ReadyPlanet.com


เรื่องของหมาค่ะ


 เป็นการรบกวนหรือปล่าวคะ คือเรื่องเกิดมาหลายเดือนแล้วแต่เจ้าทุกข์ไม่ยอมจบ เมื่อหลายเดือนก่อนหมาที่ได้บ้านได้ออกไปกัดคนเมาเดินผ่านหน้าบ้าน เนื่องจากว่าสามีได้เปิดประตูเพื่อเอารถเข้าบ้าน แต่คนเมาคนนี้เดินมาตอนไหนไม่สังเกต และมาหยุดเดินตรงหน้าบ้าน เพราะสภาพเป็นคนเมาอาชีพ มายืนตรงเสาหน้าบ้านพอดี และหมาที่บ้านมี 4 ตัวก้อ ออกไปรุมกันอาการค่อนข้างสาหัสทีเดียว แต่ก้อไม่ได้นิ่งเฉย พยายามเดินเรื่องทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ คุณหมอก้อใจดีมากอนุญาติให้ใช้สิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งถ้าเป็นหมอบางคนเค้าจะให้เจ้าของหมาเป็นผู้รับผิดในส่วนค่ารักษาพยาบาล แต่ท่านก้อคงเห็นว่าเราไม่ได้เพิกเฉย  แต่ในส่วนนอกจากนั้นเราก้อต้องออกเอง คือ ระหว่างรักษาอยู่ต้องพาไหรปตรวจว่าเส้นเลือดขาดมั้ย มีอันตรายมากมั้ย ซึ่งต้องเสียวค่าใช้จ่าย เจ้าทุกข์ก้อมาบอก เราก้อตามไปจ่ายให้ที่ รพ. ไปเยี่ยมทุกครั้งที่มีโอกาส แทบทุกอาทิตย์ แต่เนื่องจากทางบ้านช่วงนั้นมีงานศพคุณย่าด้วย แต่ก้อถามคุณหมอว่าออกจาก รพ.เมื่อไหร่ให้แจ้งเพราะจะมารับกลับ แต่เหมือนเค้าจะคิดอะไรหรือป่าวอยู่ ๆ ก้อกลับเอง ทั้งที่สั่งไว้ว่าจะมารับ หลังจากนั้นก้อพาไปหาหมอตามใบสั่งแพทย์ทุกครั้ง หลังจากนั้นก้อมาพบว่าเค้ากินเหล้า ถามก้อบอกไม่ได้กิน แต่กลิ่นมันบ่งบอก และมาถึงวันที่จะพูดเรื่องเงิน ซึ่งเราก้ออยากคุยเหมือนกัน โดยเค้าให้เราเสนอ ตอนแรก บอก 3-5 พัน เค้าบอกมันน้อยเกินไป เค้าจะเอา 5 หมื่น ถ้าอย่างนั้นเค้าจะไปแจ้งความดำเนินคดี พอบอก 5 หมื่นใครจะมีไปจ่ายคะ เงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้เต็มที่ประมาณ 11,700.-บาทเอง กลุ้มใจ เพราะตอนนี้เริ่มจะมาขู่เอา 500 หรือ พันนึงซึ่งเป็นปัญหาที่ตามมาพอไม่มีเงินก้อจะมาเรียกร้องไม่รู้จะทำไงดีค่ะ อยากให้จบ รบกวนตอบด้วยค่ะ เพราะดูถ้าเค้าบอกว่าเค้าไม่อยากอยู่แบบศัตรู ซึ่งเราอยากจบแล้วอ่ะ แต่ถ้าเรียกมากเกินไปก้อจะไม่มีให้ลืมบอกค่ะ อาชีพเค้าคือกินเหล้าเมาไปวัน ๆ และเคยเห็นคนมาบอกว่าเคยมายืนล่อหมาที่บ้านทำให้หมาจำหน้าได้ เดินผ่านทีไร หมาทุกบ้านต้องเห่า และตอนนี้เค้าพกนักเลงเพื่อมาข่มขู่ และมาด่าที่บ้าน หาว่าขอเงิน 500แล้วไม่ให้ อย่างเนี้ยต้องทำงัยค่ะ กลุ้มมากไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะแฟนบวชอยู่ด้วย ไม่กล้าเอาเรื่องนี้ไปเล่า เราไปแจ้งความไว้ก่อนได้ไหมคะ 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้รู้ กม.น้อย :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-09 10:43:04 IP : 115.67.96.151


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3298300)

ถ้าเจ้าของสุนัขไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิด และวิสัยของสัตว์   เมื่อไปกัดผู้อื่น   ก็ต้องรับรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  ตามควรแก่เหตุ  เป็นความรับผิดทางแพ่ง   ก็ควรใช้การเจรจาต่อรองกัน  ถ้าเขาเรียกร้องสูงเกินควร   ก็ให้ไปฟ้องร้องเอาเอง   แม้จะแจ้งความ   คุณก็ไม่มีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด....แต่การที่เขามาข่มขู่  เป็นความผิดต่อเสรีภาพ  ตาม ปอ. ม.309  สามารถแจ้งความดำเนินคดีัได้     การที่เขามาเรียกร้องครั้งละ 500  บาท   ก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย  เอาไว้จ่ายครั้งเดียว  เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วครับ.....ประมวลกฎหมายอาญา

 

มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้ กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

.....แนวคำพิพากษาศาลฎีกา   กรณีสุนัขกัด....

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2488/2523

 

น.ส.ศรินดา ทรัพย์กาญจน์          โจทก์
 
 
นายนิพนธ์ พูนภิรมย์                   จำเลย
 
ป.พ.พ. มาตรา 433, 446, 1474
 
          สุนัขในบ้านจำเลยออกจากบ้านไปกัดโจทก์ ภริยาจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ต้องสันนิษฐานว่าสุนัขเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1474 จำเลยจึงเป็นเจ้าของสุนัขด้วย
           สุนัขหลบหนีออกไปได้ขณะจำเลยเปิดประตู สุนัขจึงออกไปกัดโจทก์ได้แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัขจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมทั้งทดแทนความตกใจและทุกข์ทรมานด้วย
 
________________________________
 
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่ารักษา ค่าพาหนะในระหว่างรักษาพยาบาล ค่าทำขวัญที่ได้รับความเจ็บปวดและตกใจ รวม 5,511 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีฟังได้ว่าสุนัขอัลเซเซียนในบ้านจำเลยออกจากบ้านไปกัดโจทก์ที่ซอยวัดราชวรินทร์เป็นอันตรายถึงบาดเจ็บ นางสุนันทร์ พูนภิรมย์ ภริยาจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของสุนัขนั้นและยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปแล้วเป็นเงิน 100 บาท ฐานปล่อยปละละเลยสุนัขจนไปกัดโจทก์ มีปัญหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของสุนัขหรือไม่ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัขหรือไม่และโจทก์เสียหายเพียงใด
          ปัญหาที่ว่า จำเลยเป็นเจ้าของสุนัขหรือไม่นั้น คดีฟังได้ว่าสุนัขนั้นเป็นสุนัขในบ้านของจำเลย และนางสุนันทร์ พูนภิรมย์ ภริยาจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของ จึงฟังได้ว่าสุนัขนั้นเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาของจำเลยกับนางสุนันทร์ พูนภิรมย์ ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามี 2 ประเภท คือสินส่วนตัวและสินสมรส คดีนี้ไม่มีหลักฐานว่าสุนัขดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของนางสุนันทร์ พูนภิรมย์ หรือสินสมรส การที่นางสุนันทร์ พูนภิรมย์ รับว่าเป็นเจ้าของสุนัข ไม่พอฟังว่าสุนัขเป็นสินส่วนตัวของนางสุนันทร์ พูนภิรมย์เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยเช่นนี้ จึงต้องสันนิษฐานว่าสุนัขเป็นสินสมรสของจำเลยและนางสุนันทร์ พูนภิรมย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 ซึ่งทั้งสองจึงมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน คดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสุนัขตัวนั้น
          ปัญหาที่ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัขหรือไม่ คดีฟังได้ว่าสุนัขออกประตูบ้านไปได้ขณะจำเลยเปิดประตูเข้าบ้าน เห็นว่าจำเลยทราบดีว่าสุนัขอยู่ในบ้าน การเปิดประตูเข้าออกจะต้องระมัดระวังป้องกันมิให้สุนัขหนีออกไปนอกบ้านได้ ซึ่งจำเลยสามารถกระทำได้ การที่สุนัขหลบหนีออกไปได้ขณะจำเลยเปิดประตูแสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น สุนัขจึงออกไปกัดโจทก์ได้ คดีฟังได้ว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัข จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
          ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า โจทก์มีหลักฐานว่า โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาล 771 บาท และเสียค่าพาหนะในระหว่างรักษาพยาบาล 740 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จำเลยไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนค่าเสียหายในการที่โจทก์ได้รับความตกใจและทุกข์ทรมานจากเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เห็นว่าคดีเชื่อได้ว่าโจทก์ได้รับความตกใจมาก ทั้งอันตรายและความทุกข์ทรมานที่ได้รับไม่ใช่เล็กน้อย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 4,000 บาทนั้นชอบแล้ว"
          พิพากษายืน
 
 
( ธาดา วัชรานันท์ - ชุบ วีระเวคิน - บรรเทอง ภู่กฤษณา )
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-09-09 14:02:09 IP : 101.51.181.2



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.