ReadyPlanet.com


รบกวนเรียนถามต่อเรื่องพินัยกรรม(ตู่)


ข้อ 1. เราสามารถระบุในพินัยกรรมว่าให้ลูกๆผู้รับมรดกทั้ง 3 คน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมได้หรือไม่

ข้อ 2. ทำไมต้องมีผู้จัดการมรดก ในเมื่อพินัยกรรมได้ระบุชัดเจนว่าลูกคนไหนจะได้ทรัพย์สินอะไร

ข้อ 3. คนที่มาเป็นพยานถ้าวันหลังพยานเสียชีวิตลง มีผลต่อพินัยกรรมหรือไม่

ข้อ 4. มีวิธีไหนที่ดีกว่าการทำพินัยกรรม

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ตู่ :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-10 07:14:17 IP : 101.109.179.3


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3302878)

 

 
 
ข้อ 1. เราสามารถระบุในพินัยกรรมว่าให้ลูกๆผู้รับมรดกทั้ง 3 คน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมได้หรือไม่
 
ตอบ...สามารถทำได้ครับ  ตาม ปพพ.  ม. 1715  (มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้ จัดการมรดกก็ได้)
 
 
ข้อ 2. ทำไมต้องมีผู้จัดการมรดก ในเมื่อพินัยกรรมได้ระบุชัดเจนว่าลูกคนไหนจะได้ทรัพย์สินอะไร
 
 
 
ตอบ...ผู้จัดการมรดก   ก็คือตัวแทนของเจ้ามรดก   มีหน้าที่จดทะเบียนโอนทรัพย์สินที่เป็นมรดก  ให้แก่ทายาทครับ
 
 
ข้อ 3. คนที่มาเป็นพยานถ้าวันหลังพยานเสียชีวิตลง มีผลต่อพินัยกรรมหรือไม่
 
 
ตอบ....ค้นดูฎีกา  ยังไม่พบเกี่ยวกับประเด็นนี้  ตามความเห็น   ถ้าได้ทำพินัยกรรมถูกต้องตามขั้นตอน ปพพ. ม. 1656  พินัยกรรมนั้นย่อมมีผลบังคับ  โดยเฉพาะการลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม   ของพยานสองคน   ต้องลงลายมือชื่อในขณะนั้น ดังฎีกาที่ยกมาข้างล่าง
 
 
ข้อ 4. มีวิธีไหนที่ดีกว่าการทำพินัยกรรม
 
ตอบ...โอนทรัพย์สินให้แก่บุตรแต่ละคน   และจดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ ตลอดชีวิต  แม้โอนทรัพย์สินไปแล้ว   คุณยังสามารถแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สิน  เช่นนำออกให้เช่า และเก็บค่าเช่า   เมื่อคุณเสียชีวิตลง บุตรแต่ละคนก็ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยสมบูรณ์  ไม่ต้องมากังวลว่า พินัยกรรมจะมีผลบังคับหรือไม่อีกต่อไปครับ
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7199/2552
 
นายวิษณุรักษ์ บุญส่ง กับพวก     โจทก์
 
นางชูโฉม บุญส่งหรือนราเดช     จำเลย
 
 
ป.พ.พ. มาตรา 1673, 1674, 1620, 1755
 
          ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเขียนเองระบุว่า เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วบ้านและที่ดินพิพาทนั้น เจ้ามรดกขอยกให้สิทธิอยู่อาศัยและสิทธิเก็บกินแก่จำเลยมีอำนาจครอบครองและเก็บกินได้จนตลอดชีวิต แต่ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายลงเมื่อใดแล้ว ให้บ้านและที่ดินดังกล่าวนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์แก่บุตรที่เกิดจาก ฉ. ทุกคน โดยให้บุตรของ ฉ. ทุกคนมีส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวนี้เท่ากัน ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว เจ้ามรดกมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพียงแต่ให้สิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินตลอดชีวิตแก่จำเลยเท่านั้น สิทธิของจำเลยในฐานะผู้รับพินัยกรรมก็มีเพียงตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจะต้องตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ฉ. เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายแล้วตามเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุให้พินัยกรรมมีผลบังคับให้เรียกร้องกันได้ภายหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 ประกอบมาตรา 1674 วรรคสอง จึงต้องถือว่านับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและข้อกำหนดในพินัยกรรมเฉพาะส่วนของจำเลยมีผลนั้นก็มีผลเพียงให้จำเลยมีสิทธิอยู่อาศัยและเก็บกินในบ้านและที่ดินพิพาทจนตลอดชีวิตของจำเลยเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามผู้รับพินัยกรรมซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นยังไม่สำเร็จเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสามได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1755 รับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะบุคคลซึ่งเป็นทายาทหรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดกเท่านั้น
          จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับมรดกบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตน เนื่องจากบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุยกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว เพียงแต่เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้บ้านและที่ดินพิพาทตกทอดได้แก่โจทก์ทั้งสามยังไม่สำเร็จเพราะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายเท่านั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์นอกพินัยกรรมอันจะตกทอดแก่จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620
 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2545
ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น เมื่อนาย ว. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งไม่รับรองลายมือชื่อของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมและมิได้กระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ดังนี้ พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-11-10 18:36:02 IP : 101.51.161.192


ความคิดเห็นที่ 2 (3302883)

ตามคำตอบของท่านในข้อ 4

โอนทรัพย์สินให้แก่บุตรแต่ละคน และจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เก็บกินไว้ตลอดชีวิต

คือวิธีการโอนกรรมสิทธิที่ดินแบบทั่วๆไป

แต่จะให้เจ้าหน้าที่ "จดทะเบียนกรรมสิทธิเก็บกินฯ" เพื่อให้เจ้าของมรดกเก็บไว้ต่างหาก

ใช่หรือไม่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น จขกท. วันที่ตอบ 2012-11-11 06:28:20 IP : 125.25.98.3


ความคิดเห็นที่ 3 (3302884)

กราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น จขกท. วันที่ตอบ 2012-11-11 06:56:38 IP : 125.25.98.3


ความคิดเห็นที่ 4 (3302891)

 ก็โอนให้บุตรแต่ละคน   โดยสงวนสิทธิเก็บกินไว้ตลอดชีวิตของคุณ    เมื่อแจ้งความจำนงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน  เขาก็จะดำเนินการให้...ได้คัดลอกระเบียบ เกี่ยวกับ  "สิทธิเก็บกิน"  มาให้คุณได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติครับ

 

ค่าธรรมเนียม
 
               ๑.  การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินโดยไม่มีค่าตอบแทน  เป็นการจดทะเบียนประเภทไม่มีทุนทรัพย์  คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ ๕๐ บาท  ตาม
กฎกระทรวง ฉบับที่  ๔๗  (พ.ศ.๒๕๔๑ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.๒๔๙๗  ข้อ ๒ (๗) (ฑ)  
               ๒.  การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่มีค่าตอบแทนเป็นการจดทะเบียนประเภทมีทุนทรัพย์   คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์พิจารณาแล้ว ให้ถือเอาค่าตอบแทนที่คู่กรณีตกลงชำระให้แก่กันเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตามราคาค่าตอบแทนที่คู่กรณีตกลงชำระให้แก่กันในอัตราร้อยละ ๑ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ 
(พ.ศ.๒๕๔๑)  ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗  ข้อ ๒ (๗)  (ฏ)
 
อากรแสตมป์
 
การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินโดยมีค่าตอบแทน  พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์จากจำนวนค่าตอบแทน  ตามประมวลรัษฎากร  ตามลักษณะตราสาร  ๒๘.(ข)  ใบรับแห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (ตามหนังสือกรมสรรพากร  ด่วนมาก  ที่   กค   ๐๘๑๑/๐๙๘๘๔ 
ลงวันที่  ๒๙  มิถุนายน  ๒๕๔๑  ซึ่งกรมที่ดินได้แจ้งให้ทราบและถือปฏิบัติตามหนังสือกรมที่ดิน  ที่ มท  ๐๗๑๐/ว ๒๔๔๑๗  ลงวันที่ ๑๑  กันยายน  ๒๕๔๑) 
 
 
 
ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
                                                                                                           สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน
                                                                                                                  พฤศจิกายน  ๒๕๔๗
_______________________
 
 
 
คำสั่งที่  ๒/๒๕๐๑
เรื่อง  การจดทะเบียนประเภทสิทธิเก็บกิน
 
           ด้วยกรมที่ดินเห็นสมควรวางระเบียบการจดทะเบียนประเภทสิทธิเก็บกิน  และประเภทอื่น  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับประเภทสิทธิเก็บกินที่ได้
จดทะเบียนไว้แล้ว  เพื่อถือเป็นทางปฏิบัติ  ดังต่อไปนี้
               (๑)   ในกรณีที่ดินแปลงใดต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินอันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๔๑๗  ให้คู่กรณีทำบันทึกข้อตกลงและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในประเภท  “สิทธิเก็บกิน” 
       การจดทะเบียนประเภทนี้  ให้จดทะเบียนสามัญ  เว้นแต่การจดทะเบียนประเภทซึ่งต่อเนื่องกับประเภทสิทธิเก็บกินซึ่งได้จดทะเบียนพิเศษไว้ก่อนคำสั่งนี้  คงให้จดทะเบียนพิเศษไปตามเดิม  เช่น ประเภทเลิกสิทธิเก็บกิน
                       เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด. ๑)  บันทึกข้อตกลงสารบัญจดทะเบียนประเภท  “สิทธิเก็บกิน”  ให้ปฏิบัติอนุโลมตามตัวอย่างหมายเลข  ๑ - ๒ – ๓
           (๒)  ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิได้สิทธิเก็บกินมาโดยทางพินัยกรรมให้ผู้ทรงสิทธิยื่นคำขอ  (ท.ด.๘)  และดำเนินการอย่างเรื่องมรดกที่ดิน  อนุโลมตามตัวอย่างหมายเลข  ๔  เมื่อครบประกาศไม่มีอะไรขัดข้อง  จึงให้จดทะเบียนในประเภท  “สิทธิเก็บกิน”  ค่าธรรมเนียมในชั้นคำขอให้เรียกอย่างเรื่องประกาศมรดก ในชั้นจดทะเบียนให้เรียกอย่างประเภท  “สิทธิเก็บกิน”  เว้นแต่เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  (ท.ด. ๑)  ในประเภท  “สิทธิเก็บกิน” ไม่ต้องเรียกค่าคำขออีก  และให้หมายเหตุไว้ในคำขอและบัญชีมรดกว่า  ได้จดทะเบียนในประเภท  “สิทธิเก็บกิน”  แล้ว                                 ในการขอรับมรดกการได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน  ให้ดำเนินการเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากจากเรื่องขอรับมรดกที่ดิน  ซึ่งผู้รับมรดกแต่ละเรื่องอาจมาขอให้ดำเนินการในวาระเดียวกันหรือต่างวาระกันก็ได้  แล้วแต่กรณี
               (๓)  ในกรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  ต่อมาได้มีการแบ่งแยกออกไป  คู่กรณีตกลงยินยอมให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินติดไปด้วยก็ดี  หรือตกลงกันไม่ให้สิทธิเก็บกินติดไปด้วยก็ดี  ให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับกรณีครอบจำนองหรือปลอดจำนอง  ตามคำสั่ง
กรมที่ดินที่  ๑๔/๒๕๐๐  ลงวันที่  ๑๔  พฤศจิกายน  ๒๕๐๐  เรื่องวิธีการจดแจ้งการครอบจำนอง  และวิธีการจดทะเบียนปลอดจำนอง  โดยเรียกชื่อว่าประเภท  “ครอบสิทธิเก็บกิน”  หรือ  “ปลอดสิทธิเก็บกิน”  แล้วแต่กรณี  
               (๔)  เมื่อได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  และสิทธิเก็บกินนั้นยังไม่หมดอายุหากคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน  ก็ให้ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงและจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกิน ถ้าสิทธิเก็บกินพ้นกำหนดเวลาแล้ว  ให้ถือว่าสิทธิเก็บกินเป็นอันสิ้นไปโดยมิต้องจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินอีก
                       เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด. ๑)  บันทึกข้อตกลงสารบัญจดทะเบียนประเภทเลิกสิทธิเก็บกิน  ให้ปฏิบัติอนุโลมตามตัวอย่างหมายเลข  ๕ - ๖ - ๗(๕)  ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย  อันเป็นเหตุให้สิทธิเก็บกินต้องสิ้นไปตามมาตรา  ๑๔๑๘  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ให้จดบันทึกถ้อยคำเจ้าของที่ดินด้วยแบบพิมพ์  ท.ด. ๑๖  ถึงเหตุที่ทำให้สิทธิเก็บกินต้องสิ้นไปโดยยื่นสำเนา
มรณบัตรหรือคำสั่งศาลหรือพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้รับรองว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินได้ตายจริง  จึงให้จดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินได้
                 เรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด. ๑)  และบันทึกถ้อยคำ  ให้ปฏิบัติอนุโลมตาม  ตัวอย่างหมายเลข  ๘ - ๙  ส่วนสารบัญ
จดทะเบียนประเภท  เลิกสิทธิเก็บกิน  ให้ปฏิบัติอย่างเดียวกับ ตัวอย่างหมายเลข  ๗
               (๖)  เมื่อได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว  เจ้าของที่ดินเป็นอันหมดสิทธิที่จะให้เช่าที่ดินแปลงนั้นต่อไป  สิทธิการให้เช่าเป็นของผู้ทรงสิทธิเก็บกินภายในระยะเวลาแห่งการเป็นผู้ทรงสิทธิ  ฉะนั้นถ้าจะมีการให้เช่าที่ดินแปลงนั้น  จะต้องทำสัญญาและจดทะเบียนการเช่าระหว่างผู้ทรงสิทธิเก็บกินกับผู้เช่า โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินอย่างใด
               (๗)  ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนประเภท ”สิทธิเก็บกิน”  ประเภท  ”เลิกสิทธิเก็บกิน”  และประเภท  “ปลอดสิทธิเก็บกิน”  ให้เรียกเก็บตามกฎกระทรวงฯ  ฉบับที่ ๑๐  (พ.ศ.๒๔๙๗)  ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ.๒๔๙๗  ข้อ ๕ (๕)  แปลงหนึ่งรายละ  ๑๕  บาท  
           (๘)   ให้ยกเลิกคำสั่งกรมที่ดินและโลหกิจที่ ๑/๒๔๘๔  ลงวันที่ ๑๔  มกราคม  ๒๔๘๔  เรื่อง  วิธีการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินและเลิกสิทธิเก็บกิน  และคำสั่งอื่นที่มีข้อความอย่างเดียวกัน  หรือซึ่งแย้ง หรือขัดคำสั่งนี้
           ทั้งนี้  ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันรับทราบคำสั่งเป็นต้นไป
 
 
                                                                                                                               กรมที่ดิน
                                                                                                            สั่ง  ณ  วันที่  ๒๗ กุมภาพันธ์  ๒๕๐๑
                                                                                                                  (ลงชื่อ)       ถ. สุนทรศารทูล    
                                                                                                                    (นายถวิล  สุนทรศารทูล)
                                                                                                                            อธิบดีกรมที่ดิน        
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-11-11 13:24:50 IP : 101.51.167.158



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.