ReadyPlanet.com


ปัญหาการซื้อขายรถจักรยานยนต์


ขอเรียนถาม

ในกรณีที่ซื้อรถจักรยานยนต์ฮอนด้าเงินสดจากผู้จำหน่ายได้ใบเสร็จรับเงินมาเรียบร้อยแล้ว พอขอเอกสารจะไปจดทะเบียนทางร้านอ้างว่า 1.เอกสารยังไม่มา

2.พนักงานแผนกนี้ลาออก

3.เอกสารหาย และท้ายสุดบอกว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มเนื่องจากราคาที่ขายขาดทุน

เคยขอความเป็นธรรมไปที่เอ.พี.ฮอนด้า ตอนแรกรับปากว่าจะให้ผู้จำหน่ายแจ้งหายแล้วส่งให้ พอต่อมาบอกว่าผู้จำหน่ายบอกว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ให้ผู้ซื้อดำเนินการฟ้องร้องเอง

ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้ควรจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าฟ้องร้อง ผู้ใช้รถต้องเดือดร้อนมาก ต้องเสียเงิน+เวลา แล้วเท่ากับถูกหลอกให้ซื้อ

                                       ขอบคุณมาก

 



ผู้ตั้งกระทู้ ผู้ใช้รถฮอนด้า :: วันที่ลงประกาศ 2005-05-16 15:41:15 IP :


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (108899)

กรณี ลักษณะนี้ เจอ ผู้ประกอบการที่ชอบเอาเปรียบลูกค้า แล้วละครับ ตามความเป็นจริง ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง เรียกเงินคืน เนื่องจาก ไม่สามารถนำรถ ไปจดทะเบียนได้ เพราะ รถจักรยานยนต์ ไม่จดทะเบียน ก็ไม่สามารถนำมาวิ่งในถนนได้  ต้องบอกเลิกสัญญา และไปฟ้องคดีต่อศาล  แต่ เป็นคดีแพ่ง นะครับ  ใช้เวลาดำเนินคดีนานสักหน่อย  และต้องเสียค่าใช้จ่าย ด้วย

พอดี เคยเจอคำพิพากษาฎีกา อยู่เรื่องหนึ่ง คล้ายๆ กัน คือ คนขาย ไม่ยอมจดทะเบียนโอนรถ ให้แก่ผู้ซื้อ แต่กลับไปโอนให้อีกคนหนึ่ง  ผู้ซื้อเลยแจ้งให้ตำรวจดำเนิน เป็นคดีอาญา ข้อหา เอาไปเสียซึ่งเอกสาร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และในที่สุด ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้พิพากษาให้ลงโทษ จำเลยในคดีดังกล่าวครับ เลยเอามาให้ดูเป็นตัวอย่าง เผื่อ จะได้มีแนวทางดำเนินคดีกับ ผู้ประกอบการที่มินิสัย แบบนี้บ้าง

 

 

มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือ

ไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย

แก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

898/2537

โจทก์ พนักงานอัยการ กรมอัยการ

โจทก์ร่วม บริษัทกรุงไทยบิสซิเนส จำกัด

จำเลย นายวิบูลย์ สุธนะดิลก

อาญา รอการลงโทษ เอาเอกสารของผู้อื่นไป (มาตรา 56, 188)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

และคืนของกลางให้แก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้น

อนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย

อาญามาตรา 188 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ

โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเอาเอกสารเกี่ยวกับ

การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ท-6712

กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วม และปรากฏต่อมา

ว่า จำเลยได้นำเอกสารดังกล่าวไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่นาย

วิวัฒน์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเอาเอกสารของโจทก์ร่วมไปโดย

ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

และศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์

พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็น

ควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย

แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม

ที่ขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุก

ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2, 30 นอก

จากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

(ประยูร มูลศาสตร์ - ก้าน อันนานนท์ - ประสิทธิ์ แสนศิริ)

*หมายเหตุ คดีนี้ศาลพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดและพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปีแล้ว

แต่โทษจำคุกศาลรอการลงโทษไว้ การที่กฎหมายให้อำนาจศาลรอการลงโทษจำเลยได้

เพราะเป็นวิธีการที่ศาลนำมาใช้เพื่อหลักเลี่ยงโทษจำคุกระยะสั่นแก่จำเลย เนื่องจาก

การลงโทษจำคุกจำเลยดังกล่าวบางครั้งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าผลดี นอกจากนี้

กฎหมายอาญาของไทยยังได้นำระบบคุมประพฤติจำเลยมาใช้ตามมาตรา 56, 57, 58

เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่จำเลย แต่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดคิดว่าศาลยังไม่ลงโทษจำเลย

หรือลงโทษจำเลยเบาไป

อย่างไรก็ดี ความผิดที่ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดนั้นกฎหมายกำหนด

โทษจำคุกและปรับด้วย การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยด้วยย่อมกระทำได้ ฎีกาที่ 1737/2525

คดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ และไม่มีโทษปรับ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ถ้าศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุก ก็อาจลงโทษ

ปรับจำเลยด้วยได้ และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยให้หนักขึ้นด้วย ฎีกาที่1366/2533

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ปรับ

ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์ให้รอการลงโทษจำคุกและลงโทษ

ปรับจำเลยด้วยนั้น มิใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ดังนั้นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นก็เพราะศาลฎีกา

ไม่ได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

พฤตินัย ทัศนัยพิทักษ์กุล

ผู้แสดงความคิดเห็น ปมุข 0-1820-2236 วันที่ตอบ 2005-05-16 21:55:58 IP :



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.