ReadyPlanet.com


รับทุนมาเรียน แต่จะขอเจรจาใช้คืน ไม่กลับ เพราะสามีขอหย่าเมื่อเรียนได้หนึ่งปี


เรียนปรึกษากฏหมายค่ะ

รับทุนมาเรียนเอก ตปท ค่ะ สามีเองก็สนันสนุนให้มาค่ะ เค้าบอกไม่ต้องห่วงลูก

และ เมื่อเรียนได้หนึ่งปี กลับเมืองไทย สามีท่าทางเปลี่ยนไป พอได้คุยกัน เค้าอยากแยกตัวออกไป แต่ปิดเทอมนั้นไม่ได้หย่า แล้วตนเองก็กลับมาเรียนต่อปีที่สอง

ระหว่างเรียนปีที่สอง นั้นคุยก็กับสามี ทางอีเมล์หรือโทรบ้าง ว่าจะเอายังไงกับลูกสองคน  ตนเองก็ยืนยันว่าลูกต้องอยู่กับตนเอง เพราะเค้าไปมีคนอื่น

พอปิดเทอมสิ้นปีที่สอง ตัวเองก็กลับเมืองไทย ทำเรื่องหย่าเสร็จ และกลับมาสอบใหญ่ของปเอก และสามีก็พาลูกบินมาส่งให้ตนเอง 
 
ตอนนี้ลูกอยู่ที่นี่ รู้สึกไม่อยากกลับไปเรียนใกล้ๆพ่อ ตนเองก็คิดว่าอยู่ที่ตปท จะดูแลลูกได้ดีกว่าอยู่กรุงเทพ เลยจะหางานและต่อรองขอแหล่งทุน ซึ่งเป็นมหาลัยเอกชน ชดใช้ทุนหนึ่งเท่าพร้อมดอกเบี้ย แทนเงินสามเท่าตามสัญญา จะมีทางต่อรองได้ไหมค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ Aree :: วันที่ลงประกาศ 2016-01-31 07:43:27 IP : 66.62.117.39


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3935419)

"ความรับผิดทางแพ่ง"

การทำสัญญาขอใช้ทุน   เพื่อการศึกษาต่อ   ส่วนมากมักจะมีเงื่อนไขว่า   ถ้าผิดสัญญา ต้องใช้ทุนคืนสามเท่า  กรณีของคุณ   ถ้าต้องการขอใช้ทุนคืนเพียงหนึ่งเท่า ที่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ (ผิดสัญญา) ก็ต้องใช้การเจรจากันเป็นหลัก  เพราะเป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น   คู่สัญญาจึงสามารถเจรจาตกลงกัน เพื่อแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสัญญาได้เสมอ  ถ้าการเจรจาลงตัวกัน ที่คู่สัญญาต่างยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย   แต่.....เรื่องแบบนี้  ก็จะมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเต็มรูปแบบ   การเจรจาที่จะให้จบลงดังที่คุณเสนอ หรือชดใช้เงินคืนเพียงหนึ่งเท่าพร้อมดอกเบี้ย  น่าจะเป็นไปได้ลำบาก   มหาวิลัยฯ  คงยึดสัญญาเป็นสำคัญ  ซึ่งคุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา  ถ้าการเจรจาไม่ได้ผล   ถ้าไม่มีการชดใช้ตามสัญญา  มหาวิทยาลัยฯ คงฟ้องทางแพ่ง  เพื่อเรียกเงินคืน  และค่าปรับสามเท่าตามสัญญา  ซึ่งคุณก็พอมีช่องทางของกฎหมาย  ในการต่อสู้คดีได้   โดยต้องยื่นคำให้การในประเด็นเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ตาม พรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540   จะเป็นเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรมจริงหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย   ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลเท่านั้น ครับ

กฎหมายที่ใช้อ้างอิง.....

พรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540

 

มาตรา ๔ ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น
ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น
(๑) ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญา
(๒) ข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
(๓) ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
(๔) ข้อตกลงให้สิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือปฏิบัติตามสัญญาในระยะเวลาที่ล่าช้าได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(๕) ข้อตกลงให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกร้องหรือกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
(๖) ข้อตกลงในสัญญาขายฝากที่ผู้ซื้อฝากกำหนดราคาสินไถ่สูงกว่าราคาขายบวกอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปี
(๗) ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดราคาค่าเช่าซื้อ หรือกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
(๘) ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าใช้จ่ายหรือประโยชน์อื่นใดสูงเกินกว่าที่ควรในกรณีที่ผิดนัดหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระหนี้
(๙) ข้อตกลงที่กำหนดวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร
ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม จะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา ๑๐ มาใช้โดยอนุโลม
มาตรา ๑๐ ในการวินิจฉัยว่าข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใดจึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง
(๑) ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
(๒) ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
(๓) เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา
(๔) การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
 
มาตรา ๑๑ ข้อสัญญาใดที่มิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ข้อสัญญานั้นเป็นโมฆะ
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2016-02-01 03:13:45 IP : 101.51.171.124


ความคิดเห็นที่ 2 (3960924)

 ขอบคุณคุณมโนธรรม มากๆค่ะ สำหรับข้อมูล

ผู้แสดงความคิดเห็น Aree วันที่ตอบ 2016-03-12 03:20:04 IP : 66.62.117.39



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.