ReadyPlanet.com


ช่วยหาข่าวเกี่ยวกับ คดีอาญา+ตัดสินแล้ว ให้หน่อยครับ


พอดีเรียนวิชากฎหมาย เเล้วต้องทำงานส่ง เกี่ยวกับคดีอาญา+คดีแพ่ง ที่ตัดสินแล้วและเป็น เหตุการณ์จริง เกิดเมื่อไหร่ก็ได้

รบกวนผู้ที่หาได้ และใจดี ช่วยลงให้หน่อยครับ

ขอบคุณ มากๆครับ

 

พอดีนั่งหามานาน หายากมากไม่ค่อยเจอเเละไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ครับ



ผู้ตั้งกระทู้ squawk :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-17 14:41:24 IP : 125.27.20.253


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2695884)
เปิดคำพิพากษายกฟ้อง"นพดล" ชี้หลักฐานอ่อน"ห้างทองถูกฆาตกรรม"
29 กันยายน พ.ศ. 2550 14:28:00
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

เปิดคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ "ห้างทอง ธรรมวัฒนะ" ศาลวินิจฉัยปมนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเงื่อนงำทุกประเด็น ก่อนสรุป "หลักฐานอ่อน" ไม่พอรับฟังว่าผู้ตายถูกฆาตกรรม

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่ามา ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีความผิดต่อชีวิต หมายเลขดำที่ 248/2547 ซึ่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ธรรมวัฒนะ อายุ 54 ปี อาชีพนักธุรกิจ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่า นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายตัวเอง และอดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชากรไทย โดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2547 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 5 - 6 ก.ย.2542 เวลากลางคืนถึงก่อนเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด บังอาจร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ 1 นัด โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่าให้ตาย กระสุนปืนถูกบริเวณศีรษะนายห้างทองเป็นบาดแผลฉกรรจ์ กระสุนทะลุกะโหลกศีรษะเข้าไปทำลายอวัยวะส่วนสมอง เป็นเหตุให้นายห้างทองถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลดังกล่าวสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก รายละเอียดบาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและรายการตรวจศพของเจ้าพนักงานและแพทย์ เหตุเกิดที่บ้านธรรมวัฒนะ เลขที่ 299/9 หมู่ 7 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ในวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจยังได้ตรวจยึดอาวุธปืนที่ใช้ยิง และสิ่งของต่างๆ เป็นของกลาง กระทั่งวันที่ 31 ต.ค.2546เจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมจำเลยมาดำเนินคดี จำเลยให้การปฏิเสธโดยตลอดข้อกล่าวหา

คดีนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ - จำเลยที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันโดยตลอดแล้ว มีปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยข้อสมมติฐานของโจทก์ในแต่ละประเด็นไป

ประเด็นแรก เรื่องวิถีกระสุนปืน พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พยานโจทก์ เบิกความว่า จากการตรวจพิสูจน์ศพผู้ตายครั้งที่ 2 พบกระสุนปืนลูกปรายจำนวนมากกว่า 20 เม็ด ใต้ฐานสมอง กระสุนส่วนใหญ่อยู่ด้านหน้า เห็นว่า พยานโจทก์ผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายหลังจาก พ.ต.อ.นายแพทย์พรชัย สุธีระคุณ แพทย์นิติเวชที่ผ่าศพครั้งแรก และได้ผ่าเอาสมองออกจากะโหลกศีรษะแล้ว กระสุนลูกปรายที่พยานโจทก์พบมีเพียง 20 กว่าเม็ด จึงเป็นส่วนน้อย โจทก์ไม่นำสืบว่ากระสุนลูกปรายส่วนใหญ่พบที่ใด ซึ่ง น.พ.ธำรง จิรจริยาเวช พยานโจทก์เบิกความว่า บาดแผลจากศพผู้ตายเป็นวงกลม น่าเชื่อว่าแนวปากกระบอกปืนตั้งฉากกับศีรษะของศพผู้ตาย

นอกจากนี้ตามรายงานการผ่าตรวจพิสูจน์ศพครั้งที่ 3 ของ นพ.เศวต กรรณล้วน และคณะ ระบุว่าพบกระสุนบางเม็ดกระจายต่ำลงมาถึงบริเวณกล้ามเนื้อของลำคอ ย่อมแสดงให้เห็นการกระจายไม่เป็นทิศทางแน่นอน ดังนั้นแม้ว่าจะพบกระสุนอีก 1 เม็ดอยู่ในแนวดิ่งระดับกระดูกคอซี่ที่ 4 ก็หาเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเป็นการยิงจากขวาไปซ้าย จากหลังมาหน้า และจากบนลงล่างซึ่งผิดปกติของการยิงตัวตายไม่

ประเด็นเกี่ยวกับเศษอาหารที่พบในลำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งพบเศษส้มเช้งในกระเพาะอาหารและเศษส้มโอในลำไส้เล็กของผู้ตาย ไม่พบเศษชมพู่และบะหมี่สำเร็จรูปนั้น อาจจะเป็นเพราะอาหารทั้งสองสามารถย่อยได้ง่ายกว่าส้มเช้งกับส้มโอ พยานโจทก์ไม่มีหลักวิชาการที่จะอธิบายระบบการย่อยอาหารที่แน่ชัดเกี่ยวกับเศษอาหารที่พบในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กผู้ตาย จึงไม่ใช่ข้อที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยให้การไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ว่าก่อนตายผู้ตายรับประทานส้มเช้ง ชมพู่ และบะหมี่สำเร็จรูปในห้องที่เกิดเหตุ

ในส่วนของรอยช้ำที่ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ตรวจพบที่ต้นขาขวาด้านหลัง สันนิษฐานว่าเกิดจากการกระแทกกับของแข็งนั้น ตามรายงานการตรวจศพครั้งที่ 2 ไม่ปรากฏผลการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณที่ว่าเป็นรอยช้ำทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ หรือได้ผลว่าอย่างไร เพียงแต่สรุปว่าเป็นรอยช้ำที่เกิดจากการกระแทกกับของแข็ง

ส่วนรอยช้ำที่ท้ายทอยนั้น พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ เบิกความว่า คืออาการตกของเลือดจากเบื้องสูง เนื่องจากกะโหลกผู้ตายแตกและนอนหงายเป็นเวลานาน รอยดังกล่าวทั้งสองแห่งจึงไม่ใช่รอยช้ำที่ผู้ตายถูกทำร้ายก่อนตาย

สำหรับประเด็นเรื่องที่ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ ผู้บังคับการกองปราบปราม (ตำแหน่งในขณะนั้น) ทดลองให้ยิงปืนในห้องที่เกิดเหตุขณะชงอาหารเสริมอีกห้องหนึ่งในสถานที่เกิดเหตุ เวลาและลักษณะเดียวกันแล้ว ได้ยินเป็นเสียงปืนชัดเจน ไม่คล้ายเสียงประทัดดังที่จำเลยกล่าวอ้างนั้น ก็เป็นความเห็นของ พล.ต.ต.โกสินทร์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่คุ้นเคยกับเสียงอาวุธปืน

นอกจากนี้สมมติฐานที่ว่าพบรอยนิ้วมือ 1 รอย รอยฝ่ามือแฝง 2 รอยที่ขวดน้ำดื่ม ซึ่งไม่ตรงกับรอยนิ้วมือและฝ่ามือของจำเลย ผู้ตาย และคนในบ้าน แสดงว่ามีบุคคลอย่างน้อย 1-3 คนอยู่ในห้องที่เกิดเหตุนั้น ได้ความจาก พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานจำเลย เบิกความว่า อาจจะมาจากการขนส่งหรือมาจากบุคคลใดก่อนหน้านี้ แม้ว่าจับขวดน้ำดังกล่าวเป็นเวลานานเป็นปีก็สามารถพบลายนิ้วมือแฝงที่ขวดน้ำ ซึ่งโจทก์ไม่สืบพยานอธิบายให้เห็นเป็นอย่างอื่น หลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยได้

ส่วนสมมติฐานท่านั่งของผู้ตายขณะตายเป็นท่าที่ผิดปกตินั้น เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย และวัตถุพยานประกอบการฉายวีซีดีวัตถุพยานแล้ว ฟังไม่ได้ว่าท่านั่งสุดท้ายของผู้ตายเป็นท่านั่งที่ผิดปกติ

ขณะที่สมมติฐานเกี่ยวกับเขม่าปืนที่หลังมือผู้ตายน้อยกว่าฝ่ามือถือว่าผิดปกติ เนื่องจากมีการทดลองแสดงท่ายิงโดยจับอาวุธปืน 2 มือ แต่ปรากฏว่าเขม่าปืนที่หลังมือจะมากกว่าฝ่ามือเสมอ และเขม่าปืนที่ฝ่ามือขวาน้อยกว่าหลังมือขวา แสดงว่าผู้ตายไม่ได้ใช้มือขวากำด้ามปืนตอนยิง เพราะถ้าจับเขม่าปืนต้องตรวจพบที่หลังมือมากกว่าฝ่ามือนั้น เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุ ไม่มีผู้ใดทราบว่าผู้ตายทำอะไร ยิงปืนมาแล้วหรือไม่ ลำพังผลการตรวจธาตุในเขม่าปืนที่ฝ่ามือขวาของผู้ตายมากกว่าหลังมือขวา จึงยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังว่าผู้ตายไม่ได้ยิงตนเอง

สมมติฐานที่ว่ารอยเลือดบนศพผู้ตายบริเวณเหนือคิ้วมีรอยสัมผัส หลังมือซ้ายคล้ายมีรอยสัมผัส เหนือข้อศอกซ้ายมีรอยคล้ายกดไม่ให้เลือดไหลผ่าน ก็เป็นเพียงความเห็นของพยานโจทก์ ซึ่งไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยเป็นผลร้ายแก่จำเลยดังที่พยานโจทก์เบิกความได้

สำหรับข้อที่ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ พบรอยช้ำที่กลางกระหม่อม รวมทั้งรอยแตกของศีรษะผู้ตายเป็นแนวยาวจากหน้าไปหลัง น่าจะเกิดจากการกระแทกจากของแข็งไม่มีคมก่อนถูกยิง เนื่องจากรอยแตกจากรูกระสุนปืนไปสิ้นสุดที่รอยแตกดังกล่าวนั้น พยานโจทก์และพยานจำเลยต่างเป็นแพทย์ผู้มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์ในการตรวจชันสูตรศพมามากมาย รายงานการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายครั้งที่ 3 นอกจาก น.พ.เศวตแล้วยังมีกรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นแพทย์ผู้มีคุณวุฒิอีกเกือบ 10 คน โดยมีการประชุมคณะกรรมการวางแนวทางในการผ่าพิสูจน์ศพก่อน และหลังจากผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายแล้วก็มีการประชุมคณะกรรมการที่ร่วมกันผ่าศพเพื่อสรุปผลทำรายงาน แล้วจึงจัดทำรายงานผ่าตรวจพิสูจน์ศพ ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังว่า ผู้ตายถูกตีศีรษะก่อนถูกยิง

ส่วนที่เกี่ยวกับคราบเลือดในที่เกิดเหตุและสภาพศพ เห็นว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ วัตถุ เช่น กระป๋องเครื่องดื่ม  หรือกล่องนม อยู่ในสภาพปกติ เชื่อว่าไม่มีการจัดฉากและเป็นภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุในบ้านจริง คราบเลือดไหลอยู่บนนิ้วของผู้ตาย คราบเลือดดังกล่าวอยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นธรรมชาติและเห็นคราบเลือดสะสมเป็นจำนวนมากบนเสื้อผ้าของผู้ตาย มีวัตถุหลายชนิดอยู่บนโต๊ะ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอให้ฟังว่ามีผู้พยายามจัดสถานที่เกิดเหตุให้เหมือนการฆ่าตัวตาย

ประกอบกับก่อนตายไม่ถึง 1 วัน ผู้ตายได้เขียนจดหมายถึงจำเลยและน้องทุกคนว่า "ถึงน้องๆ ทุกคน สังข์ จิ๋ม นิด หน่อย ริญ น้อย เรื่องทั้งหลายขอให้ยุติกันเสียเถิด มีอะไรที่ผิดพลาดก็ขอให้ให้อภัยต่อกัน พี่น้องควรรักกันไว้ ครอบครัวบอบช้ำมามากแล้ว ขอให้หันหน้าเข้าหากัน คดีความต่างๆ ควรยุติได้แล้ว ฝากน้องเดียร์ด้วย เพราะเบื่อเหลือเกินแล้ว มีภาระอะไรกรุณาแก้ไขให้ด้วย โดยให้รู้รักสามัคคี ขอให้ลดฐิติมานะลงและหันกลับไปดีกันอย่างเดิม”

ข้อความในบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความอึดอัดในใจ ขอร้อง แสดงความเบื่อหน่าย ท้อแท้ และฝากให้ดูแลลูก แม้โจทก์จะนำสืบว่าผู้ตายมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน มีความรักกำลังจะแต่งงานกับ น.ส.ปิยะวรรณ เหมือนประสิทธิเวช ข้อนำสืบดังกล่าวก็เป็นเหตุภายนอก ไม่น่าจะมีน้ำหนักให้เชื่อถือดังเช่นความรู้สึกภายในของผู้ตายอย่างแท้จริงตามที่ได้ระบายในจดหมายที่ผู้ตายเขียนโดยสมัครใจ ไม่ได้ถูกผู้ใดบังคับขู่เข็ญ เพราะมิเช่นนั้นผู้ตายคงต้องแจ้งให้น้องอีกฝ่ายหนึ่งทราบ หรือไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว

เหตุขัดแย้งระหว่างทายาทก็ได้ความจากนางนฤมล มังกรพาณิชย์ น้องสาวผู้ตาย พยานโจทก์ว่า ทายาทแบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ส่วนผู้ตายไม่เข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งสอดคล้องกับความในใจของผู้ตายตามจดหมาย

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยกับนางมัลลิการ์ หลีละพันธุ์ น้องสาว กระทำต่อผู้ตาย หาใช่เรื่องที่ผู้ตายกระทำต่อจำเลย จึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้จำเลยวางแผนฆ่าผู้ตาย และหากจำเลยประสงค์จะฆ่าผู้ตายก็ไม่น่าที่จะวางแผนให้ผู้ตายมาพบที่ห้องของตนเองแล้วฆ่าในลักษณะเช่นนี้ ทั้งคดีได้ความจากพล.ต.ต.โกสินทร์ว่า จากการสอบสวนไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุใครชักชวนผู้ตายไปที่บ้านธรรมวัฒนะ และไม่ปรากฏว่าผู้ตายไปด้วยสาเหตุใด หรือหากเป็นเหตุปัจจุบันทันด่วนก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะดำเนินการกับผู้ตายได้แนบเนียนเสมือนการฆ่าตัวตายจนเกิดความเห็นหลายฝ่ายเช่นนี้ ผลการตรวจศพผู้ตายก็ไม่ปรากฏสารพิษ หรือยากล่อมประสาทที่จะทำให้ผู้ตายสลึมสลือหรือหมดสติไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ หรือหากเป็นการฆาตกรรมโดยการจ่อยิงขณะผู้ตายนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่เกิดเหตุ เชื่อว่าผู้ตายจะต้องขัดขืน ซึ่งน่าจะทำให้ปรากฏร่องรอยช้ำตามแขน ขาหรือเนื้อตัวร่างกายของผู้ตายให้พบเห็น

ส่วนที่จำเลยเห็นผู้ตายแล้วไม่เข้าช่วยเหลือเพียงแต่ร้องตะโกนว่าผู้ตายฆ่าตัวตายนั้น เห็นว่าเป็นเพียงความเห็นตามความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล ในภาวะที่จำเลยและผู้ตายมีปัญหาข้อขัดแย้งกันมาก่อน หากเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนตามทางนำสืบของจำเลย บุคคลซึ่งอยู่ในภาวะเช่นจำเลยย่อมตกใจและทำอะไรไม่ถูก โดยเฉพาะสถานที่เกิดเหตุเป็นห้องพักของจำเลย หากจำเลยเข้าไปแตะต้องผู้ตายก็อาจเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้ตายได้

จากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมา สรุปว่าพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบยังไม่พอให้ฟังว่าผู้ตายถูกฆาตกรรม จึงไม่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยเป็นผู้ฆ่าผู้ตายหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง

ผู้แสดงความคิดเห็น ปมุข วันที่ตอบ 2008-05-17 23:51:12 IP : 125.24.121.94


ความคิดเห็นที่ 2 (2695889)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2550 ยกฟ้องคดีที่นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับหนังสือพิมพ์อีก 8 ฉบับ เป็นเงิน 2,500 ล้านบาท กรณีที่นายสุเทพอภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 เรื่องการลดค่าเงินบาท โดยตั้งข้อสงสัยว่านายโภคิน จะนำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์
       
       คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานและศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงก่อนมีคำพิพากษา เปิดเผยให้เห็นความจริงที่ถูกเก็บงำเป็นความลับมาตลอดร่วมสิบปี ทั้งยังเผยให้เห็นธาตุแท้ของนักกฎหมายระดับชั้นนำของประเทศ ขณะที่ปริศนาและข้อพิรุธสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลดค่าเงินบาทได้ปรากฏให้เห็นมูลความจริง
       

       ต่อไปนี้ คือ คำฎีกาและการนำสืบของโจทก์ (นายโภคิน พลกุล) การนำสืบต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) การพิเคราะห์ข้อเท็จจริงของศาล และคำพิพากษาในคดีประวัติศาสตร์
       
       …………………………………..
       
       ศาลฎีกา รับคำฎีกาของโจทก์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 และศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า โจทก์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปรารีส ประเทศฝรั่งเศส
       
       หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอาจารย์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
       
       นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มต้นจากอาจารย์ ต่อมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ทั้งมีตำแหน่งทางบริหารในมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
       
       ทั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกา กรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และกรรมการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ต่อมา ได้ลาออกจากราชการและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
       
       เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงทางวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 9 และช่อง 11 ถ่ายทอดเสียงไปทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย การถ่ายทอดดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ทราบดี ขณะนั้น จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน
       
       จำเลยที่ 1 อภิปรายกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบถึงการตัดสินใจจะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และได้พาดพิงถึงโจทก์ว่า ได้นำข้อมูลที่ทราบไปบอกแก่ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ได้อาศัยข้อมูลดังกล่าวทำการซื้อขายเงินตราในระยะ 2 วัน ทำกำไร 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล ทำให้พรรคพวกของตัวเองได้ประโยชน์ เป็นการผิดศีลธรรมจรรยา และเป็นการที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เองก็จะอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ได้
       
       กล่าวโดยสรุป กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ในข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าบาท ซึ่งทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย ทั้งยังกล่าวว่า หากจำเลยที่ 1 พูดไม่ถูกต้องก็ให้นำไปฟ้องเป็นคดีต่อศาล ปรากฏตามคำอภิปรายของจำเลยที่ 1
       
       ***ในวันรุ่งขึ้น หลังจากจำเลยที่ 1 หนังสือพิมพ์ได้ลงพาดหัวข่าวในทำนองที่เชื่อคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ว่า ด็อกเตอร์ทักษิณ กับโจทก์ มีส่วนรู้เห็นในการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และนำข้อมูลดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นเป็นข้อความที่ใส่ร้ายและเป็นเท็จ โจทก์ไม่เคยทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ไม่เคยติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ และไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณ หรือบุคคลอื่นใดหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว
       
       ***ต่อมา พรรคความหวังใหม่ มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบการซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และย้อนหลังขึ้นไปอีก 2 สัปดาห์ แต่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ตอบกลับมา
       
       พรรคความหวังใหม่ จึงได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของเดือนก่อนหน้าร้อยละ 12 เนื่องจากเป็นช่วงกลางปีจึงมีเงินกู้และดอกเบี้ยครบกำหนดต้องชำระเป็นจำนวนมาก ส่วนการซื้อขายในตลาดต่างประเทศนั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดต่างประเทศ ธนาคารผู้ค้าจะแจ้งเฉพาะอัตราที่เสนอซื้อขายโดยไม่แจ้งปริมาณซื้อขาย (ตามเอกสารหมายเลข จ.3)
       
       โจทก์เห็นว่า เอกสารหมายเลข จ.3 ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่มีหนังสือถามไป จึงให้รองผู้อำนวยการพรรคความหวังใหม่ มีหนังสือไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อมูลของบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท
       
       ต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนั้นคือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ไม่ตอบหนังสือกลับมายังพรรคความหวังใหม่ พรรคความหวังใหม่ จึงมีหนังสือสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง
       
       ต่อมา กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง มีหนังสือตอบกลับมายังพรรคความหวังใหม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบคำถามของพรรคความหวังใหม่ไปแล้ว
       
       หนังสือตอบกลับสรุปว่า ไม่ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทลอยตัว
       
       การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ร่วมสอนหนังสือพูดหยอกล้อเรื่องที่โจทก์คงได้เงินไปหลายร้อยล้านบาท เป็นการเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 ได้อภิปราย ซึ่งหลังจากที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังจากภาครัฐบาล
       
       เหตุที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ เนื่องจากต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ใส่ร้ายป้ายสีทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าโจทก์ได้ผลประโยชน์จากการทำกำไรของด็อกเตอร์ทักษิณอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงขอเรียกค่าเสียหาย 2,500,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนอื่นอีก
       
       จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อภิปรายในสภาเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันทุกสมัยในกรณีที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การประชุมในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 นั้น โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับโดยมีผู้รู้เห็นเพียง 3 คน คือ ตนเอง นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       แต่จำเลยที่ 1 ทราบว่า โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย โดยทราบจากนายภูษณะ ปรีมาโนช นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ และนายเริงชัย มะระกานนท์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย จึงเห็นเป็นข้อพิรุธว่าโจทก์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการค้าขายเก็งค่าเงินบาทได้ผลกำไร
       
       การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้ข้อความยืนยันว่าโจทก์ทุจริต แต่จะใช้คำว่าตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ว่าไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใส สงสัยว่าโจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการปรับลดค่าเงินบาทไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ด็อกเตอร์ทักษิณ ไม่ได้รับความเสียหายจากการปรับค่าลดค่าเงินบาทในครั้งนี้ แต่กลับได้รับผลกำไรและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดค่าเงินบาท
       
       ในการอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาใส่ความหรือใส่ร้ายโจทก์ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 157 ได้บัญญัติคุ้มครองการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาไว้ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นเป็นเอกสิทธิ์ ผู้ใดนำไปฟ้องร้องไม่ได้
       
       แม้การอภิปรายในที่ประชุมจะมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและของประชาชน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ย้อนหลังเพื่อเป็นโทษได้ แต่ต้องนำส่วนที่เป็นคุณมาใช้บังคับ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เนื่องจากก่อนเป็นนักการเมืองโจทก์เป็นนักวิชาการไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก ทั้งไม่เคยทำธุรกิจค้าขายร่วมกับชาวต่างประเทศและเสียภาษีเพียงปีละหลักพันบาทเท่านั้น
       
       พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ร่วมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
       
       ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2540 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เป็นการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคือพลเอกชวลิต และมีการถ่ายทอดไขข่าวแพร่หลายทั้งการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุและแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ จำเลยที่ 1ซึ่งขณะนั้นป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต
       
       จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
       
       ***จำเลยที่ 1 อภิปรายว่า "การที่มีคนมีกำไรอย่างนี้นะครับ ทำให้ผมสงสัยว่ามีคนอื่นที่ได้กำไร ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อพลเอกชวลิต แต่เป็นพวกที่เชื่อพลเอกชวลิต แล้วได้กำไรมีไหม มีครับท่านประธาน เพราะเขาเชื่อว่าพลเอกชวลิตจะตัดสินใจลดค่าเงินบาทเมื่อไร คนนี้เอาเปรียบคนไทยทั้งชาติ คนนี้เอาข้อมูลภายในไปแสวงหาประโยชน์ มีข่าวลือกันมากในตลาดการเงินในประเทศไทยว่า ขาใหญ่ที่ร่ำรวยนั้น รวยถึงขนาดมีการันตีได้ว่า เลือกตั้งคราวหน้าสบายกันทุกคน
       
       ท่านประธานที่เคารพครับ ผมสงสัยเรื่องนี้แล้ว ท่านประธานต้องเห็นใจอย่างยิ่งที่ผมมีความสงสัย เพราะพลเอกชวลิตแสดงพิรุธ พลเอกชวลิตแสดงพิรุธ 2 ประการ
       
       ***ประการที่ 1 พลเอกชวลิตแสดงพิรุธด้วยการมาพูดจาในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี ทั้งวิทยุ ว่าในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่จะประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ทำอย่างเป็นความลับที่สุด รู้กัน 3 คน เท่านั้นเอง คือพลเอกชวลิต นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       ตรงนี้เป็นพิรุธครับท่านประธาน ผมสอบสวนมีพยานหลักฐานยืนยันได้ ถ้าพลเอกชวลิตต้องการรู้ว่า ต้องการที่จะเถียงกับผม ผมท้าให้ฟ้องศาลเรื่องนี้เพราะผมมีหลักฐาน พยานบุคคลยืนยันว่า วันที่ตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้รู้กันแค่ 3 คนมีคนที่ 4 รู้ด้วย
       
       ท่านประธานที่เคารพครับ เข้าประตูทำเนียบนี่มียามรักษาการณ์ มีเจ้าหน้าที่ มีว่า วันนั้นเวลานั้นในห้องนายกรัฐมนตรีมีใครอยู่กี่คน ผมแอบได้ยินมาด้ว ว่า พูดอย่างไรด้วย มีคนเขาเล่าให้ผมฟัง เขาพร้อมที่จะเป็นพยานให้ผม คนที่ 4 ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรที่จะนั่งอยู่ในการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ตามตำหนิรูปพรรณที่คนเขาให้การมา รวมทั้งแผลเป็นบอกว่าชื่อนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เคยปรากฏว่า ในวันที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องมีคนมานั่งใกล้ชิดกำกับอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีควรมีสติ มีปัญญาที่จะตัดสินวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีคนกำกับ
       
       ***ผมสงสัยว่า นายโภคิน พลกุล ไปนั่งอยู่ทำไมในเวลานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายโภคิน ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะให้นายโภคินล่วงรู้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตัดสินใจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันตัดสินใจเท่านั้น แต่เรื่องนี้แม้พลเอกชวลิตจะมาพูดกับคนทั้งชาติว่ารู้กัน 3 คน แต่ที่จริงรู้กัน 4 คน นายโภคินนั่งอยู่ด้วยตลอดในเวลา 1 ชั่วโมง ที่หารือกันเรื่องนี้ หารือกันวันที่เท่าไร ท่านประธานครับ วันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันอาทิตย์ เวลา 9.30 นาฬิกา เป็นต้นไป
       
       ***ตรงนี้พลเอกชวลิต แสดงพิรุธอีก เพราะพลเอกชวลิตบอกกับสภานี้ว่าได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะประกาศที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ความตรงนี้มีนัยที่น่าสนใจมาก
       
       ***ท่านประธานครับ พลเอกชวลิตคล้ายๆ จะบอกกับสภานี้ว่า ตัดสินใจวันที่ 1 รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 2 ประกาศเลย เหมือนกับเป็นการป้องกันตัวไว้ก่อนว่าไม่มีใครหยิบฉวยจังหวะตรงนี้ไปหาประโยชน์ได้หรอก ความจริงไม่ใช่ ไปปรึกษาการตัดสินใจครั้งสุดท้ายวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันอาทิตย์ 9.30 น.
       
       ก่อนหน้านี้มีคนนั่งกันอยู่ในห้องหลายคนมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีสภาพัฒน์ฯ พอ 3 คนนี้เข้าไปก็ให้คนอื่นออก แต่เหลือนายโภคินเอาไว้ แล้วตัดสินใจเสร็จ จากวันที่ 29 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ รุ่งขึ้นวันที่ 30 เป็นวันจันทร์ วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันอังคาร
       
       ***พลเอกชวลิต มาพูดที่นี่ว่า วันที่ 1 เป็นวันหยุดกลางปีของธนาคาร ใครรู้อะไรก็ทำอะไรไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยหยุด ท่านประธานครับ ธนาคารฮ่องกง ธนาคารสิงคโปร์ไม่หยุด รู้ล่วงหน้า 2 วัน ทำเงินได้หลายพันล้านบาทครับ ถ้าคนนั้นมีเงินในระดับที่จะไปลงทุนได้
       
       ***ความ 2 ประการนี้เป็นพิรุธ พิรุธเรื่องที่บอกว่ารู้กัน 3 คน ทั้งๆ ที่รู้กัน 4 คน พิรุธเรื่องที่บอกว่า ตัดสินวันที่ 1 ทั้งๆ ที่ตัดสินเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พิรุธนี้ทำให้ผมสงสัยว่าอย่างไร สงสัยว่า เอาเวลาช่วงที่ขาดไปนั้นไปให้พรรคพวกของตัวเองได้ไปซื้อเงินดอลลาร์ไว้ล่วงหน้า ไปซื้ออัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้วทำกำไร
       
       ท่านประธานที่เคารพครับวันนี้ผมยอมบาป คนที่ผมสงสัยมากที่สุดนั่งอยู่ตรงนั้นครับ ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ครับผู้ต้องสงสัยของผม ท่านด็อกเตอร์ทักษิณไม่ได้ทำบาปอะไรหรอกครับ ที่ผมสงสัยคือสงสัยว่ารัฐมนตรีโภคินจะเป็นคนบอกความลับเรื่องนี้กับด็อกเตอร์ทักษิณ แล้วด็อกเตอร์ทักษิณไปซื้อขายเงินไว้ล่วงหน้าทำกำไร
       
       ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านได้กำไรไปเยอะในขณะที่คนในชาติน้ำตาไหลกันทุกคน ผมไม่แปลกใจว่า หลังจากนั้นไม่นาน ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ก็เก่งขนาดทำเงินได้ 2 วัน 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ก็น่าจะให้เป็นหรอกครับ
       
       ***ท่านประธาน นี่เป็นข้อสงสัยของผม ผมคาดคะเนสงสัยด้วยเหตุผลแวดล้อมอย่างนี้และผมมีประจักษ์พยานหลักฐานว่า หลังจากนายโภคินได้รับความลับเรื่องนี้ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร เสียอย่างเดียวว่า ผมไม่มีหูทิพย์ว่าพูดกันอย่างไรเท่านั้นเองครับ แต่ผมสงสัย และผมรู้ว่านายโภคินได้พูดความลับเรื่องนี้กับคนอื่นอีก ถ้าท่านรัฐมนตรีโภคินสงสัยฟ้องศาล จะได้รู้ว่า คนที่ท่านบอกนั้นจะเป็นพยานให้ท่านหรือจะเป็นพยานให้ผม
       
       การที่มีคนรู้ความลับและเอาความลับไปเปิดเผยแล้วไปหาประโยชน์กันมันผิดทั้งคุณธรรม ทั้งจรรยา ผมต้องเรียนกับท่านประธานตรงๆ นะครับ ผมไม่สามารถจะสงสัยคนอื่นที่เปิดเผยความลับได้หรอกนอกจากรัฐมนตรีโภคิน เพราะว่า คนแรกคือนายกรัฐมนตรีผมเชื่อว่า ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่บอกด้วยปากตัวเอง
       
       คนที่ 2 คือ รัฐมนตรีฯ ทนง ถึงจะเคยมีความสัมพันธ์กับด็อกเตอร์ทักษิณมาก่อน ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ศักดิ์ศรีขุนคลังของประเทศคงไม่เปิดปากคนที่ 3 คือ นายเริงชัย มะระกานนท์ ที่รู้เรื่อง เขาเป็นลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศไทยแบงก์ชาติ ผมว่า จิตวิญญาณเขาคงหนักแน่นไม่ทำอย่างนั้น คนที่ 4 ซึ่งไม่เกี่ยวกับเขาละสิครับไปนั่งอยู่ด้วยนี่สิครับ ไม่ให้ผมสงสัยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลครับ ท่านประธานครับ...."
       
       วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพาดหัวข่าวการอภิปรายของจำเลยที่ 1
       คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
       
       คดีมีปัญหาวินิจฉัยในประการต่อไปว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
       
       โจทก์เบิกความว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และโจทก์นำข้อมูลที่ทราบไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ด็อกเตอร์ทักษิณอาศัยข้อมูลที่ได้รับทราบจากโจทก์ไปทำการซื้อขายเงินตราในระยะเวลา 2 วัน ได้กำไร 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล และพรรคพวกของโจทก์ได้ประโยชน์เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา
       
       โดยสรุปจำเลยที่ 1 กล่าวว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับด็อกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเสียหาย
       
       ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพิมพ์โฆษณาพาดหัวข่าวและลงข้อความว่า โจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่ทราบว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ทั้งไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
       
       ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาท โดยก่อนวันที่โจทก์อภิปรายได้มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ว่า ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทได้รั่วไหลไปสู่นักธุรกิจก่อนแล้ว
       
       พลเอกชวลิตได้ออกมายืนยันว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับและมีผู้รู้เพียง 3 คน เท่านั้น คือพลเอกชวลิต นายทนง พิทยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       เหตุที่จำเลยที่ 1 อภิปรายเกี่ยวกับโจทก์เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลจากนายภูษณ ปรีย์มาโนช และนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์ ทั้งได้ทราบจากนายเริงชัย มะระกานนท์ ด้วยว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ไม่ได้มีบุคคลเพียง 3 คนดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ได้ร่วมประชุมด้วย
       
       ในการอภิปรายจำเลยที่ 1 ไม่เคยอภิปรายยืนยันว่า โจทก์ทุจริต จำเลยที่ 1 อภิปรายโดยตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ว่า โจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ
       
       จำเลยที่ 1 อภิปรายในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการอภิปรายตามหน้าที่ และเป็นการติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
       
       ***เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยบอกด็อกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
       

       ***การอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นความเท็จทั้งหมดแต่กลับได้ความจากนายเริงชัยพยานโจทก์เองว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 พยานกับนายทนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าพบพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท โจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย นายทนง พูดขึ้นว่า ที่มาพบก็เนื่องจากจะปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท พยาน (นายเริงชัย) จึงพูดขึ้นว่า เรื่องนี้จะนำมาพูดในขณะนี้สมควรหรือไม่ เนื่องจากมีโจทก์อยู่ด้วย
       

       นายกรัฐมนตรี ก็พูดขึ้นว่า ไม่เป็นไรให้โจทก์อยู่ด้วยได้ และรับทราบได้ ดังนั้น นายทนงซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้รายงานผลสรุปของคณะกรรมการที่ได้เสนอต่อพยาน (นายเริงชัย) โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว
       
       นอกจากนี้ นายทนง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา พยาน(นายทนง)ได้ไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมปรึกษาหารือทางด้านเศรษฐกิจ นายเริงชัยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีพร้อมกับพยาน และโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งมีบางตอนที่นายกรัฐมนตรีถามที่ประชุมว่า หากประชาชนมีคำถามเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน จะให้ตอบอย่างไร นายเริงชัยได้ให้คำแนะนำว่า ให้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่า ยังไม่มีการดำเนินการอย่างใด
       
       ***ดังนี้ เห็นได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวข้างต้นแตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์โดยสิ้นเชิง พยานโจทก์ทั้งสองปาก (นายเริงชัยและนายทนง) ดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 29 มิถุนายน 2540 และไม่มีส่วนได้เสียในคดี ทั้งเป็นพยานที่โจทก์อ้าง จึงเชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความไปตามความจริง ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1
       
       ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ขณะที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย
       
       นอกจากนี้ นายเริงชัย ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ตามประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาทจะรู้กันเพียง 3 คน เท่านั้น คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี
       
       เหตุที่เป็นความลับเนื่องจากว่า หากบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องล่วงรู้จะนำไปหาประโยชน์โดยแสวงหากำไร พยานจึงท้วงติงนายกรัฐมนตรีว่า ควรที่จะพูดเรื่องลดค่าเงินบาทในขณะนั้นหรือไม่เพราะมีโจทก์อยู่ด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน
       
       ***ดังนี้ จึงเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า โจทก์ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง
       
       ส่วนที่จำเลยที่ 1 อภิปรายต่อไปว่า จำเลยที่ 1 สงสัยว่า โจทก์เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ด็อกเตอร์ทักษิณนั้น
       
       ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิและหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิตได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 148 ถึงมาตรา 150 ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชวลิตเป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       
       การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ร่วมอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายถึงการทำงานของพลเอกชวลิตว่ามีข้อบกพร่องและไม่ถูกต้องอย่างไรนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 กำหนดไว้
       
       ***และการกระทำของพลเอกชวลิตที่ยอมให้โจทก์ได้ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ถึง 3 วันทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย
       
       และหลังจากนั้นยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต นายทนง และนายเริงชัย เป็นข้อพิรุธสำคัญ
       
       ***ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้
       
       จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง
       
       การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อยลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎพรรคฝ่ายค้านให้ร้ายโจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร
       
       การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
       
       ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำต้องวินิยฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป
       
ผู้แสดงความคิดเห็น ปมุข วันที่ตอบ 2008-05-17 23:56:58 IP : 125.24.121.94


ความคิดเห็นที่ 3 (2743332)
ขอบคุณมากครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น squawk วันที่ตอบ 2008-05-19 12:29:20 IP : 125.27.1.190


ความคิดเห็นที่ 4 (3039932)

 

ขอบคุณคะได้งานส่งคุณครูแล้ว

ผู้แสดงความคิดเห็น ปลายฟ้า หนาวใจ วันที่ตอบ 2009-08-13 15:25:16 IP : 221.128.120.35


ความคิดเห็นที่ 5 (3145406)

ขอบคุณด้วยครับ ขอบคุณมากๆนะครับ ช่วยได้มากเลยครับ จะนำเรื่องส่งอาจารย์พรุ่งนี้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น นายป๋อง (lukkyboy-muk195-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-01-13 16:32:19 IP : 125.27.248.117



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.