ReadyPlanet.com


ตายกบ้านให้แม่ แม่ยกให้ฉัน ต่อมา ตากับแม่ผิดใจกัน และฉันก็ไม่ถูกกับตา จึงไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูตา


 ตายกบ้านให้แม่ แม่ยกให้ฉัน ต่อมา ตากับแม่ผิดใจกัน และฉันก็ไม่ถูกกับตา จึงไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูตา

 

ในคำถาม มี ฉัน แม่ และ ตา 

แม่เป็นลูกแท้ๆของตา

ฉันเป็นหลานแท้ๆของตา และเป็นลูกแท้ๆของแม่

 

ตากับแม่ ผิดใจกัน มีเรื่องไม่พอใจเกี่ยวกับคุณธรรมของตา

ฉันก็ไม่ถูกกับตา ฉันจึงไม่ได้ใกล้ชิด ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูตา

 

อยากสอบถามว่า ตามกฎหมายเรื่องเนรคุณ ฉันยังต้องส่งเสียเลี้ยงดูตาหรือเปล่า 

ถ้าฉันไม่ส่งเสียเลี้ยงดูตา

ตาจะสามารถฟ้องเอาคืนบ้านจากฉันหรือแม่ได้ไหม

 

ตามีลูกหลายคน แต่กดขี่แม่ฉันคนเดียว จนแม่ฉันทนไม่ไหว หนีไป 

เราต่างคนต่างอยู่คนละบ้านกันค่ะ 

 

ฉันสงสัยแค่ว่า ตาฟ้องเอาบ้านคืนได้หรือเปล่า เพราะแม่ยกบ้านให้ฉัน แต่ฉันไม่ได้ดูดำดูดีตา



ผู้ตั้งกระทู้ หลานนมยาน :: วันที่ลงประกาศ 2019-10-04 09:53:14 IP : 171.6.87.195


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4335076)

 การเพิกถอนการให้

  กรณีการให้โดยเสน่หา  ผู้ให้(คุณตา) อาจเพิกถอนการให้ได้  ถ้าผู้รับประพฤติเนรคุณ ตาม ปพพ. ม.531  คือ

    1.  ผู้รับ(แม่) ทำร้ายร่างกายคุณตา  หรือ

     2.  ผู้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้  หรือ 

      3. ผู้รับบอกปัด ไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีพแก่คุณตา ในเวลาที่คุณตายากไร้ และผู้รับสามารถจะให้ได้

    เงื่อนไขทั้งสามข้อ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้  และตามข้อ 3  ไม่ได้หมายความว่า คุณแม่ต้องคอยดูแล เลี้ยงดูคุณตา เพียงต้องช่วยเหลือในยามที่คุณตายากไร้  และแม่ช่วยได้เท่านั้น  ถ้าช่วยไม่ได้ก็ไม่ผิด....ดังนั้นองค์ประกอบในการฟ้องเรียกคืนจึงไม่มี   แต่อาจเป็นไปได้ ที่ถูกลูกยุ จากญาติๆ  คุณตาอาจจะฟ้องเรียกคืน   ถ้ามีการฟ้อง   ก็ต้องยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ไม่เคยกระทำความผิด ตาม ข้อ 1-3 การเพิกถอนการคืน  ก็ทำไม่ได้  ก็พยายามอยู่ห่างๆคุณตาเอาไว้ ใช้ความสงบ สยบการเคลื่อนไหว  ไม่ต้องไปโต้แย้งใดๆ  ในข้อกฎหมาย คุณแม่ของคุณ  อยู่ในฐานะได้เปรียบ   เฉยไว้จะดีเอง  ด้วยความปรารถนาดี ครับ   .....ได้ค้นหาคำพิพากษาของศาลฎีกา  เกี่ยวกับการฟ้องเพิกถอนการให้มาให้อ่าน  คุณคงเบาใจลงได้...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2552

 

โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็น 2 ประการ ประการแรกจำเลยขับไล่และด่าว่าโจทก์ว่า "แก่แล้วทำไมไม่ตายเสียที น่าจะตายให้พ้น ๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น" ประการที่สอง จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่จำเลยสามารถจะหยิบยื่นให้ได้ อันเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) และ (3) ตามลำดับ แต่เหตุประการแรกโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) ส่วนเหตุในประการที่สองโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูและไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพเมื่อโจทก์ขอ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอีกอย่างน้อย 1 แปลง และโจทก์ยังมีบุตรคนอื่น ๆ ให้การอุปการะเลี้ยงดูอีกด้วย ตามสถานภาพของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคนยากไร้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนคืนการให้ได้

 

ฎีกาที่  8306/2548

จำเลยซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติห่าง ๆ ของโจทก์ทั้งห้า ได้รับการยกให้ที่ดินตามฟ้องจากโจทก์ทั้งห้าโดยเสน่หา ต่อมาโจทก์ทั้งห้าได้ไปต่อว่าจำเลยในเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ถูกจำเลยกล่าวหาว่าย้ายหลักหมุดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ทำให้จำเลยมีโทสะ ด่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า "อีพวกดอกทอง ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู มึงออกไป ออกไปจากบ้านกู" นั้น เป็นถ้อยคำซึ่งโดยวิสัยชาวบ้านที่ใช้ด่ากัน ดังนี้ แม้ถ้อยคำเช่นนั้นจะไม่สุภาพและไม่สมควรที่จะกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ก็ไม่อาจรับฟังได้ถึงขั้นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้าอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเรียกถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

 

 

ฎีกาที่ 456/2520

โจทก์ยกที่นาให้จำเลย ต่อมาโจทก์ขออาศัยทำนาเพื่อขายผลิตผลชำระหนี้ซึ่งโจทก์เป็นหนี้ผู้อื่น จำเลยไม่ยอมโจทก์ขอยืมเงิน จำเลยก็ไม่ให้ ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ช่วยเหลือโจทก์ในการชำระหนี้สินของโจทก์เท่านั้นมิใช่เป็นการที่ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(3) จึงไม่เป็นเหตุอันจะเรียกถอนคืนการให้ได้

ฎีกา 576/2550

คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาความว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งโจทก์เสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่โจทก์เลย โจทก์พักอาศัยอยู่คนเดียว จำเลยที่ 1 จงใจประพฤติเนรคุณโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สามารถดูแลปรนนิบัติโจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ ตามคำฟ้องของโจทก์และการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)

 

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2019-10-05 07:49:38 IP : 101.51.9.147



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.