ReadyPlanet.com


บ้านถูกขายทอดตลาด


สวัสดีครับ ท่านทนายประมุข กระผมมีข้อกฎหมายจะเรียนถามท่านดังนี้ครับ

คุณแม่ได้ทำสัญญา***้เงินจากธนาคารทหารไทยเพื่อผ่อนคอนโดย่านเมืองทองธานีราคา 400,000 บาทและจดทะเบียนจำนองห้องชุดไว้ตั้งแต่ปี 2537 คุณแม่ได้ส่งเรื่อยมาเป็นจำนวน120,000โดยประมาณ ต่อมาประสบปัญหาทางการเงิน ขาดส่ง ธนาคารจึงฟ้องร้องในปี 2546 เรียกเงินต้น+ดอก+เบี้ย+ค่าทนายความ ฤชาธรรมเนียม และไม่ได้ไปศาลๆจึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ต่อมาในปี 2549 ถูกบังคับคดีขายทอดตลาด ปรากฏว่าไม่มีคนซื้อ (เพราะห้องเสื่อมสภาพไปมาก ประกอบกับราคาห้องชุดมือหนึ่งใหม่ๆในปัจจุบัน ยังถูกกว่าราคาที่ขายทอดตลาดมือสองเสียอีก ถ้าซื้อคงจะต้องเสียค่าปรับปรุงซ่อมแซมอีกจำนวนมาก) ธนาคารจึงตัดสินใจซื้อกลับคืนเป็นของธนาคารในราคา 300,000 บาท และจะขายให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 460,000 อยากทราบว่า…

1.ในกรณีเช่นนี้ธนาคารสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นใดของคุณแม่ หรือของตัวผมได้หรือไม่ครับ เพราะในขณะทำสัญญาเงิน***้นั้นมีข้อความในสัญญาว่า “หากบังคับจำนองแล้วเงินยังขาดอยู่เท่าใด ข้าพเจ้า……(ชื่อคุณแม่) ยินยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคาร(โจทก์)จนครบถ้วน”

2. ทางธนาคารได้แนะนำว่าถ้าประสงค์จะซื้อคืนให้ติดต่อทางธนาคารได้ แต่ต้องขอสินเชื่อจากธนาคารอื่น นอกจากนี้แล้วยังมีช่องทางทางกฎหมายหรือวิธีการอื่นใดอีกหรือไม่ครับ ที่เราจะสามารถอาศัยอยู่ได้ประมาณ 8 เดือนหรือสามารถประวิงเวลาไปก่อนได้ เพราะตอนนี้รายได้ของคุณแม่รวมกับของผมไม่เกิน 11,000 ผมตั้งใจเรียนมากและอีก 8 เดือนข้างหน้าผมก็จะจบนิติศาสตร์บัณฑิตแล้ว คงจะสามารถหาที่อยู่ใหม่ได้

ขอความกรุณาช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

ในส่วนข้างล่างนี้ไม่ต้องตอบหรืออ่านก็ได้นะครับ เพราะจะรบกวนเวลาของท่าน แต่ผมแค่อยากระบายความอัดอั้นตันใจ (ผมแค่อยากให้นักกฎหมายที่ใช้กฎหมายทุกท่านได้อ่าน หาได้มีเจตนาร้ายอื่นใดไม่)

ถ้าวันหนึ่งสมมุติว่าผมได้เป็นใหญ่เป็นโตในวงการกฎหมาย มีความเป็นไปได้หรือไม่ครับที่ผมจะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 หมวด4 เรื่องการบังคับจำนอง ที่มีแนวคำพิพากษาของศาลเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่า “มาตรา733 นี้ ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรานี้บัญญัติไว้ย่อมกระทำได้ ข้อตกลงเช่นว่านี้ย่อมมีผลบังคับใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ” ในเมื่อไม่ตกเป็นโมฆะแล้วมาตรา733ตอนท้ายจะบัญญัติไว้ทำไมล่ะครับ?? เพราะมีความขัดกันของกฎหมายอย่างแจ้งชัดเช่นนี้ เพราะในทางปฏิบัติไม่มีเจ้าหนี้รายใดหรอกครับที่จะไม่ทำข้อตกลงดังกล่าว อย่างนี้ก็หมายความว่าคนเป็นหนี้ก็ต้องเป็นหนี้ต่อไป คนจนก็ต้องจนต่อไปน่ะสิครับ เพราะเมื่อครั้นที่ทำสัญญาเงิน***้เพื่อมาผ่อนบ้าน คุณแม่ของกระผมทำด้วยเจตนาสุจริต มิได้คิดจะผิดสัญญาต่อธนาคารแต่ประการใด เพราะคุณพ่อสัญญาว่าจะส่งให้เอง แต่วันหนึ่งคุณพ่อกลับทิ้งครอบครัวเราไป ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูอีก ทำให้เราสองคนต้องเผชิญชะตากรรมแต่เพียงลำพัง ใช่ครับถ้ามองกันในข้อกฎหมายแล้ว พวกเราผิดเต็มประตู เป็นหนี้เขาก็ต้องใช้ ผมเรียนกฎหมายมาย่อมรู้ดี แต่ถ้าพูดถึงมนุษยธรรมล่ะครับ??? ผมเกิดมายังไม่เคยทำผิดศีลธรรมอันใดเลย ผมเป็นคนตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนดีมาโดยตลอด เมื่อก่อนผมตั้งใจอยู่แล้ว ยิ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ยิ่งทำให้ผมต้องมุมานะยิ่งขึ้น ผมจะอ่านมัน ทุกตัวบท ทุกอักษร ผมต้องเข้าใจและจำมันให้จงได้ ทุกเล่มทุกมาตรา จะไม่มีทางหลุดรอดไปจากสายตาผมเด็ดขาด!! เพราะผมเรียนกฎหมายด้วยความเข้าใจหัวอกคนที่เดือดร้อนจริงๆ



ผู้ตั้งกระทู้ ลิขิต :: วันที่ลงประกาศ 2006-12-03 22:30:51 IP : 124.121.115.74


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (720082)

-- 1. คุณแม่คุณต้องรับผิดครับ  ซึ่งคุณก็ทราบดีอยู่แล้ว   สำหรับคุณคงไม่ต้องรับผิดเพราะไม่ใช่คู่สัญญาหรือลูกหนี้ร่วม

2. แนะนำให้ติดต่อกับธนาคารเจ้าของบ้าน...เพื่อขอเช่าอยู่ต่อสักระยะหนึ่งจนกว่าคุณจะมีช่องทางขยับขยายหาที่อยู่ใหม่ได้ครับ

---ความเห็นของคุณหลายคนก็เห็นด้วย....คุณต้องเข้าใจว่ากฎหมายเขียนเผื่อไว้เพื่อเหตุการณ์ในอนาคต  บางทีอาจไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ในขณะที่ยกร่างอาจมีข้อมูลหรือมีเหตุผลของผู้ยกร่างว่าเขียนกฎหมายไว้อย่างนี้น่าจะเหมาะสม...ซึ่งก็มีทั้งถูกและผิดเพราะเวลาที่ต่างกันหลายสิบปี  เมื่อเร็วๆนี้ก็มีความเห็นของผู้คนในสังคมเรื่องการครอบครองปรปักษ์ว่าเป็นการรับรองให้โจรได้ดี   คือบุกรุกที่ดินเขาแล้วยังมีกฎหมายเปิดช่องทางให้สามารถได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ได้  ซึ่งเจตนาของกฎหมายไม่ต้องการให้ใครก็ตามมีที่ดินแล้วปล่อยปละละเลยไม่สนใจทำประโยชน์  ถ้าใครบุกรุกเข้ามาทำประโยชน์น่าจะให้เขามีกรรมสิทธิ์  ซึ่งแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนและในห้วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป.....การที่จะแก้กฎหมายคุณเรียนกฎหมายย่อมตระหนักดีว่าการที่จะออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายมีกระบวนการหลายขั้นตอนไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่ายๆ....ถ้าคุณมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขก็ลองใช้วิธีจุดประกายแนวคิดเพื่อปลุกกระแสสังคมให้เห็นคล้อยตาม  โดยการเขียนบทความหรือการแสดงความเห็นในเวทีสาธารณะ...ถ้าสังคมส่วนใหญ่มีความเห็นคล้อยตาม...ก็คงส่งผลให้การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่คุณคิดว่าไม่เป็นธรรม.....มีผลให้สภานิติบัญญัติหยิบขึ้นทบทวนและแก้ไขก็อาจเป็นได้  แต่คงต้องใช้พลังต่างๆไม่ใช่น้อย  แต่อย่างใดก็ตามขอต้อนรับนักกฎหมายคลื่นลูกใหม่ด้วยความยินดียิ่งขอให้ความมุ่งมาดปรารถนาของคุณจงสมหวังทุกประการครับ....

ผู้แสดงความคิดเห็น ผู้เฒ่า วันที่ตอบ 2006-12-04 09:14:45 IP : 203.172.199.254



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.