ReadyPlanet.com


สัญญากู้ยืมเงิน


 สวัสดีค่ะพอดีมีพี่ที่รู้จักเขามาถามหนูเกี่ยวกับการทวงหนี้ พี่เขามีใบสัญญากู้แต่ไม่มีอากรแสตมป์ ไม่ระบุดอกเบี้ยละวันคืน ตอนนี้อยากได้เงินต้นคืน สัญญากู้ยืมเริ่มตั้งแต่ปี 52,53 แล้ว หนูจึงบอกให้เขาเขียนจดหมายทวงหนี้ไปทวงให้ลูกหนี้รับทราบก่อนเพราะจะได้มีเวลาเตรียมตัว (ตามหลักกฎหมายที่หนูพอจำได้) แต่พี่เขาบอกว่าคงยากเพราะเคยทวงแล้ว(ด้วยวาจา) เหมือนลูกหนี้ปฏิเสธหนี้ เนื่องจากประนีประนอมด้วยวาจามาเป็นเวลานานครั้งหลังๆลูกหนี้เงียบไปและไม่มีการคืนเงินให้อีก หนูอยากทราบว่า

-การที่เจ้าหนี้มีสัญญากู้ยืมแต่ไม่มีอากรแสตมป์นั้น เราสามารถเอาอากรแสตมป์มาติดเอง และขีดครอมเองโดยไม่ต้องทำต่อหน้าลูกหนี้ได้ไหมคะ
2 การที่ลูกหนี้ปฎิเสธการเป็นหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แบบนี้ก่อนที่จะไปฟ้องศาล เจ้าหนี้ยังจะต้องเขียนจดหมายทวงหนี้เพื่อให้ลูกหนี้รับทราบ และให้ลูกหนี้กลายเป็น ลูกหนี้ผิดนัด เพื่อเอาหลักฐานไปฟ้องศาลไหมคะ หรือว่าไม่ต้องทวงแล้ว
3 เมื่อไม่ได้รับการชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถร้องขอต่อศาลบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ข้อนี้คือเจ้าหนี้สามารถเอาหลักฐาน ไปยื่นที่ศาลได้เลยใช่ไหมคะ ต้องมีทนายอยู่ไหมเพราะหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ถ้าต้องใช่้จะมีค่าใ้ช้จ่ายเท่าไหร่คะ ทั้งค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนาย หนูรบกวนขอขั้นตอนการร้องขอต่อศาลคร่าวๆด้วยนะคะ เช่นการเขียนคำร้องขออะไรต่างๆเราสามารถเขียนเองได้ไหม แล้วต้องไปแจ้งความก่อนหรือไม่ ขอบคุณค่ะ สุดท้ายถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จะติดคุกไหมคะ


ผู้ตั้งกระทู้ พิมพา (Pimpa_Suthangoen-at-cmu-dot-ac-dot-th) :: วันที่ลงประกาศ 2016-11-19 18:38:33 IP : 202.28.249.180


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4094745)

 การกูัยืมเงิน

1-การที่เจ้าหนี้มีสัญญากู้ยืมแต่ไม่มีอากรแสตมป์นั้น เราสามารถเอาอากรแสตมป์มาติดเอง และขีดครอมเองโดยไม่ต้องทำต่อหน้าลูกหนี้ได้ไหมคะ
 
ตอบ...ติดอากรฯภายหลังได้ ในอัตรา เงินต้น 2,000 บาท ต่ออากรฯ 1 บาท และขีดฆ่าเองได้...มีแนวคำพิพากษา ฎีกา 426/2544
2 การที่ลูกหนี้ปฎิเสธการเป็นหนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แบบนี้ก่อนที่จะไปฟ้องศาล เจ้าหนี้ยังจะต้องเขียนจดหมายทวงหนี้เพื่อให้ลูกหนี้รับทราบ และให้ลูกหนี้กลายเป็น ลูกหนี้ผิดนัด เพื่อเอาหลักฐานไปฟ้องศาลไหมคะ หรือว่าไม่ต้องทวงแล้ว
 
ตอบ..ควรใช้วิธีทวงหนี้ แบบไปรษณีย์ตอบรับ เพื่อใช้เป็นหลักฐานได้ การทวงหนี้ด้วยวาจา ถ้าเขาปฏิเสธหน้าตาเฉยว่า ไม่เคยมีการทวงถาม ก็คงหาหลักฐานมายืนยันลำบาก ครับ
3 เมื่อไม่ได้รับการชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถร้องขอต่อศาลบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ข้อนี้คือเจ้าหนี้สามารถเอาหลักฐาน ไปยื่นที่ศาลได้เลยใช่ไหมคะ ต้องมีทนายอยู่ไหมเพราะหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ถ้าต้องใช่้จะมีค่าใ้ช้จ่ายเท่าไหร่คะ ทั้งค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนาย หนูรบกวนขอขั้นตอนการร้องขอต่อศาลคร่าวๆด้วยนะคะ เช่นการเขียนคำร้องขออะไรต่างๆเราสามารถเขียนเองได้ไหม แล้วต้องไปแจ้งความก่อนหรือไม่ ขอบคุณค่ะ สุดท้ายถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ลูกหนี้จะติดคุกไหมคะ

ตอบ...ต้องฟ้องศาลตามปรกติ เมื่อศาลให้ลูกหนี้ ใช้หนี้ ก็ส่งคำบังคับไปยังลูกหนี้ ถ้าเพิกเฉยก็ต้องขอหมายบังคับคดี จากศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ ไปขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ได้ เรื่องค่าใช้จ่ายต้องสอบถามเอง....แจ้งความก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นความรับผิดทางแพ่ง ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็คงต้องนั่งอ่านคำพิพากษาปลอบใจ จนกว่าจะหมดอายุความ 10 ปี เพราะประมาทเลินเล่อแต่แรก ที่ให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีหลักทรัพย์ หรือไม่มีบุคคลค้ำประกัน...ถ้ามองดูแล้ว ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ อย่าไปเสียเวลาไปฟ้องเลย เพราะนอกจากเสียเงิน เสียเวลา ยังเสียความรู้สึกอีก ครับ

   คำพิพากษาฎีกาที่ 426/2544

 

                      นาย..............................

โจทก์

                      นาย..............................

จำเลย

 

เรื่อง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร (มาตรา 103,113,114,118)

 

 

                 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 226,875 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 150,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
                     จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
                     ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
                     โจทก์อุทธรณ์
                     ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนางครีบ จันทร์แจ่ม ผู้ตายชำระเงิน 150,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตน
                     จำเลยฎีกา
                     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า สัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในวันทำสัญญาแต่พึ่งปิดอากรแสตมป์ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกโดยมิได้เสียค่าอากรเพิ่ม และเพียงแต่ขีดฆ่าอากรแสตมป์โดยไม่ได้ลงวันเดือนปีกำกับจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เพียงแต่บัญญัติว่าตราสารใดที่ไม่ปิดอากรแสตมป์หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายหมวด 6 จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์และขีดฆ่าแล้ว แต่หาได้บังคับให้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะความในตอนท้ายของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า การดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในภายหลัง อันมีผลให้ตราสารนั้นใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งนั้นไม่เป็นการลบล้างความผิดในการเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113และมาตรา 114 แสดงว่าแม้มิได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน แต่เมื่อมีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วในวันนัดสืบพยานโจทก์ก็ย่อมรับฟังสัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ส่วนเรื่องที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งไม่มีผลกระทบถึงการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แต่ประการใด ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์เพียงแต่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์โดยมิได้ลงวันเดือนปีกำกับไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา103 นั้น เห็นว่า มาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากรให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" ว่า หมายถึงการกระทำใดๆ เพื่อมิให้มีการนำอากรแสตมป์ไปใช้ได้อีก ดังนั้น การขีดฆ่าอากรแสตมป์จึงมิได้จำกัดแต่เฉพาะการลงลายมือชื่อบนอากรแสตมป์หรือการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์และลงวันเดือนปีกำกับเท่านั้น แต่ย่อมหมายความรวมถึงการกระทำด้วยวิธีการอื่นใดที่ทำให้อากรแสตมป์นั้นเสียไปไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ โดยขีดเส้นคร่อมบนอากรแสตมป์เพื่อมิได้ให้นำไปใช้ได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงิน ได้ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ถูกต้องตามมาตรา 103รับฟังพยานหลักฐานในคดีนี้ได้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธไม่น่าเชื่อว่านางครีบกู้ยืมเงินจากโจทก์นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งนั้นศาลย่อมมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความและพิพากษาให้ฝ่ายที่พยานหลักฐานมีน้ำหนักดีกว่าเป็นผู้ชนะคดี สำหรับคดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์กับนางสมจิตร บุญธรรม และนางศิริวรรณ ขำกรัด เป็นพยานเบิกความประกอบสัญญากู้ยืมเงินว่า นางครีบได้กู้ยืมเงินโจทก์และทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้โจทก์ยังมีสำเนาหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้พร้อมใบตอบรับ เป็นหลักฐานว่า โจทก์เคยทวงถามให้นางครีบชำระหนี้แก่โจทก์โดยส่งหนังสือทวงถามไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ไม่ปรากฏว่านางครีบเคยโต้แย้งคัดค้านเกี่ยวกับหนี้ดังกล่าวเลย อนึ่ง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า นางครีบไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์นั้น ทั้งจำเลยกับนางซิ้ม จันทร์แจ่ม และนายเสน่ห์ เนียมหอม พยานจำเลยต่างเบิกความรับว่าไม่ทราบว่านางครีบจะเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์หรือไม่ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถอนเงินฝากธนาคารมาให้นางครีบกู้ และไม่เชื่อว่าโจทก์จะเก็บเงินไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมากนั้น โจทก์เบิกความข้อนี้ว่านางครีบไปติดต่อกับโจทก์ล่วงหน้าหลายวันว่าจะขอกู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีเวลาพอในการรวบรวมเงินที่ลูกหนี้รายอื่นนำมาชำระหนี้จนพอให้นางครีบกู้ยืมได้ซึ่งไม่เป็นข้อพิรุธแต่ประการใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงิน แต่ในช่องผู้เขียนสัญญาในสัญญากู้ยืมเงินกลับมีลายมือชื่อของผู้อื่นไม่ตรงกับคำเบิกความของโจทก์นั้นเห็นว่า แม้ลายมือชื่อผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงิน จะขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์เป็นพิรุธอยู่บ้าง แต่ข้อพิรุธดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทำลายล้างน้ำหนักคำพยานโจทก์ให้เสียไปจนไม่อาจรับฟังได้ทั้งหมดส่วนจำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า นางครีบไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินซึ่งไม่เชื่อว่านางครีบกู้ยืมเงินจากโจทก์ และว่าการที่โจทก์แจ้งให้นางศิริวรรณซึ่งมีบ้านอยู่คนละอำเภอกับโจทก์ไปเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อส่อพิรุธนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุผลต่างๆ ที่จำเลยขึ้นอ้างในฎีกาเป็นเรื่องที่จำเลยคาดคิดไปเองไม่ใช่ข้อพิรุธถึงกับทำให้คำพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายจำเลยและเชื่อว่านางครีบมารดาจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อนางครีบถึงแก่กรรมลง จำเลยซึ่งเป็นทายาทของนางครีบต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งนี้ จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
                      พิพากษายืน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2016-11-20 03:26:57 IP : 101.51.168.69


ความคิดเห็นที่ 2 (4098641)

 ขอบคุณมากค่ะ 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พิมพา (PImpa_Suthangoen-at-cmu-dot-ac-dot-th)วันที่ตอบ 2016-12-01 18:59:23 IP : 202.28.249.180



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.