ReadyPlanet.com


ให้หลานเป็นพยานในพินัยกรรมจะเกิดข้อโต้แย้งไหม


เคยเข้ามาอ่านกระทู้ที่นี่ บังเอิญปัญหาคล้ายกัน แต่อยากเรียนถามเพิ่มเติมคือ

ข้อ1 การทำพินัยกรรมแบบพิมพ์ทั้งฉบับโดยมีลูก2คนของพี่สาวแท้ๆลงชื่อเป็นพยานทั้งสองชื่อ โดยหลานทั้งสองคนไม่มีส่วนได้เสียในพินัยกรรม

หากโจษจะโต้แย้งว่า"ลูกพี่สาวคือหลานแท้ๆมีส่วนได้เสียเพราะเป็นญาติชั้นใน ย่อมช่วยเหลือกัน"

กรณีเช่นนี้ข้อโต้แย้งฟังขึ้นหรือไม่ครับ

ข้อ2 ถ้าพินัยกรรมผมพิมพ์เอง ควรระบุชื่อผู้พิมพ์ด้วยใช่ไหมครับ

แต่ไม่ทราบว่าจำเป็นต้องลงลายมือชื่อกำกับในช่องนี้ด้วยหรือไม่ครับ

 

ขอขอบพระคุณครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ตู่ :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-09 04:56:31 IP : 101.109.184.28


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3302809)

 ปพพ. ม.1670  ก็ไม่ได้ห้ามญาติไม่ให้เป็นพยานในพินัยกรรม  และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยกมา   ก็ยืนยันว่า ญาติสนิท  ที่ไม่มีส่วนได้เสียในพินัยกรรม สามารถเป็นพยานได้...สิ่งสำคัญที่สุดพยานทั้งสองคนที่ลงลายมือชื่อรับรอง  ต้องลงลายมือชื่อในขณะนั้นต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรม  ถ้าลงลายมือชื่อในภายหลัง พินัยกรรมอาจเป็นโมฆะได้  ส่วนผู้พิมพ์  ก็ควรลงลายมือชื่อไว้ด้วย  และจะถือว่าเป็นพยานคนหนึ่งก็ได้  ถ้าไม่มีส่วนได้เสียในพินัยกรรม....และปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม    ก็คือการเก็บรักษาพินัยกรรมไว้  ถ้าเก็บรักษาไว้ไม่ดี  เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตลง   ทายาทที่รู้ว่าตนเสียสิทธิในการรับมรดก  เพราะ  ถูกพินัยกรรมตัดสิทธิ   อาจทำลายพินัยกรรม  ก็เป็นสิ่งที่ควรหาช่องทางป้องกันไว้ครับ....กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และ    แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง..

 

 

มาตรา 1670 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5397/2539
 
นาง ชม วิยาภรณ์                         ผู้ร้อง
 
 
นางสาว อาวรณ์ เกิดนา              ผู้คัดค้าน
 
ป.พ.พ. มาตรา 1646, 1670
 
          พินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายดังนั้นในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่พินัยกรรมยังไม่มีผลบังคับผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้อย่างเต็มที่หากผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนทำนิติกรรมสำเร็จทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ทำพินัยกรรมที่มีต่อทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นโดยผลแห่งกฎหมายอยู่แล้วไม่จำต้องกล่าวถึงพินัยกรรมไว้ในนิติกรรมที่ทำนั้นแต่อย่างใด กฎหมายไม่มีข้อห้ามมิให้ผู้รับมรดกรู้ข้อความในพินัยกรรมล่วงหน้าทั้งไม่มีข้อห้ามญาติใกล้ชิดเป็นพยานในพินัยกรรมฉะนั้นการที่ อ. ซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมได้ล่วงรู้ข้อความในพินัยกรรมและน. กับร. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมเป็นเพียงญาติใกล้ชิดกับผู้รับพินัยกรรมเท่านั้นมิได้มีส่วนได้เสียในพินัยกรรมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
________________________________
 
          คดีสืบเนื่องจากนางชมผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญ แจ่มสว่าง ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงทำการไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญผู้ตาย
          ต่อมานายอิน เกิดนา สามีไม่จดทะเบียนสมรสของนางเชิญผู้ตายยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินตามคำร้องให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องเป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียเพราะถูกตัดโดยพินัยกรรมขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งนายอินเป็นผู้จัดการมรดกแทน ระหว่างพิจารณานายอินถึงแก่ความตายนางสาวอาวรณ์ เกิดนา น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายอินยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความของนายอิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความเพราะสิทธิจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจรับมรดกความกันได้
          ต่อมานางสาวอาวรณ์ เกิดนา ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนเนื่องจากนางเชิญเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่นายอินและก่อนนายอินถึงแก่ความตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทรัพย์มรดกรายนี้แก่ผู้คัดค้าน
          ผู้ร้องคัดค้านว่า พินัยกรรมของนางเชิญไม่สมบูรณ์ส่วนพินัยกรรมของนายอินเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ของนายอิน ขอให้ยกคำคัดค้าน
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำคัดค้าน
          ผู้คัดค้านอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ถอนนางชม วิยาภรณ์ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญ แจ่มสว่างแล้วให้นางสาวอาภรณ์ เกิดนา ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก(ตามพินัยกรรม) ของนางเชิญ แจ่มสว่าง ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
          ผู้ร้อง ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นางเชิญ แจ่มสว่าง มีทรัพย์สินคือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1125 ตำบลปลายคลองกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ นางเชิญทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนแก่นางพเยาว์ แจ่มสว่างและนางชุติมา เมธาจิตติพันธ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2534เป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ แต่ก่อนทำการซื้อขายกันเสร็จสิ้นนางเชิญถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 ต่อมาผู้ร้องซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับนางเชิญ เจ้ามรดกได้ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญโดยอ้างว่านางเชิญมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่ผู้ใด และนางเชิญไม่มีทายาทอื่น ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนางเชิญ ต่อมานายอินเกิดนา สามีไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนางเชิญยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งนายอินเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญแทนเพราะนางเชิญทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3 ยกทรัพย์มรดกแก่นายอินระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนายอินถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมานางสาวอาวรณ์ เกิดนายื่นคำคัดค้านว่านายอินทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่นางสาวอาวรณ์ตามเอกสารหมาย ร.ค.6 ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญและตั้งนางสาวอาวรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญแทน และคู่ความแถลงรับกันว่าผู้ร้องและนางสาวอาวรณ์ผู้คัดค้านต่างก็มิได้เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือคนล้มละลาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งตั้งนางสาวอาวรณ์ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญ แจ่มสว่างชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกอ้างว่านางเชิญไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกแก่นายอิน เพราะหลังจากทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3 แล้ว นางเชิญให้นายทองหล่ออยู่บำรุง ทำสัญญาจะขายที่ดินตามพินัยกรรมบางส่วนแก่ผู้มีชื่อโดยนายอินลงชื่อเป็นพยานและในฐานะสามีผู้ให้ความยินยอมโดยมิได้กล่าวถึงพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.3 ว่าถ้าผู้ทำพินัยกรรมตายก่อนทำสัญญาซื้อขายสำเร็จจะจัดการอย่างไรต่อไปเห็นว่า พินัยกรรมมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย ดังนั้น ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ พินัยกรรมยังไม่มีผลบังคับ ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้อย่างเต็มที่ หากผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนทำนิติกรรมสำเร็จ ทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ทำพินัยกรรมที่มีต่อทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นโดยผลแห่งกฎหมายอยู่แล้วไม่จำต้องกล่าวถึงพินัยกรรมไว้ในสัญญาจะซื้อขายแต่อย่างใด และนายสุทิน วิยาภรณ์ นายเสวก แจ่มสว่างและพันตรีบุญเพิ่ม แจ่มสว่าง พยานผู้ร้องเบิกความต้องกันว่าถ้านางเชิญต้องการทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ จะต้องให้นายทองหล่ออยู่บำรุง เป็นผู้ทำให้ และนายสุทินเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านว่านายทองหล่อเคยเล่าให้นายสุทินฟังว่านายทองหล่อเป็นผู้เขียนพินัยกรรมของนางเชิญที่ยกทรัพย์มรดกแก่นายอินตามเอกสารหมาย ร.ค.4 เมื่อฟังประกอบกับการที่นายทองหล่อพยานผู้คัดค้านเบิกความว่านายทองหล่อเป็นผู้เขียนข้อความในเอกสารหมาย ร.ค.4 ลงชื่อในฐานะผู้เขียนและพยาน ขณะนางเชิญลงชื่อในเอกสารหมาย ร.ค.4 นายไพบูลย์ ศรีสวัสดิ์ อยู่ต่อหน้านางเชิญ ก่อนที่นายทองหล่อจะให้นางเชิญลงชื่อได้อ่านข้อความในเอกสารหมาย ร.ค.4 ให้นางเชิญฟังแล้วซึ่งนายไพบูลย์ผู้ลงนามเป็นพยานในเอกสารหมาย ร.ค.4 เบิกความยืนยันว่าก่อนนายไพบูลย์จะลงนามในเอกสารหมาย ร.ค.4 ได้มีการอ่านข้อความในเอกสารหมายร.ค.4 ให้นายไพบูลย์ฟัง และนายไพบูลย์สอบถามนางเชิญว่าถูกต้องตามความประสงค์หรือไม่ นางเชิญว่าถูกต้อง ดังนั้นเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2534 นางเชิญมีเจตนาทำเอกสารหมาย ร.ค.4 ไว้เป็นหลักฐาน และข้อความในเอกสารหมาย ร.ค.4 ที่ว่า "เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่มรณกรรมลงให้นายอิน เกิดนาเป็นผู้จัดการรับมรดกแต่ผู้เดียว" มีความหมายว่านางเชิญเจตนาทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1125 ตำบลปลายคลองกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครเฉพาะส่วนของนางเชิญให้เป็นมรดกตกแก่นายอินโดยให้นายอินไปดำเนินการรับมรดกแต่ผู้เดียว มิได้แปลว่าให้นายอินเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญดังผู้ร้องอ้าง ดังนั้น การที่นางเชิญทำพินัยกรรมยกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1125 ตำบลปลายคลองกระทุ่มแบนอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เฉพาะส่วนของนางเชิญแก่นายอินอีกครั้ง ตามเอกสารหมาย ร.ค.3 หลังจากทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.4 แล้ว 2 เดือนจึงเป็นการยืนยันตามเจตนาเดิมส่วนปัญหาว่าเหตุใดนางเชิญจึงต้องทำพินัยกรรมถึง 2 ฉบับก็ได้ความจากนายนรา สุขเนาว์ พยานผู้คัดค้านว่าก่อนหน้าที่จะทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3 นางเชิญเคยทำพินัยกรรมไว้1 ฉบับยกทรัพย์สินทั้งหมดแก่นายอินแต่หาพินัยกรรมดังกล่าวไม่พบไม่ทราบว่าเก็บไว้ที่ใดจึงต้องทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3ขึ้น พินัยกรรมที่หายไปตามเอกสารหมาย ร.ค.4 นายอินนำมามอบแก่นายนราหลังจากนางเชิญตายแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่สมควรการกระทำของนางเชิญที่ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.3 จึงไม่มีพิรุธให้เห็นว่าเป็นกรณีที่นางเชิญไม่มีเจตนาทำพินัยกรรมดังผู้ร้องอ้าง
          ที่ผู้ร้องฎีกาข้อต่อมาว่า นางสาวนงลักษณ์ แจ่มแจ้งและนายนราเบิกความว่า นางเชิญลงลายมือชื่อในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3 ต่อหน้าพยานทั้งสามคนไม่น่าเชื่อถือเพราะพันตรีบุญเพิ่มเบิกความว่าขณะพันตรีบุญเพิ่มลงลายมือชื่อในพินัยกรรมมีนายอินและพันตรีบุญเพิ่มอยู่ด้วยกันเพียงสองคนเท่านั้น เห็นว่า แม้พันตรีบุญเพิ่มจะอ้างว่าขณะที่พันตรีบุญเพิ่มลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนางสาวนงลักษณ์และนายนราไม่ได้อยู่ด้วย แต่ข้อที่ว่านางเชิญลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้านางสาวนงลักษณ์และนายนราหรือไม่ และนางสาวนงลักษณ์และนายนราลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของนางเชิญในขณะนั้นหรือไม่ พันตรีบุญเพิ่มรวมตลอดถึงพยานผู้ร้องคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้เบิกความถึง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานผู้ร้อง น่าเชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมตามเอกสารหมายร.ค.3 นางเชิญผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันคือนางสาวนงลักษณ์และนายนรา และพยานทั้งสองคนดังกล่าวลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของนางเชิญผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นผลให้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.ค.3 มีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย และเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมายร.ค.4 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับก่อนไปในตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 ที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่านายอินเป็นผู้ล่วงรู้ข้อความในพินัยกรรมก่อนเป็นการไม่ชอบ นายนราผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีโดยเป็นหลานผู้คัดค้านทั้งพักอยู่บ้านเรือนเดียวกัน และเป็นทนายให้ผู้คัดค้านส่วนนางสาวนงลักษณ์พยานในพินัยกรรมไม่มีลักษณะของความเป็นกลางเพราะเคยอาศัยอยู่กับน้องสาวของนายอินและเป็นญาติของผู้คัดค้านเห็นว่า กฎหมายไม่มีข้อห้ามมิให้ผู้รับมรดกรู้ข้อความในพินัยกรรมล่วงหน้า ทั้งไม่มีข้อห้ามญาติใกล้ชิดเป็นพยานในพินัยกรรม ดังนั้นการที่นายอินเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางเชิญและนางสาวนงลักษณ์เป็นพยานในพินัยกรรมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายส่วนนายนรามีลักษณะเป็นเพียงญาติใกล้ชิดกับผู้รับพินัยกรรมเท่านั้น มิได้มีส่วนได้เสียในพินัยกรรมดังผู้ร้องอ้าง กรณีผู้ร้องอ้างเอกสารหมาย ร.1 ที่มีข้อความว่านายอินแสดงเจตนาไว้ว่าเมื่อรับมรดกของนางเชิญแล้วจะแบ่งให้ผู้มีชื่อและผู้ร้องบางส่วนที่เหลือจะตั้งเป็นมูลนิธินั้น ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าเอกสารหมาย ร.1 ดังกล่าวเป็นเอกสารที่นายอินทำขึ้นจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
          ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางเชิญผู้ตาย ผู้คัดค้านจะมาจัดการทรัพย์มรดกของนางเชิญไม่ได้นั้น เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วว่าพินัยกรรมที่นางเชิญเจ้ามรดกทำไว้ตามเอกสารหมาย ร.ค.3 มีผลบังคับได้ตามกฎหมายทำให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวตกได้แก่นายอิน และศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไว้แล้วว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยพินัยกรรมคนหนึ่งของนางอิน ตามพินัยกรรมเอกสารหมายร.ค.6 ซึ่งผู้ร้องมิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยพินัยกรรมคนหนึ่งของนายอิน จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายอินด้วย และกองมรดกของนางเชิญที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนี้ก็ตกเป็นกองมรดกของนายอินแล้วตามที่ได้วินิจฉัยมา จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางเชิญตามพินัยกรรมดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ส่วนผู้ร้องมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางเชิญเนื่องจากถูกตัดโดยพินัยกรรมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญผู้ตาย และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
          พิพากษายืน
 
 
( ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - ทวีชัย เจริญบัณฑิต - ดุสิต เพชรปลูก )

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-11-09 09:17:41 IP : 101.51.164.113


ความคิดเห็นที่ 2 (3302858)

รับทราบและขอกราบขอบพระคุณมากๆครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น จขกท. วันที่ตอบ 2012-11-10 06:29:36 IP : 101.109.179.3



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.