ReadyPlanet.com


โอนเช็คโดยสำคัญผิด ต้องรับผิดตามลายมือชื่อที่ลงไว้ด้วยหรือเปล่าครับ


ผมจะโอนเช็คชำระหนี้ไห้ ก. แต่ผมโดนหลอกโอนชือผิดคน ผมไปโอนสั่งจ่ายไห้กับข.

แต่ข.ไม่สามารถขึ้นเงินได้ เลยเกิดการฟ้องร้องกัน

กรณีนี้ถือเป็นสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมทำไห้ตั๋วเงินเป็นโมฆะหรือเปล่าครับ

แต่มาตรา900 บอกว่าคนที่ลงชื่อในตั๋วเงินต้องรับผิดตามนั้น 

แปลว่าผมโอนเช็คผิดรายก็ต้องรับผิดด้วยหรือเปล่า

 

และถ้าข.โอนเช็คไห้กับค.ไปแล้ว ค.ในฐานะผู้ทรงตั๋วเงินจะฟ้องเรียกไห้ ผม(ผู้สั่งจ่าย) และข.(ผู้สลักหลังโอน) รับผิดได้ไช่ไหมครับ   แล้วผมต้องรับผิดไหมครับในเมื่อมูลหนี้เช็คเิดิมเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล

แล้วถ้าผมไม่ต้องรับผิด และข.(ผู้สลักหลังโอน) ต้องรับผิดต่อค.(ผู้ทรงตั๋วเงิน) หรือเปล่า

 

ขอบคุณครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ เวรกรรมจริงๆ :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-09 23:30:54 IP : 115.87.4.178


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3298334)

 คุณอาจไม่ต้องรับผิด    ถ้าพิสูจน์ได้ว่า  เป็นการฉ้อฉล  ตาม ปพพ. ม.916    แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่า   เป็นการฉ้อฉล  ก็ต้องรับผิด    ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง  ที่ยกมาครับ

 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8296/2551
 
นางจิตติมา วีสกุล                          โจทก์
 
นางณธรี ทองจันทร์ กับพวก            จำเลย
 
ป.พ.พ. มาตรา 5, 900, 904, 914, 916, 918, 921, 940, 989
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
 
          เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918, 989 โจทก์ผู้รับโอนเช็คจึงเป็นผู้ถือและเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในมูลหนี้ตามตั๋วเงินคือเช็คไม่อาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับ จ. ผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้ จ. โดยไม่มีมูลหนี้ แต่เป็นการค้ำประกันในการเล่นแชร์ระหว่างกัน คำให้การดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับ จ. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ฉะนั้นจำเลยจะยกความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
          จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ามีการโอนเช็คและคบคิดฉ้อฉลกันอย่างไร และในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 การที่ จ. ให้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ได้ตาม มาตรา 904 และมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็มิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร คำให้การจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าแชร์จาก จ. ครบหรือไม่เพียงใดก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ จ. โดยตรงต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ลงชื่อสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือก็จะปัดตนให้พ้นความรับผิดไปหาได้ไม่ เพราะฐานะของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นประกันหรืออาวัลสำหรับผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921,940 ประกอบมาตรา 989
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,795,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กำหนดค่าทนายให้ 6,000 บาท
          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
          จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายวงแชร์ได้ออกเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมธานี ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 สั่งจ่ายเงิน 2,600,000 บาท ให้แก่นางจินตนา ลูกวงแชร์ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ และเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ มีจำเลยที่ 2 ลงนามสลักหลัง วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย ตามเช็คพิพาทและใบคืนเช็ค
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการเดียวว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918, 989 โจทก์ผู้รับโอนเช็คพิพาทจึงเป็นผู้ถือและเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในมูลหนี้ตามตั๋วเงินคือเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับนางจินตนาผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้นางจินตนาโดยไม่มีมูลหนี้ แต่เป็นการค้ำประกันในการเล่นแชร์ระหว่างกัน คำให้การดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทกับนางจินตนา ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ฉะนั้นจำเลยจะยกความสัมพันธ์ดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาและให้การว่า แม้หากคำนวณเงินที่นางจินตนาชำระค่าแชร์โดยไม่ได้เปียแชร์ไปเลยก็มีเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น มิได้มีจำนวนสูงตามเช็คพิพาท แต่ด้วยโจทก์และนางจินตนาได้สมคบกันโดยโจทก์เป็นบุตรของนางจินตนาและร่วมเล่นแชร์ด้วยโดยนางจินตนาได้ให้โจทก์เป็นผู้ฟ้อง โจทก์จึงใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่ามีการโอนเช็คพิพาทและคบคิดฉ้อฉลกันอย่างไร และเห็นว่าในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 การที่นางจินตนาให้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ก็ไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นใช้ยันกับโจทก์ได้ตามมาตรา 904 และมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็มิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร คำให้การจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าแชร์จากนางจินตนาครบหรือไม่เพียงใด ก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่นางจินตนาโดยตรงต่างหากไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ผู้ลงนามสั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ลงชื่อสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือก็จะปัดตนให้พ้นความรับผิดไปหาได้ไม่ เพราะฐานะของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นประกันหรืออาวัลสำหรับผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 921, 940 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คพิพาทเพียงเพื่อเป็นการรับทราบว่า นางจินตนามารดาโจทก์ได้รับเช็คพิพาทไปจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ฝากเช็คพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 เพื่อมอบให้แก่นางจินตนา หากจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการที่จะชำระหนี้ตามเช็คพิพาทก็ไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทให้ผูกพันตน ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์
 
 
( สิทธิชัย พรหมศร - พิทยา บุญชู - พิษณุ ดำรงเกียรติวัฒนา )
 
 
 
....ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์....
 
มาตรา ๙๑๖  บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
 
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-09-10 09:21:49 IP : 101.51.178.243



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.