ReadyPlanet.com


โดนหลอก


ถ้าผู้ชายที่เคยเป็นแฟนเราคบกันมานานหลายปี แอบไปแต่งงานกับหญิงอื่นโดยไม่ได้บอกเรา เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ฯลฯ และทำตัวหายหัวไปเฉย ทำให้เราต้องคอยตอบคำถามคนอื่นที่สงสัยว่าทำไมไม่แต่งกับเรา ทั้งที่ๆเรา2คนก็เคยประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่าจะแต่งกันอีกไม่นานนี้ หลังจากฝ่ายบวช  อย่างนี้ผู้ชายทำให้เราและครอบครัวเสียชื่อเสียงรึเปล่า แล้วมีทางไหนบ้างที่จะเอาผิดเค้าได้ เนื่องจากเราต้องอับอาย ไม่สามารถกลับบ้านที่ ตจว.ได้เลยไม่อยากตอบคำถามใครอีก รบกวนช่วยแนะนำด้วยค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ อยากรู้จริงๆ :: วันที่ลงประกาศ 2005-03-16 22:06:49 IP :


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (75243)

กรณีปัญหาแบบนี้ เกิดขึ้นบ่อยครับ จะเอาผิดฝ่ายชาย ได้กรณีเดียว คือ "การผิดสัญญาหมั้น "  คือ มีการตกลงว่า จะทำการสมรส แล้วผิดข้อตกลง ทำให้ฝ่ายหญิงต้องได้รับความเสียหาย  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ จะต้องใช้หลักฐานคือ ของหมั้น จะเป็นอะไรก็ได้ครับ ขอให้เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิงไว้ เป็นหลักฐานว่า จะทำการสมรสด้วย 

การดำเนินคดีฐานผิดสัญญาหมั้นนี้ เป็นการดำเนินคดีแพ่ง คงเรียกร้องได้เพียงแต่ค่าเสียหาย ที่ฝ่ายหญิงสามารถพิสูจน์ได้ความเสียหายได้เท่านั้น  ครับ

แต่โดยทั่วไปแล้วในการดำเนินคดีฝ่ายหญิงมักจะเสียเปรียบครับ และมักจะไม่คุ้มที่จะต้องดำเนินคดี

คำพิพากษาฎีกาที่ 4905/2543

โจทก์ นางสาวภาวินี เพ็งศาสตร์

จำเลย นายยุทธชัย ทองประเสริฐ

แพ่ง การหมั้น อายุความ (มาตรา 1437,1447/1)

วิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาไม่เกินคำฟ้อง (มาตรา 142)

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยทำสัญญาหมั้น

กับโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วง แก่โจทก์ เป็นหลักฐาน

ว่าจะสมรสกับโจทก์ หลังจากโจทก์กับจำเลยหมั้นกันแล้ว โจทก์เชื่อว่า

โจทก์และจำเลยได้สมรสกัน โจทก์จึงยอมให้จำเลยมีความสัมพันธ์กับ

โจทก์ถึงขั้นร่วมประเวณีกัน และแสดงออกจนเพื่อนบ้านและบุคคล

ทั่วไปในบริเวณที่พักเข้าใจว่าโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์

และจำเลยกำหนดจะจัดพิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 แต่

กำหนดการดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป ต่อมาจำเลยผิดสัญญาหมั้นไป

สมรสกับหญิงอื่นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ทำให้โจทก์ได้รับ

ความเสียหายแก่กายและชื่อเสียง โดยโจทก์มีญาติพี่น้องและครอบครัว

ที่มีเกียรติยศ โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาโท รับราชการในตำแหน่ง

เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เป็นอาจารย์พิเศษในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อาจารย์พิเศษคณะพัฒนา

สังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีตำแหน่งหน้าที่พิเศษ

อีกมากมาย โจทก์คิดค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงเป็นเงิน 2,000,000

บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยหมั้นกับโจทก์ โจทก์ซื้อแหวนเรือนทอง

ฝังเพชรตามฟ้องให้แก่ตนเอง จำเลยไม่เคยสัญญาว่าจะจัดพิธีสมรส

กับโจทก์ กำหนดการพิธีมงคลสมรส โจทก์กำหนดขึ้นเองและบังคับให้

จำเลยทำการสมรส แต่โจทก์ยกเลิกกำหนดการดังกล่าว มิใช่เลื่อนออกไป

โจทก์กับจำเลยไม่เคยมีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณี โจทก์จึงไม่มี

สิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย หากจำเลยผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์

ได้รับความเสียหายค่าเสียหายก็ไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ฟ้องคดีนี้

เกิน 6 เดือน นับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์กำหนดจะทำการสมรสกับ

จำเลย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่บรรยายรายละเอียด

เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ทำการหมั้น วันเวลาและสถานที่ที่จะทำการ

สมรส รวมทั้งรายละเอียดความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงพอที่จะทำ

ให้จำเลยเข้าใจได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม อีกทั้งโจทก์ไม่บอกกล่าว

ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนค่าเสียหายแก่โจทก์

เป็นเงิน 200,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหาย

แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว

ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลย

ต่างทำงานอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ด้วยกัน และรู้จักกัน

ตั้งแต่ปี 2523 เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536 จำเลยร่วมไปกับโจทก์เพื่อ

ซื้อแหวนเรือนทองฝังเพชร 1 วง ราคา 4,000 บาท ซึ่งแหวนวงดังกล่าว

อยู่ในความครอบครองของโจทก์ ต่อมามีการกำหนดการสมรสกันในวันที่

11 พฤศจิกายน 2537 แต่เมื่อถึงกำหนดโจทก์จำเลยมิได้มีการสมรส

กันตามกำหนดดังกล่าว ต่อมาจำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์

หญิงนวลรัตน์ จิตตินันทน์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ปัญหาแรก

ที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ใน

ปัญหานี้เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนกันยายน 2536

จำเลยตกลงหมั้นโจทก์โดยมอบแหวนเรือนทองฝังเพชรให้แก่โจทก์ 1

วง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับโจทก์ต่อไปในอนาคต กำหนดจัด

พิธีสมรสในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 แต่มีการเลื่อนไป จนเมื่อวันที่

19 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกลับเข้าสู่พิธีสมรสกับหญิงอื่นเป็นการ

ผิดสัญญาหมั้น โจทก์เชื่อว่าจำเลยจะทำการสมรสกับโจทก์ในอนาคต

จึงยอมให้โจทก์มีความสัมพันธ์ถึงขั้นร่วมประเวณี การที่จำเลยผิด

สัญญาหมั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียง ขอเรียก

ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยาย

โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่

อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา

ความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยหมั้นโจทก์

และผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์เบิกความว่า โจทก์และ

จำเลยเป็นคนรักกัน จำเลยขอหมั้นโจทก์โดยจำเลยพาโจทก์ไปซื้อแหวน

เรือนทองฝังเพชร แล้วมอบให้โจทก์ที่ร้านที่ซื้อ จำเลยพูดว่า "ผมจอง

คุณแล้วนะ ผมเป็นเจ้าของคุณแล้วนะ" การหมั้นมิได้จัดทำพิธีตามประ

เพณีเนื่องจากจำเลยอ้างว่ายังตกลงกับมารดาของจำเลยไม่ได้ หลัง

จากนั้นก็มีการกำหนดวันทำพิธีสมรสจำเลยได้มาสู่ขอโจทก์กับมารดา

โจทก์ มีการจองสถานที่จัดงานทำพิธีสมรสที่ภัตตาคารบ้านคุณหลวง

พิมพ์บัตรเชิญงานสมรสปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9 จ.5 และ

จ.6 ในการที่จะจัดทำพิธีสมรสครั้งนี้ จำเลยไปเรียนเชิญศาสตราจารย์

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒน

บริหารศาสตร์ขณะนั้น ให้เป็นเจ้าภาพและประธานในพิธี มารดาโจทก์

นำบัตรเชิญงานสมรสไปแจกให้แก่บรรดาญาติของโจทก์ แต่เมื่อถึง

กำหนดวันจัดงานทำพิธีสมรส จำเลยขอเลื่อนออกไปโดยบอกกับโจทก์

ว่า มารดาจำเลยไม่สบาย แต่ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 จำเลย

ทำการสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์ จิตตินันทน์ ซึ่งโจทก์

มีศาตราจารย์ปุรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า

จำเลยมาพบพยานและแจ้งความประสงค์ว่าจะขอให้พยานเป็นเจ้าภาพ

ในพิธีสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยไม่มีปัญหากับทาง

ญาติผู้ใหญ่ของจำเลย ในที่สุดเมื่อพูดคุยกันแล้วพยานก็ไม่ขัดข้องที่จะ

เป็นเจ้าภาพให้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาววิมลรัตน์ เพ็งศาสตร์ ซึ่ง

เป็นน้องสาวโจทก์มาเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากโจทก์และจำเลย

หมั้นกันแล้ว จำเลยมาที่บ้านโจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์หยิบแหวนหมั้น

ออกมาให้บุคคลในครอบครัวของโจทก์ดู โดยจำเลยพูดว่าหมั้นกับโจทก์

แล้ว จากคำเกความของพยานโจทก์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีทั้งพยาน

บุคคลและพยานเอกสารมานำสืบประกอบกัน อีกทั้งจำเลยเองก็เบิกความ

ยอมรับว่า จำเลยไปบอกกับบิดามารดาของจำเลยว่าจะจัดงานพิธีมงคล

สมรสกับโจทก์ประมาณเดือนกันยายน 2537 และนางอารีย์ ทองประเสริฐ

มารดาจำเลยซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยมาที่

บ้านของจำเลยเพื่อขออนุญาตจัดพิธีสมรส แต่พยานไม่อนุญาต ซึ่งคำ

เบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวเป็นการเจือสมกับข้อนำสืบของ

โจทก์ที่ว่า เมื่อมีการหมั้นกันแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยก็เตรียมที่จะจัด

งานสมรสกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักที่จะรับฟังมาก

กว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ที่จำเลยซื้อ

แหวนเรือนทองฝังเพชรมอบให้โจทก์ก็ดี ตลอดจนการจองสถานที่จัด

งานพิธีสมรสแลพิมพ์บัตรเชิญงานสมรส รวมทั้งการติดต่อผู้ใหญ่ให้มา

เป็นเจ้าภาพในงานพิธีสมรสก็ดี ล้วนส่อแสดงว่าจำเลยประสงค์จะสมรส

กับโจทก์ การให้แหวนกันดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการหมั้นและเพื่อเป็น

หลักฐานว่าจะมีการสมรสกันในเวลาต่อมา แม้การหมั้นจะมิได้จัดพิธีตาม

ประเพณีหรือมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันเป็นสักขีพยานก็ตาม ก็เป็น

การหมั้นโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วตามนัยประมวลกฎหมายแพ่ง

และพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อมีการหมั้นระหว่างโจทก์

และจำเลยแล้ว จำเลยกลับไปสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิงนวลรัตน์

โดยมิได้สมรสกับโจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ปัญหาที่ต้อง

วินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ในปัญหานี้เห็นว่า โจทก์จำเลยกำหนดจัดงานพิธีสมรสกันในวันที่ 11

พฤศจิกายน 2537 แต่พอถึงเวลาดังกล่าวไม่มีการจัดงานพิธีสมรส ใน

เรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของศาสตราจารย์ปุรชัยว่าได้สอบถาม

แล้วจำเลยบอกขอเลื่อนเนื่องจากมารดาจำเลยป่วยไม่อยากให้มารดา

จำเลยสะเทือนใจ และจำเลยยืนยันว่ายังรักโจทก์อยู่ นอกจากนี้ยังได้

ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า จำเลยเพียงแต่ขอเลื่อนไปเพื่อทำ

ความเข้าใจกับมารดาของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์จำเลยก็ยังมีความ

สัมพันธ์กันเหมือนเดิม จึงเห็นได้ว่าแม้จะมิได้มีการสมรสกันในวันที่

กำหนด แต่โจทก์และจำเลยก็ยังมีความประสงค์ที่จะสมรสกันอยู่เพียง

แต่มีการเลื่อนไปเท่านั้น โดยทั้งสองยังมีความสัมพันธ์กันด้วยดีตลอดมา

ในช่วงนั้นยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 19

พฤศจิกายน 2539 จำเลยจัดงานพิธีสมรสกับพันโททันตแพทย์หญิง

นวลรัตน์ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์นับแต่วันดังกล่าว

เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน ฟ้องโจทก์จึง

ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1447/1

วรรคหนึ่ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ศาล

อุทธรณ์มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพิ่มจาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่

เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 200,000

บาท แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องจำนวนค่าเสียหายสำหรับโจทก์

จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่เกิน 200,000 บาท

การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยแล้วกำหนดให้ค่าเสียหายแก่

โจทก์เพิ่มขึ้นเกินกว่า 200,000 บาท ทั้งที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้ง

จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า

ค่าเสียหายโจทก์มีเพียงใด ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าหลังจากมีการหมั้นกัน

แล้ว โจทก์มีความมั่นใจว่า จะได้สมรสกับจำเลยจึงยอมให้จำเลยมีเพศ

สัมพันธ์มาตลอด โจทก์มีการศึกษาระดับปริญญาโทและเป็นข้าราชการ

ระดับ 6 เป็นอาจารย์พิเศษคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร

ศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ การที่จำเลย

ทอดทิ้งโจทก์ไปสมรสกับหญิงอื่นเช่นนี้ทำให้บุคคลอื่นมองว่าโจทก์

ประพฤติไม่ได้ ถูกตั้งข้อรังเกียจหากโจทก์จะทำการสมรสใหม่ และ

ถูกมองว่าโจทก์เป็นเพียงนางบำเรอของจำเลยเท่านั้น เป็นที่เสื่อมเสีย

เกียรติยศ ชื่อเสียง วงศ์ตระ***ล และฐานทางสังคมของโจทก์ อีกทั้ง

เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของโจทก์อีกด้วย ซึ่ง

จำเลยนำสืบหักล้างในข้อนี้ไม่ได้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหาย

ให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ฎีกาของ

จำเลยฟังขึ้นบางส่วน"

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

(สุเมธ ตังคจิวาง***ร - สมพล สัตยาอภิธาน - วิชา มหาคุณ)

ผู้แสดงความคิดเห็น ปมุข 0-1820-2236 วันที่ตอบ 2005-03-18 09:52:35 IP :



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.