ReadyPlanet.com


สร้างบ้านลึกเข้าไปในที่ดิน


 ดิฉันขอเรียนถามปัญหาค่ะ

ดิฉันปลูกสร้างบ้านโดยก่ออิฐบล๊อกชั้นเดียวทำร้านขายอาหารอยู่บนที่ดินริมถนนสาธารณะ แต่สร้างบางส่วนเกินเข้าไปในที่ดินที่ติดกับถนนซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดแต่ปล่อยว่างๆไม่ได้ทำอะไร ประมาณ 1 ศอก มาเกือบ20ปี โดยเจ้าของเก่าก็ไม่ได้ว่าอะไร ต่อมาที่ดินที่ดิฉันปลูกลึกเข้าไป 1 ศอกนั้น ถูกธนาคารยึดขายทอดตลาด คนที่ซื้อจากขายทอดตลาดมารังวัดบอกดิฉันปลูกบ้านรุกเข้าไปที่ดินที่เขาซื้อ และบอกให้ดิฉันออกไปจากที่ ที่เขาซื้อและแจ้งความกับตำรวจ ตำรวจมาดูแล้วไม่ได้ทำอะไร ต่อมาเขาบอกว่าฟ้องศาลแล้วข้อหาดิฉันกับบริวารสร้างบ้านที่ดินบุกรุกยอมความไม่ได้ให้รอรับหมาย

ดิฉันขอถามว่า ฉันผิดข้อหาบุกรุกไหมค่ะอยู่มาตั้งเกือบ 20 ปี แล้วถ้ายอมความไม่ได้จะติดคุกไหมค่ะ ถ้าไม่ยอมรื้อบ้าน ดิฉันลองถามทนายดูเขาบอกว่าบุกรุกแต่ไม่ผิดอาญาไม่ติดคุก เขาต้องฟ้องขับไล่จริงไหมค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ รสริน :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-20 19:50:30 IP : 182.53.151.7


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3303421)

 ถือว่าเป็นการสร้างบ้านรุกล้ำที่ดินผู้อื่นโดยไม่สุจริต  ตาม ปพพ. ม.1312 วรรคสอง คุณต้องรื้อถอนออกไป และทำให้ที่ดินเป็นตามเดิม  โดยคุณเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย...ส่วนคดีออาญา คดีได้ขาดอายุความแล้ว ทนายเขาบอกไว้ก็ถูกต้องคือคุณไม่ถูกจำคุกตาม ฎีกาที่ 3002/2552 ครับ

 ...แนวคำพิพากษา....
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5521/2550
 
นายชุณห์ เลิศชัยประเสริฐ              โจทก์
 
นายสุจินต์ พฤฒิธาดา กับพวก     จำเลย
 
 
ป.พ.พ. มาตรา 420, 1312
 
          การที่จะถือว่าบุคคลหนึ่งปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูในขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไปครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต
          จำเลยทั้งสองรู้แล้วว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในขณะที่เริ่มก่อสร้างแต่เพียงบางส่วน แต่จำเลยทั้งสองยังจงใจก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่โจทก์ได้แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อีก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์
          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเฉพาะส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน เดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 เมษายน 2537) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์
          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะไปว่ากล่าวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312
          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12659 ตำบลลำไทร (คลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12658 ตำบลลำไทร (คลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ตลอดแนว เนื่องจากที่ดินของโจทก์ ที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ติดกันอีก 4 แปลง รวมเป็น 6 แปลง แบ่งแยกมาจากที่ดินเดิม คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7941 ตำบลคลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้ในข้อหาละเมิดว่า ในปี 2535 โจทก์คดีนี้ ใช้ จ้าง วาน ให้ผู้มีชื่อขุดดินของโจทก์ในคดีนี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 ขอให้ทำที่ดินของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพเดิมและให้ชดใช้ค่าเสียหายตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1224/2539 ของศาลชั้นต้น ในคดีดังกล่าวคู่ความขอให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบรังวัดที่ดินและทำแผนที่วิวาทครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.4 แต่เจ้าพนักงานที่ดินนำโฉนดที่แยกจากโฉนดที่ดินเดิมเพียง 4 โฉนดมาปูโฉนดเพื่อทำการรังวัด คู่ความจึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบรังวัดที่ดินและทำแผนที่วิวาทเป็นครั้งที่ 2 โดยนำโฉนดที่ดินทั้ง 6 โฉนด ที่แยกจากโฉนดที่ดินเดิมมาปูโฉนดเพื่อทำการรังวัดตามเอกสารหมาย จ.5 คู่ความในคดีดังกล่าวตรวจสอบแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 แล้วรับรองว่าถูกต้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ปรากฏตามแผนที่วิวาทว่าที่ดินของจำเลย (โจทก์คดีนี้) ไม่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ศาลชั้นต้นอนุญาตจำหน่ายคดีจากสารบบความ คดีถึงที่สุดแล้ว
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าบุคคลหนึ่งปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูในขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่าก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าในขณะที่ก่อสร้างไม่รู้ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นมาภายหลังจึงรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการก่อสร้างรุกล้ำโดยสุจริต สำหรับคดีนี้โจทก์มีนายนพรัตน์ มาประณีต เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อต้นปี 2536 โจทก์มาปรึกษาพยานเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินอยู่ติดกันกับที่ดินของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ พยานไปดูที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว พบว่าโรงเรือนดังกล่าวรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 295 ตารางเมตร พยานจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้รื้อถอนหรือระงับการก่อสร้างไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับแล้วตามใบตอบรับทางไปรษณีย์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทั้งจำเลยที่ 1 กลับยื่นฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ไปขุดดินในที่ดินของจำเลยที่ 1 ขอให้ทำที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิมและเรียกค่าเสียหาย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 594/2536 หมายเลขแดงที่ 1224/2539 ของศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อมีการทำแผนที่วิวาทแล้ว ปรากฏว่า อาคารของจำเลยทั้งสองรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงถอนฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2537 กับโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2533 จำเลยที่ 1 ทำการรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 โจทก์ไประวังแนวเขตและได้ตรวจดูหลักหมุดในที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่า อยู่ครบถ้วน โจทก์จึงลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตให้ซึ่งอยู่ในแนวเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาท ต่อมา 1 ถึง 2 ปี จำเลยที่ 1 ขอรังวัดที่ดินของจำเลยที่ 1 อีก และขอให้โจทก์ไประวังแนวเขต แต่โจทก์เดินทางไปต่างประเทศเมื่อกลับมาแล้วเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่สำนักงานที่ดิน โจทก์เห็นว่าหลักหมุดยังอยู่ครบถ้วนจึงลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตให้ไป จากนั้นโจทก์ขุดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ไปถมทางด้านหน้า เพื่อที่จะปลูกสร้างอาคารโดยขุดห่างจากแนวเขตที่ดินประมาณ 1 เมตร ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2536 จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ 1 และทำรั้วจากทิศตะวันตกไปทิศใต้ล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ แต่เป็นเนื้อที่เท่าใดขณะนั้นยังไม่ได้ตรวจสอบ โจทก์จึงไปแจ้งให้ผู้ก่อสร้างระงับการก่อสร้าง และโทรศัพท์แจ้งไปยังจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดลพบุรีด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิอยู่ที่จังหวัดลพบุรี แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยและทำการก่อสร้างต่อไป โจทก์จึงได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนและระงับการก่อสร้าง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและยังคงก่อสร้างต่อไป รวมทั้งโจทก์ได้ถ่ายรูปอาคารและแนวรั้วที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างเมื่อปี 2536 รวม 2 ภาพ นอกจากจำเลยทั้งสองจะไม่หยุดการก่อสร้างอาคารและแนวรั้วแล้ว จำเลยที่ 1 ยังฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ขุดดินในที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกอาคารและแนวรั้วที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ยาว 147.60 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 3.99 เมตร ตามส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองและขีดตารางด้วยสีดำในแผนที่วิวาท ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏอย่างชัดจนว่าในส่วนของตัวอาคารนั้นเพิ่งก่อสร้างได้เพียงบางส่วนและรั้วก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แสดงว่าในขณะที่โจทก์และทนายโจทก์แจ้งแก่จำเลยทั้งสองให้ระงับการก่อสร้างนั้น จำเลยทั้งสองเพิ่งก่อสร้างอาคารและแนวรั้วไปเพียงบางส่วน จำเลยทั้งสองย่อมรู้แล้วว่าถูกโจทก์โต้แย้งว่าการก่อสร้างนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่แทนที่จำเลยทั้งสองจะระงับการก่อสร้างไว้ก่อนและตรวจสอบเขตที่ดินให้แน่ชัด จำเลยที่ 1 กลับยื่นฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ขุดดินในที่ดินของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งมีการทำแผนที่วิวาท จากนั้นเมื่อได้ความแน่ชัดว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงถอนฟ้องไป ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 หลังจากจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินมาแล้ว จำเลยที่ 1 ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด เมื่อถึงเวลารังวัดโจทก์ไม่ได้มาระวังแนวเขต แต่โจทก์ก็ได้มาให้ถ้อยคำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตไว้ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเสร็จแล้วได้ลงหลักเขตไว้ ในการก่อสร้างอาคารของบริษัทมิตซูไทยธาดา จำกัด เชื่อว่าไม่ได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของใครและในการก่อสร้างอาคารนายบุญธรรม พฤฒิธาดา น้องชายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ในการก่อสร้างอาคารจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้อง เพียงแต่อนุญาตให้ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ต่อมาเมื่อนายบุญธรรมแจ้งว่า โจทก์ขุดดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1224/2539 ของศาลชั้นต้น การสร้างอาคารดังกล่าวถ้ามีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ก็เป็นความผิดพลาด และจำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจแต่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านว่า บริษัทมิตซูไทยธาดา จำกัด เริ่มก่อสร้างอาคาร เมื่อปี 2535 ไม่แน่ใจว่าจะเป็นช่วงต้นปีหรือปลายปี และสร้างเสร็จเมื่อใดไม่ทราบ นายบุญธรรมเป็นพยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า พยานไม่เคยเห็นหนังสือขอให้รื้อถอนหรือระงับการก่อสร้าง และตอบคำถามว่าการก่อสร้างอาคารจะเริ่มสร้างในช่วงต้นปี 2536 หรือปลายปี 2535 จำไม่ได้ สร้างเสร็จเมื่อใดจำไม่ได้ การเบิกความของจำเลยที่ 1 และนายบุญธรรมดังกล่าวจึงมีพิรุธเพราะเป็นไปได้ยากที่ผู้ที่ทำธุรกิจเช่นบุคคลทั้งสองจะจำไม่ได้ว่าตนเองสร้างอาคารที่จะใช้เป็นสำนักงานและโชว์รูมรถยนต์เมื่อใดและเสร็จเมื่อใดทั้งๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้ควบคุมงานก่อสร้างด้วยตนเอง นอกจากนี้ภาพถ่ายที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งต่อศาลก็ระบุวันที่ว่า “2 16 94” ซึ่งหมายถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นเวลาหลังจากที่ทนายโจทก์มีหนังสือไปถึงจำเลยที่ 1 เกือบ 1 ปี จึงมีลักษณะเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างเพื่อโน้มน้าวให้เห็นว่าการก่อสร้างนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จึงทราบว่ามีบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อที่จะอ้างว่ากระทำไปโดยสุจริต ซึ่งขัดแย้งกับภาพถ่ายของโจทก์โดยชัดแจ้ง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองรู้แล้วว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตามแผนที่วิวาท ส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองและขีดตารางด้วยสีดำในขณะที่เริ่มก่อสร้างแต่เพียงบางส่วน แต่จำเลยทั้งสองยังจงใจก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
          คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เสียหายเพียงใด เห็นว่า จำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ตามแผนที่วิวาท ส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองและขีดตารางด้วยสีดำ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 295 ตารางเมตร โดยจุดเริ่มต้นที่ติดกับถนนพหลโยธินมิได้รุกล้ำ แต่เริ่มรุกล้ำทีละน้อยลึกเข้าไปถึง 147.60 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดคือตอนปลาย 3.99 เมตร การรุกล้ำดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์ไม่สามารถนำที่ดินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้โจทก์เบิกความว่าโจทก์ประสงค์จะปลูกสร้างอาคารจึงขุดดินไปถมที่ด้านหน้าของที่ดินแต่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ว่าขุดดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่ามีการก่อสร้างอาคารและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่หยุดก่อสร้าง ต่อมาเมื่อมีการรังวัดที่ดินถึง 2 ครั้ง จึงปรากฏว่าโจทก์มิได้ขุดดินรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงยอมถอนฟ้องไปในปี 2539 ทำให้โจทก์ต้องใช้เวลาต่อสู้คดีดังกล่าวนานถึง 3 ปีเศษ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
          พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาท ส่วนที่ระบายด้วยสีเหลืองและขีดตารางด้วยสีดำออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามที่จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 เมษายน 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
 
 
( นันทชัย เพียรสนอง - วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์ - เพลินจิต ตั้งพูลสกุล )
 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3002/2552
 
 
แม้ที่ดินที่เกิดเหตุจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นที่ดินของรัฐ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) (2) ดังนั้น ผู้เข้าไปยึดถือครอบครองอาจมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 แต่ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุ ส่วนการที่จำเลยยึดถือครอบครองต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ซึ่งความผิดตามมาตรา 365 มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตามมาตรา 362 มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) และ (4) เมื่อฟังได้ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-11-21 10:13:24 IP : 101.51.167.217



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.