ReadyPlanet.com


สอบถามเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กรณีนายจ้างย้ายสถานที่ประกอบการครับ


 ผมทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำมากว่า 5 ปีแล้ว แต่เมื่อเร็วๆมานี้ ทางบริษัทของผมได้มีการประกาศย้ายสถานที่ประกอบการณ์ เนื่องจากสัญญาเช่าที่เดิมหมดลง

ปัญหาก็คือ ในตอนแรกที่มีการประกาศย้าย ผมไม่ได้ขอยกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน เนื่องจากยังไม่ต้องการหางานใหม่ และสถานที่ใหม่ก็ห่างจากสถานที่เดิม จากเดิมเดินทางเที่ยวละ 10 กม. กลายเป็น 35 กม. เท่านั้น ก็เลยคิดว่าไม่น่าเป็นปัญหาในการเดินทาง ไป-กลับ คงใช้เวลาต่างจากเดิมไม่เกิน 15-20 นาที

แต่พอย้ายสถานที่ทำงานจริง ผมประสบปัญหาในการเดินทางมาก เนื่องจากผมต้องรับผิดชอบในการไปรับลูกสาวซึ่งเรียนอนุบาลอยู่ในช่วงเย็น เนื่องจากสภาพเส้นทางใหม่ในเวลาเลิกงานมีรถติดมาก ทำให้ผมไม่สามารถไปรับลูกสาวได้ตามเวลาที่โรงเรียนกำหนด ทำให้เกิดปัญหากับทางโรงเรียน ( ผมเลิกงาน 16.30 และต้องไปรับลูกสาวก่อน 17.00 ซึ่งตอนอยู่ที่เดิมก็จะไปรับได้ราวๆ 16.40-16.45 ตอนแรกผมคิดว่าอาจจะไปได้ถึงประมาณ 17.10 ไม่น่าเกินนั้น แต่พอลองเดินทางจริง ถึงเกิน 17.30 ตลอด ส่วนภรรยาผมเลิกงาน 2 ทุ่ม ไม่สามารถไปรับลูกสาวได้ แต่ช่วงเช้าที่ผมออกเช้ากว่าเดิมไม่มีปัญหา เธอไปส่งให้ได้อยู่) ตอนนี้ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ ขอออกงานก่อนเวลา ทางนายจ้างก็ไม่อนุญาต 

เพิ่งย้ายที่ทำงานได้แค่อาทิตย์กว่าๆก็ลำบากแล้ว พอคิดจะลาออกก็นึกถึงค่าชดเชย ไม่รู้ว่ายังได้อยู่หรือเปล่า รบกวนขอคำปรึกษาด้วยครับ

หากไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องหาที่เรียนใหม่ให้ลูกสาว เอาที่ใกล้ที่ทำงาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีหรือเปล่าและค่าใช้จ่ายจะเป็นอย่างไร



ผู้ตั้งกระทู้ ไก่ :: วันที่ลงประกาศ 2015-12-14 19:00:18 IP : 58.9.31.101


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3914349)

 คือ ผมสอบถามกับทางกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานแล้ว เขาก็ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน เพราะติดว่าตอนนายจ้างเขาบอก เราไม่ได้ขอเลิกจ้างภายใน 30 วัน ก็เลยอาจจะต้องเสนอคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งผมเองก็ไม่ใช่ไม่อยากทำงานที่เดิม แต่มันลำบากจริงๆ ตอนแรกไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ครับ ถ้าออกและมีค่าชดเชยก็คงออก แต่ถ้าไม่ ก็คงต้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป เพราะงานสมัยนี้หายากจริงๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ไก่ วันที่ตอบ 2015-12-14 19:05:51 IP : 58.9.31.101


ความคิดเห็นที่ 2 (3914508)

ในเมื่อคุณไม่ใช่สิทธิ  ตาม ม.120 แต่แรก  จะมาขอค่าชดเชยภายหลังคงไม่ได้  ถ้าลาออกก็คงไม่ได้ค่าชดเชย คงต้งหาทางปรับเวลาใหม่ในการรับลูก หรือย้ายโรงเรียน  ครับ

 

 

มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่นายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ ในการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วยให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘
ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา
ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสาม ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดการจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาและมีคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
เมื่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาแล้ว ปรากฏว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีคำสั่งเป็นหนังสือให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วแต่กรณี ให้แก่ลูกจ้าง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำสั่ง
ในกรณีที่คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาแล้วปรากฏว่า ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานมีคำสั่งเป็นหนังสือและแจ้งให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ
คำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานให้เป็นที่สุด เว้นแต่นายจ้างหรือลูกจ้างจะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลนายจ้างต้องวางหลักประกันต่อศาลตามจำนวนที่ต้องจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2015-12-15 08:24:51 IP : 101.51.190.113



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.