ReadyPlanet.com


ซื้อคอนโดแล้วไม่สร้าง


 รบกวนสอบถามค่ะ ซื้อคอนโดไว้แล้วไม่สร้างค่ะ โครงการแจ้งว่าเค้ามีข้อพืพาทเรื่องที่ดิน แล้วศาลสั่งให้เจ้าของที่ดินชดใช้ ทางโครงการเลยจะให้เราไปฟ้องเอาเงินกับเจ้าของที่ดิน เค้่าทำนื่งเฉยไม่ยอมคืนเงินค่ะ ฟ้องสคบฺ.แล้วรอฟ้องศาล อยากทราบว่ามีอายุความกี่ปีค่ะ แล้วเริ่มนับจากวันไหน ในกรณีนี้ตอนโฆษณาขายคอนโดมีชื่อบริษัทนึงร่วมด้วยแต่ต่อมาเค้าบอกว่าเค้าถอนหุ้นไปแล้วไม่เกี่ยวข้องแล้ว เราเอาผิดกับเค้าได้ไหม เหมือนเค้าไม่ร่วมรับผิดชอบเลย เพราะตอนซื้อก้อเพราะมั่นใจตัวบริษัทนี้ค่ะ อีกข้อนะคะเราสามารถแจ้วความให้เป็นคดีอาญาร่วมด้วยได้ไหมค่ะข้อหาหลอกลวง ขอความกรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ เครียดมากหมดเงินไปเยอะค่ะ หวังจะได้เงินคืนเพื่อไปเปนทุนให้ลูกค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ เอ๊ะ :: วันที่ลงประกาศ 2013-01-21 20:00:29 IP : 180.180.12.127


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3306589)

 แนะนำให้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา   และฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนได้ภายในอายุความ 10  ปี  ตามฎีกาที่ยกมา....ส่วนแจ้งความทางอาญา   ดูแล้วคงเป็นไปได้ลำบาก   เพราะเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นครับ.....ต้องฟ้องเจ้าของโครงการ  ส่วนเจ้าของที่ดิน เป็นเรื่องของเจ้าของโครงการจะต้องไปบังคับคดีเอาเอง   ตามคำพิพาพากษา  จะมาให้คุณไปเรียกร้องได้อย่างไร  เพราะคุณไม่ใช่คู่ความในคดีครับ...

 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5093/2541
 
นาย สง่า ล้อม วง ษ์ พาณิชย์          โจทก์
 
บริษัท ศุภ ทิพย์ จำกัด                  จำเลย
 
ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 386
ป.วิ.พ. มาตรา 84, 173 วรรคสอง, 177
 
          โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ไปตรวจสอบสภาพการก่อสร้างตามโครงการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาไว้กล่าวคือ ยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์สายตรงที่ห้องชุด ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และสระว่ายน้ำ โจทก์ให้จำเลยดำเนินการจัดสร้างให้ครบถ้วนโดยเร็ว แต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้โฆษณาไว้ตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมทั้งชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาในขณะที่จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกโจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามที่จำเลยเสนอและไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือได้ โจทก์จึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาให้แล้วเสร็จก่อน แล้วโจทก์พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาแต่ระยะเวลาผ่านไปนานถึง 2 ปี จำเลยก็มิได้ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้และคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ผ่อนชำระแก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369,387 และ 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระคืนเกิดขึ้นเมื่อได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยคือวันอันเป็นวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยโอนอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. ทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเหลืออยู่พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์จึงเป็นกรณีคนละเรื่องกัน แม้โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนโดยอาศัยมูลคดีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วอย่างเดียวกัน แต่คดีก่อนโจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยโอนอาคารชุดให้แก่ผู้อื่นทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นเหลือพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่อาจบังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ อันเป็นข้อสำคัญในคดีที่แตกต่างไปจากคดีนี้ คดีทั้งสองสำนวนของโจทก์จึงไม่ เป็นการฟ้องซ้อน
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกประกาศโฆษณาขายห้องชุดแก่ประชาชนทั่วไปว่า จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างห้องชุดโครงการอาเซี่ยนเทาเวอร์สุขุมวิท 71 ผู้ซื้อ จะได้กรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารและโครงการจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆโทรศัพท์สายตรง สระว่ายน้ำ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดโครงการดังกล่าวของจำเลยจำนวน 3 ห้องชุดโจทก์วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา 30,000 บาท และได้ผ่อนชำระอีก520,000 บาท รวมเป็น 550,000 บาท จำเลยสร้างอาคารโครงการไปได้ระยะหนึ่งก็มีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดโจทก์ตรวจดูแล้วปรากฏว่าจำเลยมิได้ทำตามสัญญาและตามที่โฆษณาไว้โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระให้จำเลยไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันบอกกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน336,893.83 บาท รวมทั้งสิ้น 886,893.83 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 886,893.83 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่สามารถหากเงินชำระค่าโอนให้แก่จำเลยได้ โจทก์จึงไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ภายในเวลาที่จำเลยกำหนดโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 23586/2534 ของศาลแพ่ง ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 886,893.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ไปตรวจสอบสภาพการก่อสร้างตามโครงการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาไว้กล่าวคือ ยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์สายตรงที่ห้องชุด ระบบโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และสระว่ายน้ำ โจทก์ให้จำเลยดำเนินการจัดสร้างให้ครบถ้วนโดยเร็ว แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้โฆษณาไว้ตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงฟังได้ว่า การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมทั้งชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญานั้น จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกโจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามที่จำเลยเสนอและไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือได้ โจทก์จึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาให้แล้วเสร็จก่อน แล้วโจทก์พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาแต่ระยะเวลาผ่านไปนานถึง 2 ปี จำเลยก็มิได้ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ผ่อนชำระแก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369, 387 และ 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
          ปัญหาประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต้องเริ่มนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเดือนเมษายน 2538คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระคืนเกิดขึ้นเมื่อได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2530 อันเป็นวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี
          ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23586/2534 ของศาลแพ่งหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23586/2534 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัทสุดวิมล จำกัดโดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยโอนอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัทสุดวิมล จำกัด ทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเหลืออยู่พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีคนละเรื่องกัน แม้โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนโดยอาศัยมูลคดีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายอาคารชุดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วอย่างเดียวกัน แต่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 23586/2534 จำเลยโอนอาคารชุดให้แก่ผู้อื่นทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นเหลือพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่อาจบังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ อันเป็นข้อสำคัญในคดีที่แตกต่างไปจากคดีนี้คดีทั้งสองสำนวนของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้อน
          พิพากษายืน
 
 
( วิชิน สุขนทีธรรม - สมมาตร พรหมานุกูล - ไพศาล เจริญวุฒิ )
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-01-22 12:53:03 IP : 101.51.167.163



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.