ReadyPlanet.com


สอบถามคดีฉ้อโกงฝากงาน


 เนื่องด้วยญาติของผม ได้ทำงานสถานที่เดียวกับข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งข้าราชการคนดังกล่าว เป็นรักษาการสำนักปลัดมีอำนาจเซนหนังสือในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ปัจจุบันถูกย้ายตำแหน่งแล้ว ปัญหามีอยู่่ว่าข้าราชการคนนี้ ได้ให้ญาติของกระผม ซึ่งเป็นลูกจ้างในตำแหน่งแม่บ้านให้หาคนเข้าทำงานในตำแหน่งลูกจ้างประจำ โดยเรียกร้องรายละประมาณ 1 แสนบาท ญาตของผมคนดังกล่าวจึงได้ไปบอกนายA  นายA ไปบอกนายB นายB ได้นำญาติของตน5 คนมาฝากเข้าทำงาน โดยนายAและB ได้ค่าหัวคิวคนละ 1 หมื่นบาท โดยนายA ได้นำเงินมาส่งมอบญาตผม 5 แสนบาทและทำสัญญาเงินกู้กัน ญาตผมได้นำเงิน 4.5 แสนบาท ให้กับข้าราชการคนดังกล่าว โดยมิได้ทำสัญญาใดๆ พร้อมกับเอกสารข้อมูลการสมัครของ5คนที่ฝาก ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายใน ข้าราชการคนดังกล่าว ถูกย้ายตำแหน่ง ผ่านไป6 เดือนนับจากวันทำสัญญาเงินกัน นายAและนาย B นำคน 5คนจะแจ้งความฉ้อโกงญาตของผม โดยที่ญาตของผมไม่รู้จัก5คนดังกล่าว และญาตของผมได้ทำสัญญาเงินกู้กับนาย A เพียงคนเดียว ทั้งนี้ข้าราชการคนดงกล่าว ได้ปฎิเสธข้อกล่าวหาและได้แจ้งความคดีหมิ่นประมาทกับญาตของผม กล่าวคือญาตของผมโดนรุม ทั้งที่ขบวนการดังกล่าวทำด้วยกัน จึงอยากสอบถามว่า นายAกับนายB สามารถแจ้งความจับญาตผมได้หรือไม่ ในเมื่อญาตผมไม่รู้จักคน5คน และไม่มีสัญญาใดๆกับ5คนดังกล่าว มีแต่สัญญากู้เงินกับนายA โดยที่นายAรวมกับนายB รวมกลุ่มคน5คนแจ้งความ ทั้งนี้ นายAและนายB ถูกอัดเสียงได้ว่า ให้การว่าได้หาบุคคลดังกล่าวมา และได้กินหัวคิวและได้นำเงินก้อนมาให้ญาตผม และนายBที่หาคน5คนมานั้นไม่รู้จักกับญาตผม (มีคลิปเสียง)เหตุการณ์อย่างงี้ ญาตผมจะต่อสู้ได้หรือไม่ และข้าราชการคนดังกล่าว ควรซักทอดหรือไม่ในเมื่อเขาแจ้งความว่าญาตผมหมิ่นประมาทกล่าวอ้างชื่อในการฝากงาน หรือควรมีแนวทางการต่่อสู้อย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ john :: วันที่ลงประกาศ 2013-04-27 20:09:06 IP : 101.51.100.218


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3309871)

 จากข้อเท็จจริง  ทั้งญาติของคุณ  นาย เอ  นาย บี   และข้าราชการ  อาจ..เข้าข่ายมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่น แม้ข้าราชการคนนั้นจะแก้เกี้ยวโดยการแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท   ถ้าญาติของคุณซึ่งเป็นประจักษ์พยานยืนยัน   และ  ถ้าร้องเรียนผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการทางวินัย   คงรอดยาก....การที่ญาติของคุณทำสัญญากู้ยืมเงินไว้   อาจไม่มีเป็นการฉ้อโกง ก็นำมาเป็นข้อต่อสู้ัได้.....    จากข้อเท็จจริง มีการนำเงินมาวิ่งเต้นเพื่อให้สามารถเข้าทำงาน   ถือว่ามีส่วนในการกระทำความผิดด้วย  จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมาฟ้องร้องดำเนินคดีญาติของคุณได้ ขอแนะนำให้หาทนายความมือดีช่วยเหลือ  ครับ...แนวคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียง....

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5172/2554
 
นางสำเนียง ทูลไธสง กับพวก        โจทก์
 
นายชำนิ ศาลาประโคน                  จำเลย
 
ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)
 
          จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาล้มคดีให้แก่โจทก์ได้ และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์หลงเชื่อได้มอบเงินจำนวน 58,000 บาท แก่จำเลยไป การกระทำของโจทก์มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ใช้ให้จำเลยกระทำความผิดแม้โจทก์จะไม่ทราบว่าจำเลยมิได้นำเงินไปเป็นค่าวิ่งเต้นคดีก็ตาม โจทก์ก็มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
 
________________________________
 
          โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ถึง 30 พฤษภาคม 2543 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นคดีโดยการนำเงินไปให้อัยการอุทธรณ์ภาค 3 และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อให้โจทก์ทั้งสองซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1422/2543 ทั้งนี้เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ปล่อยโจทก์ทั้งสองพ้นข้อหา โดยจำเลยให้โจทก์ทั้งสองนำเงินไปให้ 200,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสอง (คือจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว) ไม่สามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมด จึงนำเงินไปให้จำเลยเพียง 58,000 บาท จำเลยรับว่าจะดำเนินการให้และจะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปล่อยโจทก์ทั้งสองพ้นข้อหาไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยมิได้กระทำตามที่บอกโจทก์ทั้งสอง และไม่สามารถกระทำได้ จำเลยบอกแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อต้องการเงินและได้รับเงินจากโจทก์ทั้งสองตามเจตนาของจำเลยต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โจทก์ทั้งสองจึงทราบว่า ที่จำเลยบอกว่าสามารถวิ่งเต้นคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้นั้นไม่เป็นความจริง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
          จำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 1 ปี
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสองฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ทั้งสองถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจะช่วยวิ่งเต้นล้มคดีให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยจะต้องเสียค่าวิ่งเต้น พนักงานอัยการและผู้พิพากษารวมเป็นเงิน 200,000 บาท เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นความเท็จ โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อจึงได้จ่ายเงินค่าวิ่งเต้นให้แก่จำเลยไปรวม 58,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย” หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยสามารถวิ่งเต้นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาล้มคดีให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อได้มอบเงินจำนวน 58,000 บาท แก่จำเลยไป การกระทำของโจทก์ทั้งสองดังนี้ มีวัตถุประสงค์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้ให้จำเลยกระทำความผิด แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้นำเงินไปเป็นค่าวิ่งเต้นคดีก็ตาม โจทก์ทั้งสองก็มิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีในความผิดฐานฉ้อโกงมาฟ้องจำเลยได้ ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้ออื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน
 
 
( ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ - กษิดิ์เดช จีนสลุต )

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-04-28 13:27:00 IP : 101.51.186.96


ความคิดเห็นที่ 2 (3309878)

 ขอบพระคุณคุณมโนธรรมเป็นอย่างสุงมากครับ ไำด้ถามทนายท่านอื่นก็ได้ให้ความเห็นพ้องไปทางเดียวกันครับ แต่กระผมมีข้อสงสัยในข้อความว่า"....การที่ญาติของคุณทำสัญญากู้ยืมเงินไว้   อาจไม่มีเป็นการฉ้อโกง ก็นำมาเป็นข้อต่อสู้ัได้..... "  หมายถึงญาติผมมีสิทธิต่อสู้ว่าการฉ้อโกงดังกล่าวญาติมิได้มีเจตนาฉ้อโกงใช่หรือไม่ครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น john วันที่ตอบ 2013-04-28 18:52:33 IP : 101.51.126.210


ความคิดเห็นที่ 3 (3309961)

 ใช่ครับ   เมื่อถูกฟ้อง   ก็จำเป็นต้องให้การต่อสู้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อเรา  ส่วนศาลจะรับฟังหรือไม่   ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง     ตามความเห็นคดีฉ้อโกงมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี  ตาม ปอ. ม.341   ดังนั้นถ้าจำเลยมีคุณลักษณะและเงื่อนไข ตาม ปอ. ม.56   โอกาสได้รับรอการลงโทษไว้(รออาญา) ก็มีทางเป็นไปได้สูง ดังนั้น  ก็ไม่ต้องไปกังวลจนเกินควร ครับ

มาตรา ๕๖  ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
                     เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียว
หรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก
                   เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-04-30 14:08:02 IP : 101.51.184.98



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.