ReadyPlanet.com


น้องเขยถูกตีด้วยของแข็งจากด้านหลัง และตีซ้ำที่หัวอีก2ครั้ง ต้องฝ่าตัดดูดเลือดคั่งออก


เหตุมีอยู่ว่าน้องเขยไปกู้เงินจากนายทุน 100ละ 20 จ่ายเกือบหมดแล้วเหลือแค่ 300 เกิดมาการทะเลาะมีปากมีเสียงกันกับเจ้าหนี้  แต่ผ่านมา เกือบ 2เดือนแล้ว ก็คิดว่าจบแล้ว

แต่เมื่อ 3 วันก่อนน้องเขยยืนซื้อหมูปิ้งให้ลูก ถูกเจ้าหนี้คนนี้ เอาเหล็กแป๊ป ตีเข้าที่ท้ายทอย 1ครั้งล้มลงฟุพ และตีซ้ำที่หน้าเหนือคิ้วอีก 2ครั้งเป็นแผลฉกรรณ์ เลือกคั่งในสมอง รพ.ในตัวอำเภอไม่รับ ต้องส่งไปในตัวจังหวัด นครราชสีมา เพื่อผ่าตัดดูดเลือดที่คั่งออก     ตีกลางตลาดสดตอนเช้า มีคนเห็นทั้งตลาด พร้อมจะเป็นพยานให้

อยากทราบว่าเราจะเอาผิดผู้กระทำผิด ข้อหาอะไรใด้บ้าง

ตอนนี้เดินเรื่องแจ้งความแล้ว แต่ร้อยเวรทำคดีไมมีความคืบหน้าเลย คนกระทำผิดยังลอยนวล  ร้อยเวรแจ้งข้อกล่าวหาแค่ทำร้ายร่างกาย และมีแค่หมายเรียกผู้กระทำความผิดมาคุย ไม่ใด้จับมาดำเนินคดีแต่อย่างใด   แถมเรียกมาสอบสวน ร้อยเวรบอกเค้าขอผลัดทำใจ 2 วันถึงจะมา งง  มากมาย ว่าทำใมมันเป็นเช่นนี้    เราควรทำใงต่อไปดีครับ



ผู้ตั้งกระทู้ คนจน :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-06 17:35:00 IP : 101.51.77.148


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3291941)

ถ้าบาดเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน  หรือประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ยี่สิบวัน  ถือว่าเป็นการถูกทำร้าร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส  มีโทษจำคุก  หกเดือนถึงสิบปี   ตาม ปอ. ม.297  ถ้าข้อเท็จจริงมีกรณีดังกล่าว  ตำรวจต้องตั้งข้อหา  ทำร้ายร่างกาย  จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส..แต่...ตามความเห็น  การตีด้วยเหล็กแป๊ป  ถึงสองครั้งน่าจะ มีความผิดฐานพยายามฆ่า  มากกว่า     ขอแนะนำให้หาทนายความมือดี  ช่วยเหลือในการติดตามคดีให้  เพราะตำรวจบางคนมักชอบดองเรื่อง   หรือดึงเกมไว้   เมื่อเรื่องเย็นลงหรือคนค่อยลืม  ก็อาจให้เจรจาชดใช้ค่าเสียหายกัน  และปิดคดีไปหน้าตาเฉย....ทั้งทีควรมีการออกหมายจับ   ควบคุมตัว  ให้ประกันตัวมาสู้คดี  ตามขั้นตอน  แต่กลับเพิกเฉย........ถ้าร้อยเวรเจ้าของคดีมีเจตนาไม่ปฏิบัติหน้าที่   ก็ย่อมมีความผิด  ตาม  ปอ. ม.157......แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียงเกี่ยวการพยายามฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  265/2554
พนักงานอัยการจังหวัดพังงา
     โจทก์
นายวีรยุทธ ชื่นพระแสง กับพวก
     จำเลย
 
ป.อ. มาตรา 80, 83, 288
 
          ผู้เสียหายถูกไม้เบสบอลตีจนหมดสติไปทันทีในที่เกิดเหตุและต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 2 เดือน โดยอาการไม่ดีขั้น ต้องให้อาหารเหลวทางจมูกและพูดจาไม่ได้ ขณะที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นระยะเวลาหลังเกิดเหตุ 1 ปีเศษ ผู้เสียหายต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถยืนได้ พูดแต่ละคำด้วยความยากลำบาก แสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยที่ 2 ใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร ตีที่ศีรษะผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอย่างแรง แม้ตีเพียงครั้งเดียวก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มุ่งหมายจะให้เสียผู้เสียถึงแก่ความตาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 289
          จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำเลยที่ 2 กระทำความผิดขณะอายุยังไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 คงจำคุก 6 ปี 6 เดือน (ที่ถูก ต้องระบุข้อหาอื่นให้ยก) สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
          จำเลยที่ 2 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 เวลา 19.40 นาฬิกา มีคนร้ายใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร เป็นอาวุธตีนายเชิดชัย ผู้เสียหาย ที่บริเวณท้ายทอย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ. 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานพยายามฆ่าหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายพีระ และนายอดุลเดช เบิกความเป็นพยานว่า วันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้เสียหาย นายพีระ และนายอดุลเดชไปคุยกับนายสมศักดิ์ ที่หอพักของนายสมศักดิ์ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเทศบาลบำรุง 3 หลังจากนั้นนายอดุลเดชขับรถจักรยานยนต์ออกจากหอพักโดยมีผู้เสียหายนั่งตรงกลางและนายพีระนั่งซ้อนท้ายสุด นายอดุลเดชขับรถในซอยที่เกิดเหตุได้ระยะหนึ่งจนถึงปากซอย โดยมองไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 หรือนายจุกเรียกให้หยุดรถ แต่ผู้เสียหายบอกให้นายอดุลเดชขับรถย้อนกลับไปเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยืนเรียกอยู่ข้างทาง เมื่อนายอดุลเดชขับรถไปจอดที่จุดเกิดเหตุ เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีก 4 ถึง 5 คน ยืนรวมกลุ่มกันอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อรถจักรยานยนต์ที่นายอดุลเดชจอดอยู่แต่ยังไม่ได้ดับเครื่องยนต์ พวกของจำเลยที่ 1 คนหนึ่งถือไม้เบสบอลเข้ามาทำท่าจะตีนายพีระ นายพีระกระโดดลงจากรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ไม้เบสบอลจึงฟาดไปถูกท้ายทอยผู้เสียหาย ผู้เสียหายหมดสติตกจากรถ และทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลงบนพื้นถนน นายพีระและนายอดุลเดชวิ่งหนีไปหานายสมศักดิ์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบแล้วพากันกลับมายังที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกหลบหนีไปแล้ว ส่วนผู้เสียหายมีพลเมืองดีช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาล เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยขณะเกิดเหตุ แม้พยานโจทก์ทั้งสามปากจะไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ไม้เบสบอลตีผู้เสียหาย แต่เมื่อพิเคราะห์คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 16 จำเลยที่ 1 ให้การว่า คืนเกิดเหตุเวลา 19.20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถออกจากที่พักพบจำเลยที่ 2 นายศศิพงษ์ หรือนายเจมกับพวกอีก 2 คน จอดรถจักรยานยนต์รออยู่ที่ปากซอย สอบถามแล้วได้ความว่ารอผู้เสียหายเพื่อชำระรอยแค้นที่เคยมีเรื่องกันมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที นายโล้นขับรถจักรยานยนต์มีผู้เสียหายนั่งตรงกลาง นายสมศักดิ์ นั่งท้ายสุดขับออกมาจากในซอยมุ่งหน้ามาทางปากซอยที่จำเลยที่ 1 กับพวกจอดรถคอยอยู่ จำเลยที่ 1 โบกมือเรียกให้หยุด เมื่อนายโล้นจอดรถ จำเลยที่ 2 ใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร ฟาดลงบนศีรษะผู้เสียหาย ผู้เสียหายเอี้ยวศีรษะหลบไปถูกบริเวณท้ายทอยและพลัดตกจากรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 และพวกจึงพากันหลบหนีไป ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนของนายศศิพงษ์ ซึ่งอยู่ด้วยในที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. 22 แม้คำให้การของจำเลยที่ 1 และนายศศิพงษ์จะเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหา แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟัง นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนางสาวอ๋อย โคตรวงทอง ภรรยาจำเลยที่ 2 ซึ่งทำงานเป็นพนักงานเสริฟอยู่ที่ร้านจันทร์ผาเบิกความเป็นพยานว่า วันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุขณะพยานอยู่ที่ร้านอาหารจันทร์ผากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชายวัยรุ่น 3 คน ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าร้านมีเสียงชายวัยรุ่นพูดแซวพยานว่าอุ้ยจ๋า ทำให้จำเลยที่ 2 โมโห จากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากร้านไป ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กลับมาที่ร้านและบอกว่ามีเรื่องกับผู้อื่นแล้วชักชวนพยานหลบหนีไปอยู่จังหวัดภูเก็ตได้ประมาณ 1 เดือน ต่อมาจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ประกอบกับในชั้นมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่าร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกมอบตัวและแจ้งข้อหาเอกสารหมาย จ. 17 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็นำสืบเจือสมรับว่า จำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยขณะเกิดเหตุ ส่วนที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปเอาไม้เบสบอลมายังที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เข้าไปปัสสาวะที่หลังกอไผ่ เมื่อกลับออกมาก็พบว่าผู้เสียหายหมดสติ โดยมีจำเลยที่ 1 ยืนถือไม้เบสบอลอยู่ ไม่ทราบว่าใครใช้ไม้เบสบอลตีผู้เสียหายนั้น คงมีตัวจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ไม้เบสบอลตีผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้เสียหายถูกตีเพียงครั้งเดียว แสดงว่าผู้กระทำไม่มีเจตนาฆ่านั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ผู้เสียหายถูกไม้เบสบอลตีจนหมดสติไปทันทีในที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นผู้เสียหายต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 2 เดือน โดยอาการไม่ดีขึ้น ต้องให้อาหารเหลวทางจมูก และพูดจาไม่ได้ ตามภาพถ่ายหมาย จ. 2 และตามคำให้การของนายประโยชน์ ลิ่มสกุล บิดาผู้เสียหายตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 4 ประกอบกับขณะที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 หลังจากเกิดเหตุแล้ว 1 ปีเศษ ศาลชั้นต้นได้ดูสภาพร่างกายของผู้เสียหายแล้ว ปรากฏว่าผู้เสียหายต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถยืนได้ พูดแต่ละคำด้วยความยากลำบากซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยที่ 2ใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร ตีที่ศีรษะผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอย่างแรงแม้ตีเพียงครั้งเดียวก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มุ่งหมายจะให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายเมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ภาวะสมองของผู้เสียหายในเบื้องต้นได้รับการกระทบกระเทือนมีเลือดออกในสมองตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ. 3 และผู้เสียหายต้องรับการรักษาด้วยความทุกข์ทรมานเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บิดามารดาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ไปเยี่ยมเยียนออกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 เห็นควรลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
          อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง
          พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ใหม่) ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-07-06 18:43:58 IP : 180.180.148.15


ความคิดเห็นที่ 2 (3291943)

ขอบคุณ ท่าน มโนธรรม มากครับ  

ผู้แสดงความคิดเห็น คนจน วันที่ตอบ 2012-07-06 18:59:27 IP : 101.51.77.148


ความคิดเห็นที่ 3 (3292131)

ขอสอบถามเพิ่มเติมครับ 

คดีนี้ เนื่องจากตำรวจ ดึงเกม ดำเนินการทำคดีช้ามาก และนัดคู่กรณี พยายามไกล่เกลี่ยให้จบคดีด้วยการยัดเงิน  ทางผู้เสียหายยืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด  แจ้งความ คดี พยายามฆ่า แต่ตำรวจบอกแจ้งใด้แค่คดี ทำร้ายร่างการ เท่านั้น ค่อยไปให้ศาลตัดสินเพิ่มโทษ อีกทีหากเจ้าทุกไม่พอใจคำตัดสิน  ตำรวยร้อยเวรที่รับเรื่องบอก ถ้าแจ้งข้อหาหนักไป พอขึ้นศาลมันจะลดโทษยาก  ทำใมถึงไม่รับแจ้ง พยายามฆ่า เพราะ พยาน หลักฐาน ผู้บาดเจ็บ อาวุธ ทุกสิ่งเอื้อให้เป็นคดี พยายามฆ่า แต่ตำรวจไม่แจ้งให้ อย่างนี้ถือว่า ตำรวจ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่มั้ยครับ

เราสามารถ ขอเปลี่ยนพนักงานสอบสวน หรือ ตั้งทนายมาดูแลการทำงานของพนักงานสอบสวนใด้ใช่มั้ยครับ

รู้สึกคดีจะไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย  ตำรวจเอนเอียงไปฝั่งผู้กระทำผิด หวังจะให้จบที่ชดใช้ค่าเสียหาย  น่าจะมีการคุยส่วนใด้ส่วนเสียกันแล้ว

ขอคำแนะนำท่านผู้รู้ด้วยครับ เราควรทำใงต่อดี

ผู้แสดงความคิดเห็น คนจน วันที่ตอบ 2012-07-09 08:32:19 IP : 101.51.75.173


ความคิดเห็นที่ 4 (3292142)

 ควรหาทนายความมือดี  ช่วยเหลือตามคดีให้  การร้องขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนสามารถทำได้....เรื่องละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ   ยังไม่ชัดเจนพอจะดำเนินคดีัได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-07-09 10:51:40 IP : 101.51.163.123


ความคิดเห็นที่ 5 (3292525)

ผ่านมา 10 วัน ตร.ก็ยังไม่ดำเนินคดี ผู้กระทำผิด ใด้แต่นัดมาไกล่เกลี่ย   ทางเราไม่มีเงินมาจ้างทนาย เร่งรัดคดีให้ คดีเลยช้า เหมือนจะจบแบบไม่ใด้รับความยุติธรรม  ทางร้อยเวรก็ไม่บอกว่า ดำเนินการถึงใหน คนผิดก็ยังลอยนวล

ผู้แสดงความคิดเห็น คนจน วันที่ตอบ 2012-07-13 07:08:48 IP : 101.51.64.164



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.