ReadyPlanet.com


ยื่นอุทธรณ์


อยากสอบถามค่ะว่า

1. ถ้าจำเลยที่ 1   จะยื่นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ยื่น โดยดึงเวลาไว้ โดยการขอขยายอุทธรณ์ มา 3 รอบ รวม 3 เดือนแล้ว อยากถามค่ะว่าในฐานะโจทก์ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้บ้าง  หรือต้องรอไปเรื่อย ๆ คะ

2. จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นอุทธรณ์ เราจะสามารถบังคับคดีกับจำเลยรายนี้ได้เลยหรือไม่     หรือต้องรอให้จำเลยที่ 1 อุธรณ์เสร็จสิ้นก่อน จึงจะดำเนินการได้

***  จำเลยทั้งหมด ได้รับคำสั่งบังคับคดีแล้ว

ขอบคุณมากค่ะ

 



ผู้ตั้งกระทู้ ลินดา (adnilda88-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2015-12-30 14:57:46 IP : 203.144.211.229


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3920656)

1. ถ้าจำเลยที่ 1   จะยื่นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ยื่น โดยดึงเวลาไว้ โดยการขอขยายอุทธรณ์ มา 3 รอบ รวม 3 เดือนแล้ว อยากถามค่ะว่าในฐานะโจทก์ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้บ้าง  หรือต้องรอไปเรื่อย ๆ คะ

ตอบ...การให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์   เป็นดุลยพินิจของศาล  ต้องรอ....   แต่การยื่นอุทธรณ์ก็สามารถบังคับคดีได้  และการให้มีการทุเลาการบังคับคดี ต้องให้จำเลยวางเงินเป็นหลักประกัน  ตามเงื่อนไข  ป.วิแพ่ง  ม. 231

2. จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นอุทธรณ์ เราจะสามารถบังคับคดีกับจำเลยรายนี้ได้เลยหรือไม่     หรือต้องรอให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เสร็จสิ้นก่อน จึงจะดำเนินการได้

ตอบ...สามารถบังคับคดีจำเลยที่  2 ได้  เพราะไม่มีการยื่นอุทธรณ์  และขอทุเลาการบังคับคดี..

มาตรา ๒๓๑ การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนพิพากษา โดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้

    คำขอเช่นว่านั้น ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้นได้จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ถ้าภายหลังศาลได้มีคำสั่งเช่นว่านี้แล้ว ให้ยื่นตรงต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นก็ให้ศาลรีบส่งคำขอนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอไว้ ก็ให้มีอำนาจทำคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ในคำขอเช่นว่านั้น

     ถ้าผู้อุทธรณ์วางเงินต่อศาลชั้นต้นเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้จนเป็นที่พอใจของศาล ให้ศาลที่กล่าวมาแล้วงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ (๑)

     เมื่อ ได้รับคำขอเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินก็ได้ โดยมิต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้ฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งใน ภายหลัง ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ตามที่ขอ คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ยักย้ายจำหน่ายทรัพย์สินของตน ในระหว่างอุทธรณ์ หรือให้หาประกันมาให้ศาลให้พอกับเงินที่ต้องใช้ตามคำพิพากษาหรือจะให้วาง เงินจำนวนนั้นต่อศาลก็ได้ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ศาลจะสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์นั้นก็ได้ และถ้าทรัพย์สินเช่นว่านั้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ศาลอาจมีคำสั่งให้เอาออกขายทอดตลาดก็ได้ ถ้าปรากฏว่าการขายนั้นเป็นการจำเป็นและสมควร เพราะทรัพย์สินนั้นมีสภาพเป็นของเสียได้ง่ายหรือว่าการเก็บรักษาไว้ใน ระหว่างอุทธรณ์น่าจะนำไปสู่ความยุ่งยากหรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5621/2548
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทกับให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยให้จำเลยที่ 1 วางเงินประกันค่าเสียหายภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาวางเงิน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ คดีที่จำเลยที่ 1 ขอทุเลาการบังคับอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การขอขยายระยะเวลาวางหลักประกันเป็นเรื่องต่อเนื่องกับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ที่สั่งเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3391/2545
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับไว้ชั่วคราวจนกว่าจะ มีคำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลย แปลได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้เป็น การชั่วคราว ซึ่งศาลชั้นต้นอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้งดการบังคับคดีได้ตามที่เห็นสมควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) แต่การบังคับคดีนั้นงดได้เฉพาะการบังคับคดีที่ยังไม่ได้กระทำหรือที่จะ ต้องกระทำต่อไป จะงดการบังคับคดีที่ได้ปฏิบัติมาแล้วไม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการยึดทรัพย์บางส่วนมอบให้โจทก์ถือว่า การบังคับคดีในส่วนนี้เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้งดการบังคับคดีในส่วนนี้ ส่วนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้ยึด ศาลชั้นต้นมีอำนาจให้งดการบังคับคดีได้


 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2015-12-31 04:18:10 IP : 101.51.164.15



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.