ReadyPlanet.com


ถามผู้รู้เรื่องสิทธิในกองมรดก


เนื่องจากพ่อแม่ของดิฉันได้แต่งงานอยู่กินกันมาประมาณ 30ปี ต่อมาก็ได้หย่ากันแต่ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 6คน ตอนนี้พ่อได้เสียชีวิตลง พ่อได้โอนที่ดินให้กับหลานซึ่งเป็นบุตรของลูกชายคนโตแต่ลูงชายคนโตได้เสียชีวิตหลายปีแล้ว  ดิฉันเป็นบุตรคนที่ 2 แต่ในใบหย่าได้ระบุไว้ว่ายินยอมที่จะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่บุตร 6 คน หลังจากที่พ่อได้เสียชีวิตไปแล้ว ปรากฎว่าทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของหลานแต่เพียงผู้เดียวซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูพ่อมาประมาณ 5ปี อยากถามว่าดิฉันและน้องๆจะยังมีสิทธิ์ในทรัพย์สินนี้หรือไม่และที่ทราบมาพ่อได้ไปว่าจ้างเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอให้ทำหนังสือโอนที่ดินย้อนหลังให้หลานเป็นเวลา 10 ปี นับจาก 2548-2538 แต่ความจริงแล้วเพิ่งโอนไปเมื่อปี 2547 พ่อของดิฉันเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ เมษายน ปีนี้เอง ดิฉันและน้องๆดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ขอบคุณมากค่ะ


ผู้ตั้งกระทู้ ZEN :: วันที่ลงประกาศ 2005-05-06 09:38:26 IP :


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (101510)

-ดูตามที่เล่ามาทรัพย์สินน่าจะไม่ใช่มรดก  เพราะเจ้าของทรัพย์ยังไม่ถึงแก่กรรม  เมื่อคุณพ่อคุณโอนให้หลานเรื่องก็จบ   ลูกคนอื่นๆย่อมไม่สิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นแต่อย่างใด เรื่องเขาจะเลี้ยงกี่ปีไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แม้เขาไม่เคยเลี้ยงดูเลยแม้แต่วันเดียวถ้าเจ้าของทรัพย์โอนให้เขาก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์

-เรื่องสัญญาในการหย่า  ก็คล้ายๆเป็นพินัยกรรมอย่างหนึ่งเพราะระบุให้มีผลต่อเมื่อคุณพ่อคุณเสียชีวิต มีผลบังคับตามกฎหมาย(คือลูกทั้ง6 คนมีสิทธิ์) แต่เมื่อคุณพ่อคุณได้โอนทรัพย์สินให้หลาน ก็เสมือนเป็นการยกเลิกสัญญา(พินัยกรรม)ที่ทำไว้โดยปริยายพวกคุณจึงไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของคุณพ่อแต่อย่างใด

-เรื่องการโอนย้อนหลังไม่เข้าใจว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรจึงไม่สามารถให้ความกระจ่างได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้เฒ่า วันที่ตอบ 2005-05-06 11:46:00 IP :


ความคิดเห็นที่ 2 (101661)

ข้อแย้ง นิดหนึ่งนะครับ ท่านผู้เฒ่า

เรื่องของคุณ ZEN มีปัญหาต้องพิจารณาดังนี้ครับ

1. บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ที่ ระบุว่า จะยกที่ดินให้แก่บุตร นั้น สมบูรณ์ หรือไม่ และสามารถบังคับได้เพียงใด  

2. คุณ ZEN จะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวได้อย่างไร

กรณีตามปัญหาดังกล่าวนี้ พอดีไม่ได้บอกว่า แม่คุณ ZEN ยังอยู่หรือไม่ แต่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียหย่าที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมร  ตามแนวคำพิพากษษฎีกาแล้ว  ถือว่า เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ครับ 

สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ซึ่งในกรณีนี้ หมายถึง บันทึกข้อตกลงที่ บิดา และมารดา ได้ตกลงทำกัน โดยยกที่ดินให้แก่บุตร  ซึ่งสิทธิของบุตร จะมีขึ้นเมื่อแสดงเจตนาแก่บิดา ว่าจะรับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวครับ 

กรณีตามปัญหาก็ไมได้มีข้อเท็จจริง ให้มา ว่า คุณ ZEN และพี่ๆน้องๆ ได้แสดงเจตนาต่อบิดา ว่าจะรับเอาที่ดิน ตามสัญญาที่ได้ทำกับแม่แล้วหรือยัง , แต่ถ้ายังไม่ได้แสดงเจตนา จะทำกันภายหลังก็ได้ครับ (การแสดงเจตนาภายหลังนี้ต้องดูพฤติกรรมเป็นเรื่องๆไป )

เมื่อ บิดา ได้ตกลงกันแม่ ว่าจะยกที่ดินให้ลูก แต่ปรากฏว่า ไปยกให้แก่หลานแทนก็เท่ากับว่า บิดาผิดสัญญาประนีประนอม ยอมความกับแม่ และผิดสัญญากับบุคคลภายนอก คือคุณzen ครับ

 ซึ่งทั้งคุณ แม่ และคุณ zen สามารถขอเรียกคืน ที่ดินดังกล่าวจากหลานได้ครับ  ซึ่งการเรียกคืนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนารับเอาประโยชน์ จากสัญญาที่บิดา และมารดา ทำไว้ครับ หากหลานไม่คืนให้ ก็ต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้แสดงเจตนา นะครับ  เพื่อเรียกคืนที่ดิน และขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสัญญาโอนให้ที่บิดาโอนให้แก่หลานได้ครับ

 

มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้

ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่

แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

ลักษณะ 17

ประนีประนอมยอมความ

มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

ระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้

แก่กัน

2435/2536

แพ่ง อายุความ (ม.164 เดิม)

สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก (ม.374)

ประนีประนอมยอมความ (ม.850)

หย่า ส่วนแบ่งสินสมรส (ม.1533)

มรดก (ม.1600)

พินัยกรรม (ม.1646)

คำพิพากษา

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่ 2435/2536 ศาลฎีกา

วันที่ 26 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2536

ความแพ่ง

โจทก์ นางมาลี เลาหะพานิช ที่ 1 นายบุญเลิศ โตสุนทร

ระหว่าง โดยนางมาลี เลาหะพานิช ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ 2

จำเลย นางดวงรัตน์ บังสมบูรณ์สุขหรือโตสุนทร

เรื่อง ประนีประนอมยอมความ สัญญา พินัยกรรม มรดก

โจทก์ทั้งสอง ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 15

เดือนเมษายน พุทธศักราช 2534

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง

โตสุนทร โจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่

29 ธันวาคม 2519 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบันทึก

ไว้ในทะเบียนการหย่าว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมที่ดินตำบลเกาะหวาย

อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก โฉนดเลขที่ 3360 ที่จ่าสิบตำรวจ

เฟื่องซื้อจากนางนภา ขันแคน โฉนดเลขที่ 3359 ที่โจทก์ที่ 1 ซื้อจาก

นางแก้ว เพ็ชรสมบัติ กับบ้านเลขที่ 214 ซึ่งปลูกบนที่ดินทั้งสองโฉนด

ดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกมีสิทธิ

เรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้ หลังจากหย่ากันแล้วจ่าสิบตำรวจ

เฟื่องได้จำเลยเป็นภริยา แต่อยู่กินด้วยกันได้ 4-5 ปี จำเลยก็หย่าแล้ว

ไปอยู่กินกับสามีใหม่ จ่าสิบตำรวจเฟื่องตายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

2530 ต่อมาวันที่ 24 เดือนเดียวกัน จำเลยไปขอรับมรดกที่ดินโฉนด

เลขที่ 3360 โดยนำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไปแสดงต่อ

เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกว่า จ่าสิบตำรวจเฟื่องทำพินัยกรรม

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2523 ยกที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลย

พินัยกรรมที่จำเลยนำไปแสดงใช้บังคับไม่ได้เพราะลายพิมพ์นิ้วมือใน

พินัยกรรมไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง และไม่ได้ทำขึ้น

ในขณะที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีสติสมบูรณ์ทั้งจ่าสิบตำรวจเฟื่องไม่มีสิทธิที่

จะทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษา

ว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของจ่าสิบตำรวจเฟื่องที่ทำเมื่อวันที่

15 มกราคม 2523 เป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ที่ดินโฉนดเลขที่

3360 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดิน

เลขที่ 3360 แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอโอน

มรดกที่ดิน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ

จำเลย

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจ

ฟ้องเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสียในคดี โจทก์ที่ 2 ก็มิใช่เจ้าของ

กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท และคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ ข้อตกลงท้าย

ทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องมิใช่สัญญา

ประนีประนอมยอมความหรือสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เป็น

เพียงคำมั่นว่าจะให้ เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตก

เป็นโมฆะ จำเลยเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำพินัยกรรม เป็นเพียง

ผู้รับพินัยกรรมของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทร โดยสุจริต โจทก์ทั้งสอง

ฟ้องจำเลยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนพินัยกรรมแบบ

เอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2523 ซึ่งจ่าสิบตำรวจเฟื่อง

โตสุนทร ได้ทำขึ้น ณ ที่ว่าอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ส่วน

คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้น

อุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงตามที่ศาล

ล่างทั้งสองวินิจฉัยมาและคู่ครองไม่โต้แย้งกันรับฟังยุติได้ว่า โจทก์ที่ 1

กับจำเลยต่างเคยเป็นภริยาของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทร โจทก์ที่ 1

กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2502 และหย่ากัน

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 จำเลยจดทะเบียนสมรสกับจ่าสิบตำรวจ

เฟื่องเมื่อปี 2521 แล้วหย่าไปอยู่กิจกับสามีใหม่ก่อนหน้าจ่าสิบตำรวจ

เฟื่องตายประมาณ 1 ปี ในการหย่าเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2519 โจทก์ที่

1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องได้ทำบันทึกตกลงกันในเรื่องสินสมรสไว้ใน

ทะเบียนการหย่า ตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3359

และ3360 ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก พร้อม

บ้านตึกสองชั้นสองคูหาเลขที่ 214 ทั้งสองฝ่ายยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่ง

เป็นบุตร ที่ดินโฉนดเลขที่ 3359 มีชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของ ส่วน

โฉนดเลขที่ 3360 มีชื่อจ่าสิบตำรวจเฟื่องเป็นเจ้าของปรากฏตามเอกสาร

หมาย จ.2 และ จ.3 ตามลำดับ แต่โจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องยัง

ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้โจทก์ที่ 2 จ่าสิบตำรวจเฟื่องตาย

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ต่อมาวันที่ 24 เดือนเดียวกันจำเลยนำพินัย

กรรมแบบเอกสารฝ่ายเมื่อฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2523 ตามเอกสาร

หมาย จ.6 ซึ่งระบุว่า จ่าสิบตำรวจเฟื่องยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3360 ให้

จำเลยไปแสดงและขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก

โจทก์ทั้งสองคัดค้านว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องไม่มีสิทธินำเอาที่ดินโฉนด

ดังกล่าวไปทำนิติกรรมยกให้จำเลยพินัยกรรมก็ใช้บังคับไม่ได้ เพราะ

ไม่น่าเชื่อว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องจะทำพินัยกรรมด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ

ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมไม่ใช่ของจ่าสิบตำรวจเฟื่องและพินัย

กรรมไม่ได้กระทำขึ้นในขณะที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีสติสมบูรณ์เจ้า

พนักงานไกล่เกลี่ยแล้วไม่เป็นที่ตกลงกัน โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลย

เป็นคดีนี้

คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ข้อตกลงต่อท้าย

ทะเบียนการหย่าตามเอกสารหมาย จ.4 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

และใช้บังคับได้หรือไม่ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสาร

หมาย จ.6 มีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่และคดีโจทก์ทั้งสองขาด

อายุความหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์

ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง โตสุนทร ตามเอกสารหมาย จ.4 ที่ตกลงยก

ที่ดินโฉนดเลขที่ 3359 และ 3360 ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี

จังหวัดนครนายก พร้อมบ้านตึกเลขที่ 214 ให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น เป็น

บันทึกข้อตกลงที่เกี่ยวกับสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่อง

และทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสซึ่งมีอยู่หรือ

จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ

พาณิชย์ มาตรา 850 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก

ตามมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้

จ่าสิบตำรวจเฟื่องลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตาม

สัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ได้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ในฐานะบุคคลภายนอก

หากแสดงเจตนาแก่จ่าสิบตำรวจเฟื่องว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

โจทก์ที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จ่าสิบตำรวจเฟื่องชำระหนี้โดยโอน

กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญานั้นให้แก่ตนได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ที่

ดินโฉนดเลขที่ 3360 ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ

จ่าสิบตำรวจเฟื่อง เมื่อหย่ากัน แต่ละฝ่ายย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ดังกล่าวคนละครึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา

1533 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้แสดงเจตนาแก่จ่าสิบตำรวจเฟื่อง

ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ในส่วนที่ดิน

พิพาทซึ่งจ่าสิบตำรวจเฟื่องมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งก่อนที่จ่าสิบตำรวจ

เฟื่องจะตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งจึงยังเป็นของ

จ่าสิบตำรวจเฟื่องอยู่ จ่าสิบตำรวจเฟื่องย่อมแสดงเจตนาโดยพินัยกรรม

กำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับที่ดินในส่วนของตนเพื่อให้มีผลบังคับ

ตามกฎหมายเมื่อตนตายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1646 มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง

ที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องทำไว้ว่า ถ้าจ่าสิบตำรวจเฟื่องตาย ขอยกที่ดินโฉนด

เลขที่ 3360 ดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่

โจทก์นำสืบว่า พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อพิรุธเนื่องจากมีเพียงลายพิมพ์

นิ้วมือของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง ทั้งที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องรับราชการมา 30

ถึง 40 ปี สามารถลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ได้ รวมตลอดถึง

ลงลายมือชื่อรับเงินบำนาญ ตามสมุดหลักฐานการจ่ายเงินบำนาญ

เอกสารหมาย จ.7 เชื่อว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องทำพินัยกรรมในขณะมึนเมา

สุราจนไม่รู้สติ ส่วนจำเลยมีนางสาวอริยา อริยกุลเชษฐ์ ผู้ลงลายมือชื่อ

เป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 ในขณะรับราชการเป็น

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง งานทะเบียนราษฎร์ ที่ว่าการอำเภอปากพลี

จังหวัดนครนายก มาเบิกความว่า จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีอาการมือสั่น

เนื่องจากดื่มสุรามากไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ จึงขอใช้วิธีพิมพ์ลาย

นิ้วมือแทน แต่ขณะที่ทำพินัยกรรมจ่าสิบตำรวจเฟื่องไม่ได้มึนเมาสุรา

แต่อย่างใดศาลฎีกาได้ตรวจดูพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม

เอกสารหมาย จ.6 แล้วปรากฏว่า นอกจากจะมีลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือ

ขวาของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง และลายมือชื่อของพยาน 2 คน ลงไปแล้ว

ยังมีลายมือชื่อของพยานอีก 2 คน รับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ

จ่าสิบตำรวจเฟื่อง และลายมือชื่อของนายอำเภอปากพลีถูกต้องครบ

ถ้วนตามแบบพินัยกรรมของเอกสารฝ่ายเมือง ตามที่บัญญัติไว้ใน

มาตรา 1658 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย ทั้ง

ปรากฏข้อความระบุชัดในพินัยกรรมดังกล่าวว่าขณะทำพินัยกรรมนี้

จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีสติสมบูรณ์ดี ที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องลงลายพิมพ์นิ้วมือ

แทนการลงลายมือชื่อจึงเป็นได้ว่าขณะนั้นจ่าสิบตำรวจเฟื่องมือสั่น

ไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ไปกับ

จ่าสิบตำรวจเฟื่องในวันทำพินัยกรรมและพินัยกรรมดังกล่าวได้ทำที่ที่

ว่าการอำเภอปากพลีต่อหน้านายอำเภอปากพลีกับพยานถึง 4 คน จึงมี

เหตุผลและน้ำหนักให้เชื่อว่าจ่าสิบตำรวจเฟื่องได้ทำพินัยกรรมในขณะมี

สติสมบูรณ์ดีและเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของจ่าสิบตำรวจเฟื่อง

พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.6 จึงสมบูรณ์และ

มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับที่ดินโฉนดเลขที่

3360 ตามส่วนที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีกรรมสิทธิ์อยู่ในฐานะเป็นทายาท

ผู้รับพินัยกรรมเมื่อจ่าสิบตำรวจเฟื่องตาย อย่างไรก็ตาม กองมรดกของ

ผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา

1600 นอกจากจะได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายแล้ว ยังรวมถึงสิทธิ

หน้าที่ และความรับผิดต่างๆ ด้วย แม้จำเลยจะมีสิทธิในที่ดินดังกล่าว

ครึ่งหนึ่งอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายก็ตาม แต่หน้าที่และความรับผิดที่

เกี่ยวกับที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นมรดกมีผลผูกพันให้จำเลยต้องรับด้วย

ดังนั้น หน้าที่ และความรับผิดที่จ่าสิบตำรวจเฟื่องมีต่อโจทก์ทั้งสองเกี่ยว

กับที่ดินพิพาทตามบันทึกข้อตกลงในทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.4

ซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเพื่อประโยชน์

บุคคลภายนอกจึงตกทอดมายังจำเลย และจำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะ

เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกดังกล่าวด้วย การที่

โจทก์ทั้งสองไปคัดค้านในขณะที่จำเลยนำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่าย

เมืองเอกสารหมาย จ.6 ไปแสดงและขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดิน

จังหวัดนครนายกว่าจ่าสิบตำรวจเฟืองไม่มีสิทธิเอาที่ดินพิพาทไปทำ

พินัยกรรมยกให้จำเลย นั้น ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา

เพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกนั้นแล้ว แต่ปรากฏว่าสัญญา

ประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเฟื่องตาม

เอกสารหมาย จ.4 ได้ทำกันไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2519 อัน

เป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวได้ โจทก์ที่ 1 ฟ้อง

คดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 จึงเกินกำหนด 10 ปี ตามประมวล

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) แล้ว คดีของโจทก์ที่ 1

จึงขาดอายุความ แต่คดีของโจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ไปคัดค้าน

การขอรับมรดกที่ดินของจำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2530 และ

โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2531 ยังไม่พ้นกำหนด

10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่ง

และพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) คดีของโจทก์ที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความ

เมื่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่จำเลยผู้เป็น

ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว

จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอรับมรดกที่ดินครึ่งหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3360

ที่พิพาทและไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินเลขที่ 3360 ดังกล่าวไว้ต่อไป

จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินนั้นให้แก่โจทก์ที่ 2

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยส่งมอบโฉนด

ที่ดินเลขที่ 3360 ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี (เขาใหญ่) จังหวัด

นครนายก แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา

ให้เป็นพับ

นายสมศักดิ์ วิธุรัติ

นายเทพฤทธิ์ ศิลปานนท์

นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ปมุข 0-1820-2236 วันที่ตอบ 2005-05-06 15:18:25 IP :


ความคิดเห็นที่ 3 (101774)

ขอบคุณมากนะค่ะที่ช่วยไขข้อข้องใจและยกตัวอย่างให้กับดิฉันช่วยให้ดิฉันเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

ผู้แสดงความคิดเห็น ZEN วันที่ตอบ 2005-05-06 18:11:47 IP :


ความคิดเห็นที่ 4 (2892312)
มีปัญหาอยากจะถามว่ากรณีที่บิดามารดาสามีได้หย่ากันมานานหลายสิบปีแล้วแต่ตอนหลังมาจดทะเบียนกันใหม่ แต่บิดาสามีไม่ถูกกับสามี และพยายามจะไล่สามีกับครอบครัวออกจากบ้านซึ่งแต่เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของมารดาสามีแต่ขณะนี้มารดาสามีหลงแล้วบิดาสามีซึ่งจดทะเบียนกันใหม่ได้เปลี่ยนบัญชีธนาคารและทุกอย่างที่เป็นชื่อมารดาสามีไปเป็นชื่อบิดาสามีหมด และบ้านก้อเปลี่ยนเป็นเจ้าของบ้านแทนไม่ทราบสามียังมีสิทธิประการใดบ้าง
ผู้แสดงความคิดเห็น นู่ วันที่ตอบ 2008-08-15 10:44:37 IP : 202.28.62.245



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.