ReadyPlanet.com


โอนที่ดินไม่ได้


ได้รับมรดกเป็นอาคารพาณิชย์มา 1 ห้อง ตามพินัียกรรมและไม่ได้เป็นทายาทโดยกฏหมาย โดยในพินัยกรรมระบุว่า "ห้ามขายโดยเด็ดขาด" เมื่อโอนรับมรดกแล้วให้ผู้จัดการมรดก เป็นคนเก็บรักษาโฉนดไว้ ต่อมา ได้ปรึกษากับผู้จัดการมรดก ว่ามีความจำเป็นต้องขาย เพื่อไปซื้อที่ใหม่ ที่ทำเลดีกว่า ผู้จัดการมรดกเห็นด้วย จึงคืนโฉนดมาให้ เพื่อประกาศขาย ่ต่อมาเมื่อได้ตกลงซื้อ-ขาย จึงไปทำการโอนที่สำนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดิน ปฏิเสธการโอน พร้อมกับแจ้งว่า มีพินัยกรรมระบุว่า "ห้ามขายโดยเด็ดขาด" จึงโอนซื้อ-ขาย ไม่ได้ ให้ไปร้องขอต่อศาล และบอกกับเราว่า ถ้าเป็นทายาททางกฏหมายโอนให้ได้ แต่ถ้าเป็นบุตรนอกสมรสแบบผมโอนให้ไม่ได้ (ทั้งที่มีเงื่อนไขห้ามโอนเดียวกัน) อยากเรียนปรึกษาดังนี้ครับ

1.พินัยกรรมระบุว่า "ห้ามขายโดยเด็ดขาด" จริง แต่มิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้
2.ไม่ได้จดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
3.ไม่มีการทำบันทึกใดๆว่าห้ามโอน
4.หลังโฉนดไม่ได้มีการบันทึกใดๆ ว่าห้ามโอน

จาก
มาตรา 1700 วรรค3 "ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อ กำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย"
มาตรา 1702 "ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการ ห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่"
ในเมื่อเงื่อนไขการห้ามโอนในพินัยกรรม ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ เราจำเป็นต้องไปร้องขอต่อศาลหรือเปล่าครับ และเราสามารถร้องขอด้วยตัวเอง หรือว่าต้องให้ทนายเป็นคนดำเนินการให้ครับ
และ ที่ผมแปลกใจอยู่อย่างนึงก็คือ ทางเจ้าหน้าที่ที่ดินไม่รู้กฏหมายหรือไม่รู้ว่าเงื่อนไขในพินัยกรรมไม่ สมบูรณ์ จริงเหรอครับ ทั้งๆที่มันต้องจดทะเบียนห้ามโอนต่อเจ้าหน้าที่
สรุปแล้วกรณีนี้ ผมต้องทำยังไง ถึงจะ ซื้อ-ขาย ได้ครับ และถ้าหากต้องร้องขอต่อศาล ต้องใช้เวลานานหรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ มหานคร (teepakorn_joe-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-09 03:02:28 IP : 10.182.255.60


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3298295)

คุณเข้าใจถูกต้อง...     แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ   มักปฏิบัติงานในกรอบที่เคยปฏิบัติมาตามปรกติ   ถ้าเรื่องนอกกรอบที่เคยปฏิบัติ(กรณีเรื่องของคุณไม่ค่อยมีปรากฏบ่อยนัก)    ก็มักให้ไปร้องศาลก่อน   เพราะการปฏิบัติตามคำสั่งศาล   พวกเขาปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง  แม้มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน   ซึ่งกรณีของคุณ  การห้ามโอนใช้บังคับไม่ได้  ตาม ปพพ. ม.1700   และ ม.1702  แต่เจ้าหน้าที่คงไม่ยอมกำเนินการใดๆให้คุณ...เรื่องไม่รู้กฎหมาย   คงเป็นไปไม่ได้   เพราะในสำนักงานย่อมต้องมีนิติกร  ประจำอยู่เสมอ.....ก็จำเป็นต้องร้องศาล  ตามที่เคยได้ตอบคุณมาแล้วครับ

..แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง....กรณีการห้ามโอน...

 

 

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  362/2511

 

นางสาวพยงค์ คชภูมิ                                                โจทก์
หลวงจรูญประศาสน์ ที่ 1 นางจรูญประศาสน์ ที่ 2          จำเลย  
 
ป.พ.พ. มาตรา 1700
 
          เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้จำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนโดยมิได้รับความเห็นชอบจากบุตรของเจ้ามรดกที่มีสิทธิอาศัย แต่ข้อกำหนดนี้หาได้ระบุไว้ว่า ถ้าจำเลยละเมิดข้อกำหนดแล้ว จะให้ที่พิพาทตกเป็นของผู้ใดไม่ ข้อกำหนดห้ามโอนจึงถือว่าเป็นอันไม่มีเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินและโรงเรือนให้จำเลยถือสิทธิปกครองโดยมีข้อกำหนดว่า ต้องอนุญาตให้บุตรและผู้สืบสายโลหิตต่อจากบุตรอาศัยอยู่ตลอดไป จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายอาศัย ขอให้ศาลพิพากษาว่าข้อกำหนดเป็นอันไร้ผล ให้ที่ดินและโรงเรือนเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
          จำเลยให้การว่า ที่ดินและโรงเรือนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยจำเลยถือสิทธิเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผย ๒๔ ปีเศษ โจทก์ไม่มีสิทธิในทรัพย์ ไม่เคยอาศัย จำเลยไม่เคยแบ่งค่าเช่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะเหตุใด โจทก์มีสิทธิเพียงจะฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้อง คดีขาดอายุความ
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ ๑ ใน ๔ ส่วน
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพินัยกรรมข้อ ๑ นั้น เมื่ออ่านข้อความโดยตลอดแล้วฟังได้ว่าขุนพรหมสมบัติได้ยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่จำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายจ่ายโอน โดยมิได้รับความเห็นชอบจากบุตรที่มีสิทธิอาศัยอยู่ในที่นี้เท่านั้น ถ้าบุตรที่อยู่อาศัยเห็นชอบด้วย จำเลยก็จำหน่ายจ่ายโอนไปได้ และเงินที่จำหน่ายได้ก็ย่อมตกเป็นของจำเลย ถ้าขุนพรหมสมบัติมีเจตนาเพียงแต่ให้จำเลยมีสิทธิปกครองเท่านั้น ก็ต้องระบุต่อไปว่า เมื่อขายได้แล้วให้เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน แต่หาได้มีข้อกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ขุนพรหมสมบัติมีเจตนายกที่พิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่มีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายโดยมิได้รับความเห็นชอบของบุตรคนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ข้อกำหนดนี้ก็หาได้ระบุไว้ว่าถ้าจำเลยละเมิดข้อกำหนดแล้ว จะให้ที่พิพาทตกเป็นของผู้ใดไม่ ฉะนั้น ข้อกำหนดห้ามโอนนี้จึงถือได้ว่าเป็นอันไม่มีเลย ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๐
          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
 
 
( ศริ มลิลา - กิตติ สีหนนทน์ - เนิ่น กฤษณะเศรนี )
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-09-09 10:39:52 IP : 101.51.169.152



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.