ReadyPlanet.com


การรังวัดสอบเขต


 ขออนุญาตสอบถามค่ะ 1.เนื่องจากโฉนดที่ดินยังไม่มีการปักหลักโฉนดด้านทิศตะวันตกจึงทำให้มีปัญหากับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งคู่กรณีเข้ามาตัดต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในที่ของเรา จึงทำให้เกิดการถกเถียงกันและคู่กรณีอ้างว่าเป็นที่ของตนเองซึ่งไม่ตรงตามโฉนดของเขา ทางเราจึงให้กรมที่ดินมาสอบเขตรังวัดที่ดินใหม่ตามโฉนดพร้อมปักหลักโฉนด จึงอยากสอบถามว่าหากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินไปสอบเขตตามโฉนดที่ดินตามความเป็นจริงแต่คู่กรณีไม่ยินยอมทั้งที่ถูกต้องตามโฉนดของทั้งสองฝ่าย และไม่เซ็นยินยอมให้ทางเราจะสามารถทำอย่างไรได้คะ

2.หากเรายืนกรานที่จะปักโฉนดตามจริงเขามีสิทธิ์ค้านได้หรือไม่

3.ที่ดินด้านทิศตะวันออกมอบให้เป็นพื้นที่สาธารณะตั้งศาลาหมู่บ้านซึ่งได้มีการปักหลักโฉนดแบ่งแยกโดยหน่วยงานราชการแล้วเป็นที่เรียบร้อยทิศใต้ติดกับทางสาธารณะต้องมีหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านให้มาชี้แนวเขตสาธารณะ ผู้ใหญ่บ้านจะชี้ตามหลักเดิมที่ปักไว้ใช่หรือไม่ หากผู้ใหญ่บ้านไม่ชี้ตามหลักเดิมถือว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่(เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านเป็นพวกเดียวกับคู่กรณีซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)



ผู้ตั้งกระทู้ นิศาชล (mam_loveaa-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2021-08-20 11:37:27 IP : 101.109.96.45


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4441631)

 ปัญหาที่ดิน

 1.เนื่องจากโฉนดที่ดินยังไม่มีการปักหลักโฉนดด้านทิศตะวันตกจึงทำให้มีปัญหากับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งคู่กรณีเข้ามาตัดต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในที่ของเรา จึงทำให้เกิดการถกเถียงกันและคู่กรณีอ้างว่าเป็นที่ของตนเองซึ่งไม่ตรงตามโฉนดของเขา ทางเราจึงให้กรมที่ดินมาสอบเขตรังวัดที่ดินใหม่ตามโฉนดพร้อมปักหลักโฉนด จึงอยากสอบถามว่าหากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินไปสอบเขตตามโฉนดที่ดินตามความเป็นจริงแต่คู่กรณีไม่ยินยอมทั้งที่ถูกต้องตามโฉนดของทั้งสองฝ่าย และไม่เซ็นยินยอมให้ทางเราจะสามารถทำอย่างไรได้คะ

ตอบ...ถ้าเจ้าของที่ดินข้างเคียง ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อรับรองแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดิน จะแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงไปรับรองแนวเขต ภายใน30 วัน  ถ้าไม่ไปลงชื่อรับรอง  ถ้าคุณยืนยันว่า แนวเขตที่รังวัดได้นั้นถูกต้อง  เจ้าพนักงานที่ดินจะรับรองแนวเขตตามที่รังวัดได้  โดยไม่ต้องให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 69 ทวิวรรคสาม  แต่การใช้วิธีนี้ปัญหาน่าจะไม่จบ เพราะคนข้างเคียงก็คงโวยวายไม่เลิก สุดท้ายก็มีข้อพิพาทกันดังเดิม  ดังนั้นเจ้าพนักงานที่ดิน  มักใช้อำนาจตาม ป.ที่ดิน ม.69 ทวิ วรรคห้า คือแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องศาลภายใน 90 วัน 

2.หากเรายืนกรานที่จะปักโฉนดตามจริงเขามีสิทธิ์ค้านได้หรือไม่

ตอบ...ก็เกี่ยวเนื่องกับคำตอบข้อ  1  คือถ้าคุณยืนยันจะปักหลักโฉนดที่ดินตามที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัด  ก็คงมีการโต้แย้งกันวุ่นวาย  ถ้าไม่มีการยับยั้งชั่งใจ อาจจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นได้  ดังนั้นไม่ควรเข้าไปในแนวเขตที่มีข้อพิพาท ถ้าเขาไม่ยินยอมท่าเดียว ก็ควรให้ทนายความฟ้องข้อหาบุกรุก.. ในการสืบพยาน   ศาลก็ต้องรับฟังความเห็นของเจ้าพนักงานที่ดิน  ถ้าเขายืนยันว่า มีการรังวัดสอบเขตแล้ว  ได้แนวเขตตามแผนที่พิพาท ที่ทำมาตามคำสั่งศาล  คุณน่าจะอยู่ในฐานะได้เปรียบ

3.ที่ดินด้านทิศตะวันออกมอบให้เป็นพื้นที่สาธารณะตั้งศาลาหมู่บ้านซึ่งได้มีการปักหลักโฉนดแบ่งแยกโดยหน่วยงานราชการแล้วเป็นที่เรียบร้อยทิศใต้ติดกับทางสาธารณะต้องมีหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านให้มาชี้แนวเขตสาธารณะ ผู้ใหญ่บ้านจะชี้ตามหลักเดิมที่ปักไว้ใช่หรือไม่ หากผู้ใหญ่บ้านไม่ชี้ตามหลักเดิมถือว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่(เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านเป็นพวกเดียวกับคู่กรณีซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน)

ตอบ...โดยหลักพยานที่ชี้แนวเขต  ก็ต้องชี้แนวเขตไปตามความเป็นจริง  ถ้ามีเจตนาชี้แนวเขตผิดไปจากความเป็นจริง  ก็เข้าข่ายความผิดฐานเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้คุณเสียหาย ตาม ปอ. ม.157 มีโทษจำคุก 1-10 ปี  เขาน่าจะไม่กล้าเสี่ยง  เพราะผู้ใหญ่บ้านถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตาม ปอ.ม.1 (16) ถ้าทำผิดจะรับโทษสูงกว่าบุคคลทั่วๆไป

ข้อเสนอแนะ...

  การมีที่ดินที่มีแนวเขต ติดต่อกับที่ดินข้างเคียง  ควรปักเสาคอนกรีต  ระยะห่าง 1-2 เมตร ตลอดแนวเขต  โดยไม่ต้องมีลวดหนามก็ได้  เมื่อมีการบุกรุกเข้ามาจะสังเกตุเห็นได้ชัดชัดเจน การปักเสาคอนกรีต ควรทำตั้งแต่ยังไม่ข้อพิพพาท  และให้เจ้าของที่ดินมาระวังแนวเขตด้วย  แต่ถ้ามีข้อพิพาทแล้วคงปักแนวเขตได้ลำบาก....

 การฟ้องศาลฐานบุกรุก หรือฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหาย แม้จะสามารถทำได้  แต่ต้องพินิจพิจารณาดูให้ถ่องแท้ก่อนว่า  จะคุ้มค่าหรือไม่  เพราระเมื่อเกิดเป็นคดีฟ้องร้องกัน  คงมีข้อพิพาทกันยาวนาน ต้องเสียเงินเสียเวลาไปมากมายพอสมควร  ถ้าที่ดินที่ถูกรุกล้ำนั้นไม่มากมายจนเกินไป  ก็ปล่อยไปเถอะ เพราะฟ้องไปน่าจะไม่คุ้ม

   อีกช่องหนึ่งที่ขอแนะนำคือ การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง   ก็ไปที่ศาลที่ดินตั้งอยู่  แจ้งเจ้าหน้าที่  ให้เชิญคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง  การเจรจาจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือทั้งสองฝ่าย ภายในการกำกับดูแลของศาล  การเจรจาจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม  น่าจะมีทางออกที่ดีของทั้งสองฝ่าย  ถ้าตกลงกันไม่ได้ จะฟ้องทีหลัง ก็ยังไม่สาย  สิ่งสำคัญในการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคือ  ไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยความปรารถนาดี ครับ

 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2021-08-22 09:45:06 IP : 223.205.247.24


ความคิดเห็นที่ 2 (4441648)

 ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับความรู้และคำแนะนำที่ได้รับค่ะ ทางเราเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาไม่ได้คิดจะฟ้องศาลแต่อย่างใดค่ะ ต้องการปักหลักโฉนดให้เสร็จสิ้นเท่านั้นค่ะ ส่วนเรื่องรุกล้ำตัดต้นไม้คงอโสิกรรมให้เค้าไปค่ะ ครอบครัวของเราขอขอบคุณอีกครั้งค่ะขอขอบคุณจริงๆค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นิศาชล วันที่ตอบ 2021-08-23 08:08:14 IP : 27.55.77.136



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.