ReadyPlanet.com


ปรึกษาเรื่องการฟ้องหย่า


 เป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย แต่วันนึงฝ่ายภรรยาระแคะระคายว่าสามีเริ่มไปติดพันกับหญิงอื่น โดยเริ่มสังเกตจากการใช้มือถือที่โทรหาเบอร์เดิมๆ ในยามวิกาล ระยะหลังๆ รู้จักที่จะลบเบอร์มือถือที่โทรเข้า-ออก ถ้ามันเกิดแบบนี้แล้วฝ่ายภรรยาสามารถทำได้อย่างไรคะ ดิฉันไม่ได้ต้องการไกล่เกลี่ยใดๆ ทั้งสิ้นนะคะ และก็ไม่อยากรอจนถึงว่าสามีของตัวเองไปมีอะไรกับหญิงอื่น แต่อยากขอคำปรึกษาว่าถ้าเค้าทั้ง 2 คน คุยโทรศัพท์กันแล้วสื่อไปในทางชู้สาวได้ดิฉันฟ้องสามีกับชู้ได้มั้ยคะ และดิฉันจะมีวิธีการใดที่จะเอาหลักฐานการพูดคุยนี้มาดำเนินคดี เพราะดิฉันก็ทราบว่าการใช้วิธีการดักฟังโทรศัพท์มันไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ขอได้โปรดช่วยแนะนำให้ทีค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ยิ้ม :: วันที่ลงประกาศ 2015-09-21 22:43:32 IP : 119.76.70.169


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3873724)

ถ้าเพียงหลักฐานการพูดคุยทางโทรศัพท์   คงใช้เป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้    ถ้าต้องการหย่า หลักฐานการเป็นชู้   คงหาได้ลำบาก เพราะเรื่องแบบนี้  มักทำกันในที่ลับ  ถ้าจ้างนักสืบ   ก็คงไม่น้องกว่า 4-5 หมื่นบาท.... ก็ควรตกลงเจรจากันดีๆ และไปจดทะเบียนหย่า  ถ้าตกลงกันไม่ได้   ก็ใช้วิธีสมัครแยกกันอยู่สามปี  ก็ใช้เป็นเหตุฟ้องหย่าได้  เวลาสามปี  ที่แยกกันอยู่  คงได้ข้อคิดอะไรมากมาย  คงสามารถตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเด็ดขาดได้  ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม (konnatham93-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2015-09-22 09:31:47 IP : 101.51.167.68


ความคิดเห็นที่ 2 (3873738)

 ขอบคุณมากนะคะ และขอรบกวนถามเพิ่มเติมอีกนิดนึงค่ะ ว่าถ้าสมัครใจแยกกันอยู่ คือ ดิฉันมีบ้าน 2 หลัง ถ้าให้ตัวผู้ชายอยู่บ้านอีกหลังส่วนดิฉันก็อยู่บ้านอีกหลังนึง ทีนี้ถ้าในระหว่างที่แยกกันอยู่ฝ่ายผู้ชายจะเอาผู้หญิงอื่นเข้าบ้าน แล้วตัวดิฉันจะต้องทำอย่างไรคะ บ้านหลังที่ดิฉันบอกนี้มีชื่อดิฉันกับสามีเป็นเจ้าของ เป็นบ้านที่สร้างขึ้นจากน้ำพรรคน้ำแรงมาด้วยกันค่ะ ถ้าในขั้นตอนที่เราเจรจาเรื่องแยกกันอยู่ ดิฉันสามารถทำข้อตกลงใดๆ ทางกฎหมายได้มั้ยคะ และขอถามอีกข้อนะคะ ในระหว่างที่สมัครใจแยกกันอยู่นี้ คือ ในระหว่าง 3 ปี ถ้าดิฉันมีหลักฐานของการมีชู้ ดิฉันสามารถดำเนินการฟ้องหย่าได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 3 ปี เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น ยิ้ม วันที่ตอบ 2015-09-22 09:56:58 IP : 49.229.80.143


ความคิดเห็นที่ 3 (3874265)

การสมัครใจแยกกันอยู่   ในทางปฏิบัติ    สามีภรรยามักไปโรงพัก  ให้ตำรวจบันทึกประจำวันไว้  ทำนองเป็นสัญญาว่า จะแยกกันอยู่ ตั้งแต่วันที่....(ระบุ)  และขอถ่ายสำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจมาเก็บไว้คนละชุด หรือทำสัญญาประนีประนอมระบุว่า จะสมัครใจแยกกันอยู่ก็ได้  แต่การแยกกันอยู่คนละบ้าน   ถ้าฟ้องหย่า ศาลอาจไม่ถือว่า เป็นการสมัครใจแยกกันอยู่ก็ได้  เพราะสามีภรรยาต่างก็เป็นเจ้าของบ้าน  ต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวในฐานะสามีภรรยากัน เป็นเวลา สาม ปี....ส่วนกรณีที่แยกกันอยู่  ถ้าฝ่ายใดมีชู้   อีกฝ่ายก็ฟ้องหย่าได้เสมอ ไม่ต้องรอให้ครบสามปี ถ้ามีหลักฐานชัดเจน ครับ

..ได้ยกแนวคำพิพากษาศาลฎีกา  ที่เทียบเคียงของคุณ  มาให้พิจารณาดู  บางทีการหย่า  ก็ทำไม่ได้ง่ายๆ   ถ้าตกลงไปหย่าได้อง จะดีที่สุด  ครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2541
นาย ลำ ด วน สังข์ เงิน
     โจทก์
นาง บัง อร สังข์ เงิน
     จำเลย

 
ป.พ.พ. มาตรา 10, 171, 850, 852, 1516(4/2)

 

          บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรงโดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะ ไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกัน และโจทก์ยอมจ่ายเงิน ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ กับโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่ โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่อง ที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้น แม้จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์จำเลย ก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลย นับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ ก็ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะ แยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้
 
________________________________
 

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขตลอดมาเป็นเวลาเกินสามปีแล้ว ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

          จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยต้องแยกกันอยู่เนื่องจากโจทก์มีภริยาใหม่ ละทิ้งให้จำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรแต่ลำพังผู้เดียวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 ปี ในปี 2535 จำเลยมีหนังสือไปถึงโจทก์เพื่อให้โจทก์หย่ากับจำเลยและชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรโดยจำเลยประสงค์จะดำเนินการฟ้องหย่ากับโจทก์และดำเนินคดีโจทก์ฐานแจ้งความเท็จที่โจทก์จดทะเบียนสมรสซ้อนกับภริยาคนใหม่ด้วยโจทก์กับจำเลยตกลงกันไม่ได้เรื่องการหย่า แต่โจทก์กลัวจะได้รับโทษทางอาญาจึงตกลงประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยทำบันทึกข้อตกลงกันขึ้นซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าจะสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายทิ้งร้างไปจากจำเลยอยู่แล้วเพียงแต่บันทึกยินยอมที่โจทก์จะชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเท่านั้นหลังจากนั้นโจทก์ส่งเงินให้บุตรเพียงบางเดือนแล้วไม่ได้ส่งให้อีกเลย จำเลยมิได้สมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 เป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรง โดยเฉพาะในข้อ 1 ซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกันและโจทก์ยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้ประเด็นเรื่องการหย่าซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นอกจากนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความใดระบุว่า จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ หรือแปลสาเหตุการทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ว่าเกิดจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันด้วยเหตุที่โจทก์ได้นางบุญทยาเป็นภริยาอีกคนหนึ่งจนจำเลยประสงค์จะหย่าจากโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้นแม้จะได้ความจากจำเลยว่า จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์จำเลยก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไปอยู่กับนางบุญทยาเช่นเดิมโดยจำเลยไม่ติดใจเรื่องหย่ากับโจทก์หรือฟ้องร้องนางบุญทยาตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น และในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อใดที่ระบุห้ามมิให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยนับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้นซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้ มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) ได้

          พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

 
 
 
( ชวลิต ธรรมฤาชุ - สะสม สิริเจริญสุข - สมคิด ไตรโสรัส )
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2015-09-23 09:50:18 IP : 101.51.187.33


ความคิดเห็นที่ 4 (3874623)

เคยพบครับข้าราชการมีชู้เหตุการณ์แบบนี้ก็ไปคุยกันที่โรงพักและเก็บข้อตกลงที่เขียนไว้ในบันทึกประจำวันเพื่อป้องกันตนเองเพื่่อว่าหากมีหนี้สิน ที่อีกฝ่ายไปก่อขึ้นมาส่วนการหย่าร้างกันต้องใช้หลักฐานครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้ผ่านทาสง วันที่ตอบ 2015-09-23 19:06:47 IP : 125.26.55.114


ความคิดเห็นที่ 5 (3875476)

 ขอบคุณทั้งสองท่านมากๆ เลยนะคะ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ยิ้ม วันที่ตอบ 2015-09-25 13:03:53 IP : 49.229.86.134



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.