ReadyPlanet.com


การยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย


 ถูกฟ้องล้มละลาย บรรดาทรัพย์สินต่างๆที่จำนองไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ถูกยึดหมด  ยกเว้นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเป็นที่ดินที่ไม่มี

เอกสารสิทธิ์เจ้าหนี้จะตามมายึดอีกได้หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ สุชาติ :: วันที่ลงประกาศ 2014-03-05 16:56:55 IP : 27.55.206.10


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3316720)

ที่อยู่อาศัย  ถ้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้   ก็ยึดได้ ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2014-03-05 19:02:44 IP : 1.20.162.7


ความคิดเห็นที่ 2 (3316757)

 อ่านปัญหาของคุณสุชาติแล้ว เขาไม่มีเอกสารสิทธิ์แล้วจะยึดอะไรไปหล่ะครับ. เอาอะไรไปขายทอดตลาดเอกสารก็ไม่มี

ผู้แสดงความคิดเห็น วันชัย วันที่ตอบ 2014-03-06 06:30:53 IP : 27.55.230.209


ความคิดเห็นที่ 3 (3316793)

คำท้วงติง ของความเห็นที่สอง  ก็มีเหตุผล   ที่ตอบว่ายึดได้   โดยยึดหลักว่า  แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ   แต่เมื่อครอบครองอยู่  ย่อมมีสิทธิดีกว่าบุคคลอื่น   จึงสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือไปได้   โดยเพียงการส่งมอบการครอบครอง ตาม ปพพ. ม.1378   ดังนั้นจึงน่าจะยึดได้ อย่างไรก็ตาม   คำท้วงติง  ถือว่ามีประโยชน์   เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจ  ขอขอบพระคุณ ครับ....แนวคำพิพากษา...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14737/2551
นายวิกรม วิสุทธิ์จินดาภรณ์
     โจทก์
นางละไมพร ปลอดทองสม
     
หรืออินทโชติ กับพวก
     จำเลย

 
ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1373, 1378

 
          โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนเท่านั้น หาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามความเป็นจริงไม่ แม้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จะมีชื่อ อ. เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง แต่การที่ อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ล. และได้มอบการครอบครองให้แก่ ล. ถือเป็นการสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ล. ตั้งแต่ปี 2530 แล้ว อ. จึงหมดสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 และเมื่อ ล. ขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เข้าไปไถและถมดินในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2536 จึงเป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาที่จะยึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ดังนั้น เมื่อ อ. หมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แม้การขายฝากระหว่างโจทก์ กับ อ. จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
 
________________________________
 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2379 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
          จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
          จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสอง และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2383 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นของนายอะหวัง หมะเระ มีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา ต่อมาถูกทางหลวงสายหาดใหญ่ - จะนะ ตัดผ่านและมีการรังวัดแบ่งหักเป็นทางสาธารณะเนื้อที่ 6 ไร่ 51 ตารางวา คงเหลือที่ดินเพียง 1 งาน 27 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้นายอะหวังทำสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวกับโจทก์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี และไม่ได้ไถ่คืน ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินการให้แก่โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ขอรังวัดรวมเนื้อที่ของที่ดินพิพาทกับที่ดินของจำเลยอีก 9 แปลง ตั้งแต่ปี 2539
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยทั้งสอง โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์และนายอะหวังมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ไม่สามารถขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กว้านซื้อที่ดินในบริเวณเดียวกันรวม 9 แปลง และขอรังวัดรวมเนื้อที่ของที่ดินพิพาทกับที่ดินของจำเลยอีก 9 แปลง ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า นายอะหวังได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายลอมลีตั้งแต่ปี 2530 และมอบการครอบครองให้แก่นายลอมลีไปแล้ว ต่อมาปี 2536 นายลอมลีขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และได้มอบการครอบครองที่ดินให้แล้ว จำเลยที่ 1 เข้าไปไถและถมดินในที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินของจำเลยที่ 1 อีก 9 แปลง นายอะหวังและนายลอมลีไปดูการถมดินในที่ดินพิพาทด้วยแต่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน หลังจากถมดินเสร็จจำเลยที่ 1 ได้ขอรังวัดรวมเนื้อที่ที่ดินทั้ง 9 แปลง กับที่ดินพิพาทซึ่งนายลอมลีอ้างว่าเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้แล้วโดยมีการบันทึกถ้อยคำไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด จำเลยที่ 1 จึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนโดยมีนายอะหวังซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนแรกเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า นายอะหวังได้ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกทางหลวงตัดผ่านให้แก่นายลอมลีและได้มอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่นายลอมลีแล้ว หลังจากนั้นได้มีการถมดินในที่ดินดังกล่าว นายอะหวังไปดูการถมดินในที่ดินดังกล่าวด้วยแต่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน อันเป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 สนับสนุนให้คำเบิกความของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังได้ ประกอบกับโจทก์เบิกความว่าโจทก์รับซื้อฝากหลังจากที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้มีการรวบรวมที่ดินทั้ง 9 แปลง แล้ว และโจทก์ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เนื่องจากมีที่ดินของจำเลยครอบอยู่ กับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์รับซื้อฝากเพราะต้องการดอกเบี้ยที่ได้จากการรับซื้อฝาก ไม่ต้องการที่ดิน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททางทะเบียนเท่านั้น หาได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามความเป็นจริงไม่ จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2536 แม้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จะมีชื่อนายอะหวังเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง แต่การที่นายอะหวังขายที่ดินพิพาทให้แก่นายลอมลีและได้มอบการครอบครองให้แก่นายลอมลีเป็นการสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นายลอมลีตั้งแต่ปี 2530 นายอะหวังจึงหมดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1378 เมื่อนายลอมลีขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปไถและถมดินในที่ดินพิพาทเป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาที่จะยึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และเมื่อนายอะหวังหมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แม้การขายฝากระหว่างโจทก์กับนายอะหวังจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ และสามารถรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ไม่อาจทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์และห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

 
 
( เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ - ศุภชัย สมเจริญ - สนอง เล่าศรีวรกต )
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2014-03-06 09:25:58 IP : 101.51.183.79


ความคิดเห็นที่ 4 (3316852)

 สรุปว่ายึดได้เพียงส่งมอบสิทธิการครอบครองกันเท่านั้น และผู้ที่ได้รับสิทธิ์ครอบครองก็ต้องทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องถูกต้องใช่ไหม๊ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วันชัย วันที่ตอบ 2014-03-06 11:24:23 IP : 27.55.230.209


ความคิดเห็นที่ 5 (3316940)

ใช่ครับ....     แต่การครอบครอง   ไม่ใช่หมายความว่า  ต้องอยู่อาศัยบนที่ดินนั้นตลอดไป เพียงทำประโยชน์บนที่ดิน  เช่นปลูกต้นไม้  หรือ ทำแนวเขตให้ชัดเจน   เพื่อให้บุคคลทั่วไปทราบว่ามีผู้ถือครองอยู่ ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2014-03-07 02:19:50 IP : 101.51.175.94



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.