ReadyPlanet.com


ปรึกษาเจ้าของที่ดินไม่ยอมขายให้


 ผมได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในราคา 1 ล้านบาทถ้วน มีการเซ็นสัญญาทั้งสองฝ่าย แต่เจ้าของที่ดินไม่เอาเงินมัดจำ (สัญญาจะซื้อจะขายเลยไม่มีการมัดจำเงิน)

หลังจากนั้นผมได้ทำการเขียนแบบบ้าน เสียค่าเขียนไป 30,000 บาท 

ต่อมาเจ้าของที่ไม่ยอมขายให้

สัญญาจะซื้อจะขายคงเรียกร้องไม่ได้เพราะว่าไม่ได้มีการมัดจำเงินกันไว้

แต่ผมจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากค่าเขียนแบบบ้านคืนได้หรือไม่ ครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ พง :: วันที่ลงประกาศ 2013-03-05 09:24:13 IP : 118.174.0.37


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3308055)

 ในเมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้   แม้ไม่มีเงินมัดจำสัญญาก็ใช้บังคับได้    ถ้าผลการเจรจาไม่เป็่นที่ตกลง คือเขาไม่ยอมขายตามสัญญา    ก็สามารถฟ้องศาลให้พิพากษาให้เขาปฏิบัติตามสัญญาได้ ครับ......กฎหมายที่ใช้อ้างอิง   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์...

 

มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะวิธีนี้ให้ ใช้ถึงซื้อขายเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะ ด้วย
         อนึ่งสัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดั่งว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 
 
.....แนวคำพิพากษา เทียบเคียง....
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2154/2552
 
นางอารมย์ กลิ่นทอง     โจทก์
 
นางกานดา เชยชื่นจิตร   จำเลย
 
มาตรา 94 (ข)
มาตรา 456 วรรคสอง
 
          สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองกับธนาคาร ถ้าโจทก์ไถ่ถอนจำนองเมื่อไรจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทันที สัญญาซื้อขายฉบับนี้จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ...หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินรายนี้ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความว่าโจทก์รับราคาดังกล่าวไปจากจำเลยเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2541 การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงแล้วโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเพียง 90,000 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยไปชำระต่อธนาคาร พ. เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ห้ามจำเลยพร้อมบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป กับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า ขอให้บังคับโจทก์ไปทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด สาขานาโยง แล้วให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ห้ามมิให้โจทก์เข้ารบกวนการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้โจทก์คืนเงิน 200,000 บาท แก่จำเลย
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทของโจทก์อีก กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ 50,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ห้ามมิให้โจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์หรือให้โจทก์ชำระเงิน 200,000 บาท ให้แก่จำเลย ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลทั้งในส่วนของฟ้องและฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2541 โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1511 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ให้แก่จำเลยในราคา 300,000 บาท หลังทำสัญญาโจทก์ให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทันที ต่อมาเดือนกันยายน 2544 โจทก์ห้ามมิให้จำเลยเข้าไปในที่ดินพิพาท
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์และจำเลยจะสามารถนำสืบถึงข้อตกลงที่มีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือภายหลังจากนั้นว่ายังมีข้อตกลงอีกส่วนหนึ่งระหว่างโจทก์ จำเลย และบุคคลภายนอกต่างหากจากที่ระบุในสัญญาซื้อขายที่ดินได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า เนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองกับธนาคาร ถ้าโจทก์ไถ่ถอนจำนองเมื่อไรจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทันที สัญญาซื้อขายฉบับนี้จึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ...หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายนี้ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อความว่าโจทก์รับราคาดังกล่าวไปจากจำเลยเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2541 การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงแล้วโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเพียง 90,000 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้จำเลยไปชำระต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำกัด สาขานาโยง เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์จำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่ธนาคารไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-03-05 16:38:05 IP : 101.51.190.201



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.