเตอร์ไซด์ 30000 บาท ที่หนูยอมให้เขา 20000 บาท เพราะหนูกลัวค่ะ
 
ตอบ.......ถ้าคุณไม่ประมาทก็ไม่ต้องรับผิด  ที่ยอมชดใช้ไป  ก็อ้างได้ว่าเพราะความกลัว  ไม่ใช่ยอมรับว่าเป็นฝ่ายประมาท    เพราะจะประมาทหรือไม่  อยู่ที่ข้อเท็จจริง    ตามที่เล่ามา    ฝ่ายเขาน่าจะมีส่วนประมาทด้วย  จะมาเรียกค่าเสียหายจนสูงลิ่ว   ก็คงต้องพิสูจนฺกันว่าใครประมาท  หรือประมาทร่วม ครับ
 
3.อยากให้อธิบายขั้นตอนที่ศาลแบบละเอียดด้วยค่ะ
 
 ตอบ.....ุถ้าเจรจาค่าเสียหายกันไม่ประสบผล    ตำรวจก็คงแนะนำให้ไปฟ้องร้องกันเอง     เว้นแต่อัยการจะฟ้องคุณในความผิดอาญา  ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตาม ปอ. ม.300   คู่กรณีของคุณก็สามารถร้องศาลให้เรียกค่าเสียหายไปในคำฟ้องได้.......ถ้าฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง   ก็ต้องหาทนายช่วยเหลือในการต่อสู้คดีเอาเองครับ
 
4.หากหนูไม่มีเงินจ้างทนาย หนูจะยื่นคำร้องเอง  และจะให้คำต่อศาลเองได้ไหมคะ เพราะหนูก็จะพูดตามจริงค่ะ  มีทนายความอาสาช่วยเขียนสำนวนและให้คำปรึกษาที่ศาลไหมคะ
 
ตอบ.....การไม่มีทนายช่วยเหลือ  เป็นสุ่มเสี่ยงค่อนข้างสูง  ลองติดสภาทนายความเพื่อขอช่วยเหลือ  สายด่วน 1167 ครับ
 
5.หนูมีพยานที่เกิดเหตุช่วยยืนยันความจริง 3 คน ค่ะ
 
ตอบ....ต้องให้ทนายความฟังคำบอกเล่าของพยานก่อนว่า  มีผลทำให้คุณเป็นเป็นผู้ไม่ประมาทจริงหรือไม่...เพราะคุณจะพ้นผิดได้   ต้องไม่เป็นผู้ประมาทครับ
 
6.หนูมีภาพถ่ายที่ยืนยันว่าพวกเขาดักตรวจบนถนนเพราะตรงนั้นไหล่ถนนนอกเส้นขาวกว้าง  60  ซม.เองค่ะ ยืนคนเดียวยังไม่ได้เลยค่ะ  และ ภาพถ่ายที่ดิฉันบาดเจ็บ  ภาพรถเสียหาย  หนูจะต้องให้ศาลตอนไหนคะ แล้วก็เรื่องตำรวจสัญญาบัตรในสำนวนไกล่เกลี่ยระบุค่ะว่ามีแต่ดาบตำรวจเท่านั้น
 
ตอบ....ก็เก็บไว้เป็นหลักฐาน  เพื่อยืนยันได้ว่าคุณไม่ใช่ผู้ประมาท หรือ น่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย   ที่คุณไม่ต้องรับผิด    หรือเป็นการประมาทร่วม  ที่ความผิดของคุณย่อมลดลงครับ
 
7.ผู้รู้ทุกท่านช่วยให้คำแนะนำหนูหน่อยค่ะ
 
ตอบ....ก็ได้พยายามแนะนำมากพอพอควรแล้วครับ....    มีแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องนี้  ให้คุณได้พิจารณาดูครับ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1941/2544
 พนักงานอัยการจังหวัดพะเยา
      โจทก์
 
นายวิชาญ อินทรากูล กับพวก
      จำเลย
 
 
 
 
 
ป.อ. มาตรา 300
 
ป.วิ.อ. มาตรา 37, 39, 227, 243
 
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4), 157
 
 
 
          จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย และรถทั้งสองคันเสียหาย จำเลยที่ 2 ศีรษะแตกยาว 3 เซนติเมตร รวม 4 แผล กับกระดูกเข่าซ้ายแตกใช้เวลารักษาหายภายใน 1 เดือนเป็นอย่างน้อย จำเลยที่ 2 มีโอกาสหายเป็นปกติได้แต่ใช้เวลาหลายปี จำเลยที่ 2 มาเบิกความ จำเลยที่ 2 ยังไม่หายดี เดินกระเผลก แสดงว่าจำเลยที่ 2 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน กับส่วนการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่ารักษาประมาณ 1 เดือนหาย เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยที่ 2 เท่านั้น จะฟังเป็นยุติหาได้ไม่ ต้องฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนด้วย 
 
          แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 ข้อหาขับรถประมาทไปแล้ว ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หาได้ทำให้คดีของจำเลยที่ 1 เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ไม่ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ทำให้สิทธินำคดีนี้ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวมาฟ้องระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 
 
 
 
________________________________
 
 
 
 
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ 
 
          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ 
 
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง 
 
          จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ 
 
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน 
 
          จำเลยที่ ๑ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง 
 
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พะเยา ท - ๐๐๙๕ เฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก - ๓๔๗๗ พะเยา ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้ รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กาย ? 
 
          ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่นั้นโจทก์มีนายแพทย์ประพัฒน์ ชัชวรัตน์ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ ศีรษะแตกยาว ๓ เซนติเมตร รวม ๔ แผล กับกระดูกเข่าซ้ายแตกใช้เวลารักษาหายภายใน ๑ เดือนเป็นอย่างน้อยและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ มีโอกาสหายเป็นปกติได้แต่ใช้เวลาหลายปี ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็เบิกความว่า ปัจจุบันจำเลยที่ ๒ ยังไม่หายดีเดินกระเผลก แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและ จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่ารักษาประมาณ ๑ เดือนหาย ต้องฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเพียง ความเห็นเบื้องต้นของนายแพทย์ประพัฒน์ผู้ตรวจรักษาจำเลยที่ ๒ เท่านั้น จะฟังเป็นยุติได้ไม่ ต้องฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนด้วย ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน 
 
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อต่อไปมีว่าคดีของจำเลยที่ ๑ เลิกกันตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ และสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ฎีกาปัญหาข้อนี้ว่า พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๒ ข้อหาขับรถประมาท ไปแล้ว จึงถือว่าคดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ เรื่องค่าเสียหายแล้ว สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ เห็นว่า แม้จะฟังว่าพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวจริง ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ หาได้ทำให้คดีของจำเลยที่ ๑ เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ไม่ และการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ ก็มิได้ทำให้สิทธินำคดีนี้ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวมาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ แต่ประการใด 
 
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ ๖,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ . 
 
 
 
 
 
( ทองหล่อ โฉมงาม - วิรัช ลิ้มวิชัย - สุรพล เจียมจูไร ) 
 
 
 
ศาลจังหวัดพะเยา - นายอนุรัตน์ ฤกษ์วิชานันท์
 
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายธีระศักดิ์ จิระภาค
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-06-06 19:13:08 IP : 180.180.23.240


ความคิดเห็นที่ 2 (3288741)

ขอบคุณค่ะ เพิ่มเติมค่ะ ถ้าหากหนูจะแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับชรบ. 2 คน ตาม ปอ.ม.93 และดาบตำรวจ ตาม ปอ.ม.157เพราะว่า ชรบ.ไม่ใช่พนักงานตามกฎหมาย ฝ่ายดาบตำรวจก็ทำเกินหน้าที่ตนเอง หนูต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนครั้งเดียวกันเลยหรือเปล่าคะ เพราะว่าเขานัดหนูให้ไปแจ้งความในวันเสาร์ที่ 9  มิถุนายน ครั้งแรกหนูจะแจ้งความว่าพวกเขาประมาทและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่ากักตรวจไม่มีสัญญานไฟ มืด ไม่มีสัญญาบัตร บนถนน ทำให้หนูบาดเจ็บสาหัสทรัพย์สินเสียหายเรียกค่าเสียหาย 30000 บาท พนักงานสอบสวนก็รับทราบแล้วค่ะ หากอย่างไรช่วยแนะนำการแจ้งความด้วยนะคะ พิมพ์เป็นข้อความมาเลยก็ดีนะคะหนูจะได้แจ้งความตามนั้น ส่วนเรื่องทนายหนูจะโทรเบอร์ 1167 ตามที่บอกนะคะ  ขอบคุณมากๆ ค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเย็บผ้าโหล วันที่ตอบ 2012-06-07 08:55:45 IP : 182.93.182.133


ความคิดเห็นที่ 3 (3288769)

 ถ้าการตั้งด่านไม่มี ปลัดอเภอ  หรือ นายตำรวจยศร้อยตรีขึ้นไป  อยู่ด้วย   ย่อมมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัตเิหน้าที่โดยมิชอบ   ตาม ปอ.  ม.157  ส่วน  ม.93  ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีของคุณ....  ก็แจ้งด้วยความวาจา(ร้องทุกข์)ให้ตำรวจบันทึกไว้ก็ได้ครับ.....กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  

...ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

......การการสืบสวน สอบสวน...การตั้งต่าน

มาตรา ๑๘  ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
 
......การร้องทุกข์  (แจ้งความ)...
 
มาตรา ๑๒๓  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้
 
คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิดพฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้
 
 คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปี และลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น
 
  ......ประมวลกฎหมายอาญา.....
 มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-06-07 12:44:04 IP : 180.180.29.153


ความคิดเห็นที่ 4 (3288976)

ชรบ. เข้าข่ายความผิด ปอ.มาตรา 93 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานเว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

 ตำรวจเข้าข่ายความผิดปอ. มาตรา 157บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

การร้องทุกข์ก็ตามที่คุณมโนธรรมบอก แต่แนะนำให้เป็นหนังสือ ลงลายมือจะดีกว่า ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่พยานหลักฐาน  ขอให้คุณโชคดี

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้ผ่านทาง วันที่ตอบ 2012-06-08 23:02:40 IP : 182.93.182.133



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.