ReadyPlanet.com


รบกวนปรึกษาเรื่องกฎหมายที่ดิน นส2 ค่ะ


 สวัสดีค่ะ รบกวนปรึกษาเรื่องกฎหมายหน่อยค่ะ พอดีที่บ้านมีที่ดินอยู่ 1ผืน เป็น นส.2  ถือครองทำกินมานานแล้ว แต่นส2 ตัวนี้ยังเป็นชื่อเจ้าของเก่าอยู่ ซึ่งสมัยก่อนที่บ้านได้ทำการซื้อขายกัน นอกรอบ แล้วไม่สามารถโอนเปลี่ยนชื่อได้ จนกว่าจะเป็นโฉนด เจ้าของเก่าไม่ได้เข้ามาวุ่ยวายอะไรตั้งแต่ซื้อขายเลย เป็นที่รับรู้กัน  ถือแต่ใบ นส 2 ไว้ นานจนเจ้าเก่าเสียชีวิต แล้วตอนนี้มาถึงรุ่นลูกอยากทำให้มันถูกต้อง เผื่อที่ได้โอนเปลี่ยนเจ้าของได้  โดยตั้งลูกสาวเจ้าของเก่าเป็นผู้จัดการมรดก แล้วโอนจากชื่อคนตายเป็นของลูกสาวเค้า เผื่อเอาที่ดินไปขอออกโฉนด ตอนนี้รางวัดเรียบร้อยแล้ว รอผลอย่างเดียว จากนั้นทนายเราให้ทำสัญญาซื้อขายกับลูกสาวเค้า ในอีก 10 ปีข้างหน้า หลังจากออกโฉนด  เค้าถึงทำการโอนเป็นชื่อเราได้ มันนานมาก คำถามคือเรากลัวว่าถ้าลูกสาวเค้าเสียชีวิตก่อนในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนโอนคืนให้เรา สัญญาที่เราทำซื้อขายไว้กับเค้าจะมีผลต่อไปมั้ย ถ้าวันนึงลูกเค้าไม่ยอมโอนให้เรา เราจะทำอะไรได้มั้ย สัญญาซื้อขายตัวนี้สามารถเอาไปสู้คดีกับเค้าได้หรือเปล่าค่ะ กังวลใจมากค่ะ เพราะลูกสาวเจ้าของเก่าอายุมากแล้ว  อีกอย่างถ้าไม่มีปัญหาอะไรหลังได้โฉนดมา ทางเราต้องมาทำเรื่องฟ้องขับไล่ญาติตัวเองในที่ดินผืนนี้อีก เค้ามาขออาศัยทางบ้านเห็นว่าญาติกันเลยให้อยู่มากกว่า 10 ปี เค้าเลยถือสิทธิ์ครอบครัวไปประมาณ 2-3 ไร่ เคยฟ้องขับไล่กัน แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะที่ดินยังเป็น นส2 ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย รบกวนขอคำแนะนำน่อยนะคะ เพราะ ทนายที่จ้างมาน่าจะรู้ว่า นส2 ฟ้องขับไล่ไม่ได้ แต่ยังให้เราฟ้อง สู้คดีเป็นปี ผลออกมาก็แพ้ เค้าก็อยู่บนที่เราสบายเหมือนเดิม  เลยไม่อยากเชื่อทนายตัวเองเท่าไร เลยอยากมาหาข้อมูลเพิ่มค่ะ เผื่อมีจุดอ่อนตรงไหนจะได้แก้ไขทัน ขอบคุณล่วงหน้านะคะ



ผู้ตั้งกระทู้ rumniya (rummyy_69-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2016-02-07 09:48:17 IP : 50.177.132.229


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3939076)

"ใบจอง"

ถ้าใบจองออกหลัง 15 ธันวาคม 2515  เมื่อออกเป็นโฉนด  ห้ามโอน ภายใน 10 ปี.....กรณีของคุณน่าจะใช้สิทธิตาม ป.ที่ดิน ม.58 ทวิ (3) เพื่อขอออกโฉนดที่ดินได้ ค่อยๆอ่าน  ทำความเข้าใจ  คงมีช่องทางทำได้....  ส่วนเรื่องทนาย  อย่าให้พูดเลย  ก็ไปคิดเอาเอง ครับ

ประมวลกฎหมายที่ดิน.........

 

มาตรา ๓๑ โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
(๒) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่น ๆ เนื่องจากการจัดที่ดิน ห้ามโอนภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
 
มาตรา ๕๘ ทวิเมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา ๕๘ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(๑) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
(๒) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี
(๓) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอบและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (๒) และ (๓) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (๓) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2016-02-07 14:55:30 IP : 101.51.191.164


ความคิดเห็นที่ 2 (3939142)

 ขอบคุณมากค่ะ จะลองประสานงานกับทางกรมที่ดินดู พอดี นส 2ติดเขตป่าสวงน เลยอาจเวลานานในการออกโฉนด แต่หลังจากได้โฉนดแล้ว ภายในระยะเวลา 10 ปี สัญญาซื้อขายที่ทำไว้จะหมดอายุความมั้ยค่ะ ส่วนตัวกังวลใจตรงนี้มากว่าถ้าทางเจ้าของเสียชีวิตก่อนโอน สัญญาจะเป็นโมฃะ

ผู้แสดงความคิดเห็น rumniya วันที่ตอบ 2016-02-07 20:58:39 IP : 50.177.132.229


ความคิดเห็นที่ 3 (3939196)

"สัญญาเป็นโมฆะ"

ถ้าใช้ช่องทางตาม ม.58 ทวิ (3)  คุณจะได้โฉนดที่ดินในนามของคุณผู้ครอบครอง   แต่ถ้าให้ทายาทของผู้มีใบจอง ออกโฉนดที่ดิน  ก็ต้องติดเงื่อนไขห้ามโอนภายใน 10 ปี  แม้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้  สัญญานั้นอาจเป็นโมฆะ  เพราะทำขึ้นในช่วงที่มีการห้ามโอน  ครับ

....แนวคำพิพากษาเทียบเคียง...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393/2525

 

ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 มีเจตนารมณ์จะปกป้องราษฎรให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี ดังนั้น การที่โจทก์กับผู้มีสิทธิ ในที่ดินทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยส่งมอบ การครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน แม้จะเรียกว่าสัญญาจะซื้อขายและระบุในสัญญาว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญานี้จึงเป็นโมฆะ และถึงแม้ต่อมา จะมีการยกเลิกความในมาตรา 31 มิให้ใช้บังคับกับที่ดินในคดีนี้ ก็ตามก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ได้อีก


โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นทายาทของนายเคน นายเคนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ซึ่งออกตามใบจองลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2515 ให้โจทก์ โดยนายเคนรับเงินจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา นายเคนสัญญาว่าจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์ทันทีเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 และได้ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์เข้าครอบครองทำกินมา 6 ปีแล้ว เนื่องจากมีพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2521 ทำให้ที่ดินที่ซื้อขายสิ้นสภาพการถูกห้ามโอนกรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์

 

จำเลยให้การว่า นายเคนขายฝากที่พิพาทไว้กับโจทก์แต่ไม่สามารถจดทะเบียนการขายฝากได้เพราะถูกห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 จึงได้ทำเป็นสัญญาจะซื้อขายไว้ต่อกัน สัญญานั้นทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝากจึงเป็นโมฆะ และสัญญาจะซื้อขายนี้ที่หลีกเลี่ยงกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง

 

วันชี้สองสถาน คู่ความขอให้ศาลชี้ขาดประเด็นเพียงข้อเดียวว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่เป็นข้อแพ้ชนะโดยไม่สืบพยาน

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชี้แจ้งโดยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินรายพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2516 ตามใบจองลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2515 และมีข้อกำหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 ซึ่งบทบัญญัติของมาตรานี้ เห็นเจตนารมณ์ได้ว่าประสงค์จะปกป้องราษฎรได้สิทธิในที่ดินให้มีที่ดินไว้ทำกินเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี จะจำหน่ายจ่ายโอนด้วยประการใด ๆ มิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแม้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธินำที่ดินไปเพื่อบังคับชำระหนี้ ดังนั้น การที่โจทก์กับนายเคนผู้มีสิทธิในที่ดิน ทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะเรียกว่าสัญญาว่าจะซื้อขายมีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายนี้จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่เดิม โดยมิให้ใช้บังคับกับการได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 ที่ได้ออกให้ก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2515 ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก

 

พิพากษายืน

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2016-02-08 01:24:34 IP : 101.51.164.208


ความคิดเห็นที่ 4 (3939211)

 ขอบคุณมากค่ะ คุณมโนธรรม เราได้ให้ทายาทผู้ถือใบจองเป็นคนออกโฉนดให้ค่ะ ตามที่ทนายเราบอก เพราะทางไม่มีความรู้ทางกฎหมายเลย เราคิดว่าเค้าจะช่วยให้ง่ายขึ้น แต่เหมือนผูกปมขึ้นมาอีก ไม่ทราบพอจะมีทางช่วยเหลือบ้างมั้ยค่ะ ถ้าคุณมโนธรรมมีทนายแถวเพชรบูรณ์แนะนำ ระบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณอย่างสูงค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น รัมนิยา วันที่ตอบ 2016-02-08 06:19:38 IP : 50.177.132.229



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.