ReadyPlanet.com


ถูกหาว่ารุกล้ำที่ดิน


มีเรื่องปรึกษาค่ะ

                1. ที่ดิน 2 แปลง ซึ่งอยู่ติดกัน  เจ้าของที่ดินแปลงที่ 1  ได้กั้นแดนโดยรั้วลวดหนามแต่ยังคงยึดแนวเขตแดนเดิมตามเสาหลักของสนง.ที่ดิน  เจ้าของที่ดินแปลงที่ 2  บอกว่าเสาหลักเขตแดนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนของตน  จึงเรียนถามว่า  เจ้าของที่ดินแปลงที่ 1 ซึ่งยืนยันว่ายึดตามหลักเขตแดนเดิมควรจะทำอย่างไรดีค่ะ

                2.  ที่ดินดังกล่าวตามข้อ 1  เจ้าของที่ดินแปลงที่ 1 ปลูกต้นยางพารา และมีกิ่งล้ำเข้าไปเขตแดนของเจ้าของที่ดินแปลงที่ 2  ถามว่ากิ่งต้นยางพาราที่ล้ำเข้าไปในเขตแดนของผู้อื่น ผู้เป็นเจ้าของต้นยางพาราต้องตัดกิ่งนั้นทิ้ง หรือปล่อยไว้เลย  และหากเจ้าของที่ดินแปลงที่ 2  บอกให้ตัดทิ้งเลย  เจ้าของที่ดินแปลงที่ 1 จะต้องทำตามหรือไม่  เพราะเหตุใด

ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ เดียร์ (ladland2015-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2012-05-21 10:57:42 IP : 172.16.14.113


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3287170)

 1.  ถ้าเจ้าของที่ดินข้างเคียง  กล่าวหาว่ามีการรุกล้ำที่ดินของเขา  เมื่อเจรจากันไม่ได้   ก็ต้องให้เจ้าพนักงานที่ดินออกมารังวัดเพื่อสอบแนวเขตที่ดินว่าถูกรุกล้ำจริงหรือไม่     ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ   500  บาท  ผู้กล่าวอ้างว่าถูกรุกล้ำที่ดิน   ควรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายครับ

2.  ถ้ากิ่งไม้รุกล้ำไปในแดนกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น   เมื่อเขาบอกกล่าวให้ตัดออกในเวลาอันสมควร    ถ้าไม่ตัดออก   เขาก็สามารถตัดออกได้  ตาม ปพพ. 1347  แต่....ในทางปฏิบัติ   ถ้าเจ้าของไม่ตัดออก   ต้องฟ้องศาลฐานละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายและให้เจ้าของตัดออกเอง     เจ้าของที่ดินที่ถูกกิ่งไม้รุกล้ำ  ถ้าไปตัดออกเอง อาจถูกแจ้งความดำเนินคดีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้   แม้ไม่มีความผิด   แต่การถูกฟ้อง ก็คงยุ่งยากพอสมควรครับ.....ถ้ากิ่งไม้ของคุณรุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์ของเขา   อยากแนะนำให้ตัดออกไปเถอะ  อย่าคิดไปต่อความยาวความยืดเลยครับ

..กฎหมายที่เกี่ยวข้อง   และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง...

มาตรา 1347 เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อ และเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครอง ที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดิน ตัดเอาเสียได้ 

 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1846/2500
 อัยการจังหวัดสกลนครและนายบุตร บุญเฮ้า
      โจทก์
 
นายสุวิทย์ ไชยบุญเรือง
      จำเลย
 
 
 
 
 
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324
 
ป.พ.พ. มาตรา 1347, 1335, 420, 1337
 
 
 
          ในทางแพ่ง ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้
 
          ส่วนในทางอาญา ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆ ไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501) 
 
 
 
________________________________
 
 
 
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตัดฟันกิ่งต้นงิ้วของโจทก์ร่วมเสียหายโดยไม่มีอำนาจจะทำได้ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324 จำเลยรับว่าได้ตัดกิ่งไม้ของโจทก์ร่วม แต่แก้ว่ากิ่งต้นไม้ปกคลุมเข้ามาในที่จำเลย ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้ไม่งอกงาม ก่อนตัดได้บอกเจ้าของแล้ว 2 ครั้ง เจ้าของเฉยเมย จำเลยจึงเข้าตัดเองไม่มีเจตนาจะทำให้เสียทรัพย์ประการใด
 
 
          ศาลชั้นต้นฟังว่า ก่อนตัดจำเลยได้ขอร้องให้โจทก์ร่วมตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมเพิกเฉยเสีย จำเลยจึงมีสิทธิตัดกิ่งไม้ที่ล้ำเข้ามาในบ้านเขตของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 จำเลยไม่ควรมีผิดพิพากษาให้ยกฟ้อง
 
 
          โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่า ก่อนตัดกิ่งงิ้วจำเลยได้บอกฝ่ายผู้เสียหายให้ทราบ พิพากษากลับ ว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324 ให้ปรับจำเลย 200 บาท
 
 
          จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้ตัดกิ่งงิ้วของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์ร่วมเสียก่อน แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ปล่อยให้กิ่งงิ้วของโจทก์รุกล้ำเข้ามาในที่ของจำเลยนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 ประกอบด้วย มาตรา 420 ซึ่งตาม มาตรา 1337อนุญาตไว้ว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เช่นจำเลย มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ หากแต่ มาตรา 1347 บัญญัติเงื่อนไขต่อไปว่า ก่อนที่จะตัดกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้ามา เจ้าของที่ดินต้องบอกให้ผู้ครอบครองที่ดินติดต่อตัดเสียภายในเวลาอันสมควรเท่านั้นการที่จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์ร่วมเสียก่อน จึงเป็นเพียงการละเว้นที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายแพ่งวางไว้เท่านั้น ส่วนการที่จะเอาผิดทางอาญาแก่บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอย่างจำเลยในคดีนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่อง ๆ ไปอีกชั้นหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ เห็นว่ายังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดทางอาญา เพราะจำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่ว ๆ ไปหากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น
 
 
          ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ 
 
 
 
 
 
( จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ - ธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร - ดุลยกรณ์พิทารณ์ ) 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-05-21 12:42:01 IP : 180.180.23.183


ความคิดเห็นที่ 2 (3287183)

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น เดียร์ (ladland2015-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2012-05-21 14:15:07 IP : 172.16.14.113



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.