ReadyPlanet.com


ใช้ขวานไล่ฟันผู้อื่นได้รับบาดเจ็บมีความผิดสถานใด


      คือมีญาติอยู่คนหนึ่งเมาสุรามีปากเสียงกับคนในหมู่บ้านเดียวกันแล้วกลับบ้านไปเอาขวานมาไล่ฟันจนได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ากเพราะถูกเพียงเฉี่ยว ๆ แขนบวม  อย่านี้จะมีความผืดสถานใดบ้างและต้องรับผิดยังไงค่ะ 



ผู้ตั้งกระทู้ ปาลี :: วันที่ลงประกาศ 2013-01-23 13:08:40 IP : 27.55.138.239


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3306634)

   ก็คงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามปอ. ม.295(จำคุกไม่เกินสองปี)  แต่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงอื่นๆประกอบ ด้วย  ถ้าไล่ฟันผู้คนด้วยอาการเกรี้ยวกราดดุดัน  อาจมีความผิดฐานพยายามฆ่าได้   ตาม  ปอ. ม.288 ประกอบ ม.80 (มีโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต   จำคุก 15-20ปี   ถ้าพยายามทำความผิดจะรับโทษเพียง สองในสาม) เพราะขวานโดยสภาพแล้ว  สามารถใช้ฆ่าผู้อื่นได้   ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไปครับ    แต่...บางทีตำรวจอาจให้ใช้การเจรจากัน เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย   เมื่อตกลงกันได้  ก็จบ  คือปิดคดีไปอย่างเงียบๆ   แม้จะเป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความไม่ได้  แต่กฎหมายก็มีช่องว่าง  ให้สามารถทำได้เสมอ   แต่....ถ้าผู้เสียหายมีเดิมพันค่อนข้างสูง  ตำรวจอาจไม่กล้าเสี่ยงปิดคดีง่ายๆ  คงส่งเรื่องให้อัยการ  เพื่อฟ้องศาลต่อไป    ถ้าเป็นเช่นนั้น  ก็คงเป็นเรื่องยาวแน่นอน   ดังนั้นผู้ต้องหาและญาติๆ   ก็พยายามพูดให้น้อยๆหน่อย  อย่าไปเที่ยวแสดงอิทธิปาฏิหาริย์  แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม    ถ้าผู้เสียหายและญาติของเขา  เกิดหมั่นไส้   เรื่องก็อาจจบลงลำบาก   ด้วยความปรารถนาดี ครับ.....แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง...

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2021/2554

 

พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ                   โจทก์

 

นายเฉลิมพลหรือเต่า สิ่วไทสง                จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 59, 80, 288

 

          จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทน จำเลยย่อมต้องเล็งเห็นแล้วว่าหากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย

 

________________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 100 บาท

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย 100 บาท แล้ว เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์และจำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2546 เวลา 21 นาฬิกาเศษ มีคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันนายสยาม ผู้เสียหาย ที่บริเวณไหล่ขวาได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ตามผลการชันสูตรบาดแผล เอกสารหมาย จ. 8 เหตุเกิดที่ถนนสาธารณะบริเวณหน้าร้านค้าในหมู่ที่ 3 ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ผู้เสียหายและจำเลยอยู่ตำบลเดียวกันแต่คนละหมู่ หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจขอออกหมายจับจำเลย และจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ ตามหมายจับ บันทึกการจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 1, จ. 2 และ จ. 10 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายนั่งรับประทานขนมอยู่ บริเวณหน้าร้านค้ากับนายวินัย มีชายวัยรุ่น 2 คน ขับรถจักรยานยนต์มา 1 คัน คนขับไม่ทราบชื่อ คนซ้อนท้ายชื่อนายมง ไม่ทราบชื่อจริง อายุมากกว่าผู้เสียหายหลายปี นายมงเข้ามาหาเรื่องโต้เถียงกับนายวินัย ไม่นานก็ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกไป หลังจากนั้นสักครู่ มีชายวัยรุ่นประมาณ 7 คน ถึง 8 คน ขับรถจักรยานยนต์มาจอดไว้หน้าร้านวัสดุก่อสร้าง ห่างจากที่ผู้เสียหายนั่งประมาณ 100 เมตร แล้วเดินตรงมาหาผู้เสียหายและนายวินัย มีจำเลยซึ่งผู้เสียหายรู้จักมาก่อนแต่ไม่สนิทรวมอยู่ด้วย จำเลยถือมีดสปาต้าปลายตัดยาวประมาณ 1 ช่วงแขน จำเลยเข้ามาถามว่า หยามอยู่ที่ไหน โดยหันหน้าไปทางวินัย เพื่อนของจำเลยคนอื่นเดินอยู่รอบไม่ได้ถืออาวุธอะไร นายวินัยพูดกับจำเลย 1 ประโยค แต่ผู้เสียหายไม่ได้ยิน หลังจากนั้นจำเลยวิ่งเข้ามาหาผู้เสียหาย ยกมีดขึ้นจะฟัน ผู้เสียหายจึงหันหลังวิ่งหนีขณะนั้นนายวินัยหนีออกไปก่อนแล้ว ผู้เสียหายวิ่งไปได้เพียงก้าวเดียวก็ถูกฟันที่ไหล่ขวาผู้เสียหายหันกลับไปดูเห็นจำเลยเงื้อมีดจะฟันอีก จึงวิ่งไปทางบ้านนายบุญชูซึ่งไปทางเดียวกันกับบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายวิ่งไปหมดสติที่บ้านนายบุญชู ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะจากบ้านเรือนชาวบ้านและร้านค้า สามารถมองเห็นหน้ากันได้อย่างชัดเจน ผู้เสียหายมารู้สึกตัวที่โรงพยาบาลจัตุรัส โดยบิดาของผู้เสียหายเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล แพทย์แจ้งว่าไม่สามารถเย็บแผลได้เนื่องจากแผลลึก จึงส่งผู้เสียหายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลชัยภูมิ แพทย์เย็บแผล 2 ชั้น ด้านนอกเย็บ 11 เข็ม หลังจากเย็บแผลแล้วให้ผู้เสียหายกลับบ้าน ผู้เสียหายรักษาประมาณ 1 เดือนเศษ แผลจึงหาย แต่ผู้เสียหายไม่สามารถยกแขนหรือใช้แขนได้ตามปกติต้องใช้เวลา 1 ปีเศษ จึงใช้ได้ตามปกติ หลังเกิดเหตุ 1 ถึง 2 วัน เจ้าพนักงานตำรวจมาสอบปากคำผู้เสียหายที่บ้าน ผู้เสียหายแจ้งว่าผู้ที่ฟันผู้เสียหายคือจำเลย ผู้เสียหายไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงฟันผู้เสียหาย แต่คุ้มบ้านของผู้เสียหายเรียกว่าคุ้มในบ้าน ไม่ค่อยถูกกับคุ้มบ้านของจำเลยที่เรียกว่าคุ้มหลับสิบ แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ภาพร่างอาวุธมีดที่จำเลยใช้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 6 และ จ. 7 และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยกับพวกไม่มีผู้ใดสวมหมวก ผู้เสียหายเล่าให้บิดามารดาฟังว่าใครเป็นคนทำร้ายผู้เสียหายในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้โจทก์มีนายวินัยเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันกับผู้เสียหาย แต่นายวินัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า กลุ่มคนที่เดินมานั้นบางคนสวมหมวก ส่วนจำเลยสวมหมวกไหมพรมพับครึ่งคลุมเฉพาะศีรษะสามารถมองเห็นหน้าได้ชัดเจน นายสมาน เบิกความเป็นพยานว่าคืนเกิดเหตุ เวลา 20 ถึง 21 นาฬิกา ขณะที่พยานกำลังหาคนงานเพื่อไปดายหญ้าบริเวณตรงข้ามร้านค้าของนางคำพันธ์ โดยพยานอยู่ที่บ้านนายสิงห์ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ได้ยินเสียงคนตะโกนว่า ฆ่ามัน ๆ มาจากบริเวณที่เกิดเหตุ มองไปเห็นผู้เสียหายซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับบ้านพยานกำลังวิ่งมา โดยมีกลุ่มคนประมาณ 20 คนวิ่งไล่ตาม มีคนถือมีดคนเดียว นอกนั้นบางคนถือไม้ ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 5 เมตร เมื่อผู้เสียหายวิ่งมาใกล้ถึงพยาน พยานจึงถามกลุ่มคนที่ไล่ตามมาว่า ทำอะไรกัน พยานได้ยินกลุ่มคนดังกล่าวพูดว่า สลายตัว แล้วแยกย้ายกันหลบหนี เมื่อพยานพบว่าผู้เสียหายถูกฟันที่บริเวณไหล่ขวา จึงรีบหารถนำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาล มีนายสาคร บิดาผู้เสียหาย และนายวินัย เพื่อนผู้เสียหายไปด้วยที่เกิดเหตุมีไฟฟ้าสาธารณะสามารถมองเห็นได้ แต่พยานไม่ได้สังเกตใบหน้าของผู้ที่วิ่งไล่ตามผู้เสียหาย และพันตำรวจโทสุชาติ เชิงชั้น พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2546 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา มีนายสาคร บิดาผู้เสียหายมาแจ้งความต่อพยานว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2546 เวลา 21.30 นาฬิกา เพื่อนผู้เสียหายมาบอกนายสาครว่าผู้เสียหายถูกฟัน ต่อมาผู้เสียหายบอกนายสาครว่าคนฟันคือจำเลย พยานออกไปตรวจที่เกิดเหตุทำบันทึกและถ่ายรูปไว้ ตามบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสารหมาย จ. 4 และภาพถ่ายหมาย จ. 5 พยานทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ. 6 พยานให้ผู้เสียหายวาดรูปอาวุธมีดที่ใช้ฟันตามภาพร่างเอกสารหมาย จ. 7 พยานสอบปากคำนายภิญโญ แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ. 8 สาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายเป็นเรื่องโกรธเคืองกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 10 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองอย่างใดกับจำเลยเป็นส่วนตัวมาก่อน คงไม่กลั่นแกล้งกล่าวหาหรือเบิกความปรักปรำจำเลย แม้เหตุเกิดในเวลากลางคืน แต่ภาพถ่ายหมาย จ. 5 และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ. 6 แสดงให้เห็นว่าในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะที่เสาไฟฟ้าและบ้านเรือนชาวบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายและนายวินัยรู้จักกับจำเลยมาก่อนเนื่องจากอยู่ตำบลเดียวกัน จำเลยเข้ามาฟันผู้เสียหายจึงอยู่ใกล้กับผู้เสียหายและใกล้กับนายวินัย เชื่อว่าบุคคลทั้งสองเห็นจำเลยและจดจำได้ ทั้งผู้เสียหายและนายวินัยสามารถแจ้งให้บิดามารดาของผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนทราบว่าจำเลยเป็นคนฟันผู้เสียหาย เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับและจับจำเลยได้ในเวลาต่อมา การที่นายวินัยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจำเลยสวมหมวกไหมพรม แตกต่างจากผู้เสียหายที่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่มีผู้ใดสวมหมวกนั้น เห็นว่านายวินัยมีพฤติการณ์ขัดหมายเรียกไม่ยอมมาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับ ต่อมานายวินัยถูกจับตามหมายจับและต้องทำสัญญาประกัน จึงส่อว่านายวินัยอาจเบิกความแตกต่างในจุดนี้เพื่อช่วยเหลือจำเลยก็ได้ จึงไม่ควรรับฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย นอกจากนี้จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปนั่งเล่นกับเพื่อนที่ร้านค้าในบ้านหนองบัวบานตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาเศษ จนถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา มีเจ้าพนักงานตำรวจมาตามจับกุมจำเลยกับพวกโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเลยกับพวกจึงพากันวิ่งหนี จำเลยวิ่งหนีเข้าบ้านแล้วไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2547 จำเลยกลับบ้าน และถูกจับในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ขณะเดินทางไปช่วยงานบวชที่บ้านหนองม่วง ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 10 แต่จำเลยกลับนำสืบว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปนั่งเล่นกับเพื่อนที่สนามบาสเกตบอลตั้งแต่เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา จึงเข้าบ้าน และไม่ได้ออกไปไหนอีก แตกต่างกันเป็นพิรุธ และจากบันทึกคำให้การของจำเลยดังกล่าวยังแสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีด้วย พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันผู้เสียหาย สาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายน่าจะเกิดจากเรื่องโกรธเคืองไม่ถูกกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยใช้มีดขนาดยาวประมาณ 1 ช่วงแขน ฟันผู้เสียหายที่ไหล่ขวาขณะหันหลังวิ่งหนี และฟันอย่างแรงจนเกิดบาดแผลยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะการฟันลงเช่นนี้ส่อว่าจำเลยเลือกจะฟันศีรษะแต่พลาดไปโดนไหล่ขวาแทนหลังจากฟันครั้งแรกแล้ว จำเลยกับพวกยังไล่ตามฟันผู้เสียหายโดยมีผู้ร้องว่า ฆ่ามัน ๆ แต่นายสมานออกมาพบและตะโกนถามว่าทำอะไรเสียก่อน จำเลยกับพวกกลัวว่าจะมีผู้พบเห็น จึงร้องบอกกันให้สลายตัว แล้วแยกย้ายกันหลบหนีไป แม้นายภิญโญจะให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า บาดแผลของผู้เสียหายโอกาสที่จะถึงแก่ความตายค่อนข้างน้อย ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ. 8 ก็ตาม จำเลยย่อมจะต้องเล็งเห็นแล้วว่า หากฟันถูกศีรษะหรือลำคอที่เป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

 

 

( ทวีป ตันสวัสดิ์ - ศิริชัย วัฒนโยธิน - อภิรัตน์ ลัดพลี )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-01-23 18:13:34 IP : 101.51.189.139



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.