ReadyPlanet.com


สัญญาขายฝาก


พ่อทำสัญญาขายฝากโดยค่าใช้จ่ายพ่อจ่ายหมด  ทำไมค่าธรรมเนียมค่าภาษีแพงกว่าจดทะเบียนจำนองคะ  เคยจดทะเบียนจำนองถูกกว่ามากกว่าครึ่ง  แล้วหากครบกำหนดไม่ซึ้อฝากคืนจะถูกริบเลยใช่ไหมคะ  หรือต้องให้ศาลสั่งก่อน  กลุ้มใจค่ะพ่อไม่ค่อยรู้เรื่อง  ขอความกระจ่างนะคะ  ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ เฟิร์น :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-16 08:33:52 IP : 223.205.37.101


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3298706)

การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม   ย่อมเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของหน่ยงานนั้นๆ....การขายฝาก ถ้าไม่ไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนด  ทรัพย์ที่ขายฝากจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับซื้อฝากทันที โดยไม่ต้องฟ้องศาล  ดังนั้นต้องจดจำวันครบกำหนดไถ่ถอนให้แม่นยำ  และเตรียมเงินไถ่ถอนไว้ให้พร้อม  ถ้าจดจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงิน   ยังพอมีเวลาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้  ที่เจ้าหนี้ให้ขายฝากไว้   คงต้องการยึดที่ดินทันทีเมื่อไม่ไถ่ถอน    คุณเป็นลูก   ต้องช่วยเหลือพ่อในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวด   อย่าผิดเวลาไถ่ถอนเป็นอันขาดครับ

 

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1161/2551

 

นายประสิทธิ์ ลีอ่ำ กับพวก       โจทก์
 
 
นางประนอม ธำรงศรีสุข          จำเลย
 
ป.วิ.พ. มาตรา 264
 
          โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินและบ้านแก่จำเลยแล้วไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด ส่วน ม. ทำสัญญาขายฝากที่ดินอีกแปลงหนึ่งแก่จำเลย แล้วไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดเช่นเดียวกัน จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติให้ที่ดินของจำเลยส่วนที่โจทก์ทั้งสองปลูกบ้านตกเป็นภาระจำยอมแก่ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่บ้านของโจทก์ทั้งสอง จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอ
 
________________________________
 
          คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 เนื้อที่ 5 ไร่ 12 ตารางวา และบ้านเลขที่ 20/1, 20/5 และ 20/10 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 236, 240 และ 242) ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 และบ้านเลขที่ 20/5 แก่จำเลยมีกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี เป็นเงิน 23,400,000 บาท แล้วโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ไถ่ถอนภายในกำหนด บ้านเลขที่ 20/1 และ 20/10 ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 อยู่ และนางมะลิภรรยาของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 75892 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 ตารางวา โจทก์ที่ 2 ได้ปลูกบ้าน 2 หลัง เลขที่ 1/4 บนที่ดินดังกล่าวโดยได้รับอนุญาตจากนางมะลิ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2540 นางมะลิทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 75892 แก่จำเลย ในราคา 10,400,000 บาท มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี แล้วนางมะลิไม่ได้ไถ่ถอนภายในกำหนด บ้านเลขที่ 1/4 ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 อยู่ โจทก์ทั้งสองได้เจรจาขอชำระค่าใช้ที่ดินเฉพาะส่วนที่บ้านทั้งสี่หลังปลูกอยู่แต่จำเลยไม่ยินยอม เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง จำเลยมีหน้าที่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่บ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสองโดยโจทก์ที่ 1 ยอมชำระค่าใช้ที่ดินแก่จำเลยเดือนละ 5,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ยอมชำระค่าใช้ที่ดินแก่จำเลยเดือนละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่บ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
          จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 และนางมะลิทำสัญญาขายฝากที่ดินของโจทก์ที่ 1 และของนางมะลิแก่จำเลยแล้วไม่ได้ไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 และนางมะลิให้ออกจากที่ดินทั้งสองแปลงและคดีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 นางมะลิ และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอม แต่โจทก์ที่ 1 และนางมะลิไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุอันเนื่องมาจากข้อพิพาทในคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
          ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยจำต้องสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลย จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลย และพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสอง และยื่นคำร้องว่าตามคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองนั้นโจทก์ทั้งสองจะเป็นฝ่ายชนะคดี แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีกำลังจะรื้อถอนบ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสองในคดีที่จำเลยฟ้องให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนบ้านทั้งสี่หลังออกไปจากที่ดินของจำเลย หากมีการรื้อถอนบ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสองออกไป บ้านดังกล่าวจะกลายเป็นเศษอิฐเศษปูน ไม่สามารถที่จะนำไปปลูกสร้างบ้านใหม่ได้อีก ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณาโดยมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการรื้อถอนบ้างทั้งสี่หลังไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอเพียงให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีเหตุที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกำลังจะรื้อถอนบ้านของโจทก์ทั้งสองออกไปจากที่ดินของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสองนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองไปขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองหรือขอทุเลาการบังคับคดีในคดีดังกล่าว มิใช่มาขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ได้ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
          โจทก์ทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า มีเหตุผลเพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา หรือเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา คดีนี้โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 103403 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 20/5 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร แก่จำเลย แล้วไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนด ส่วนนางมะลิทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 75892 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร แก่จำเลย แล้วไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนดเช่นเดียวกัน ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ดินของนางมะลิดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติให้ที่ดินของจำเลยส่วนที่โจทก์ทั้งสองปลูกบ้านทั้งสี่หลักตกเป็นภาระจำยอมแก่บ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมแก่บ้านทั้งสี่หลังของโจทก์ทั้งสอง เมื่อพิเคราะห์ถึงรูปคดีแล้ว ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองไว้ชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 
( เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - บุญรอด ตันประเสริฐ - ชัชลิต ละเอียด )
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-09-16 10:15:52 IP : 101.51.165.252



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.