ReadyPlanet.com


การขอออกโฉนดที่ดินจากพินัยกรรม


 เรียนปรึกษาอีกครั้งนะคะ 

หนูอยากสร้างบ้านใหม่ให้แม่แต่กลัวอนาคตจะโดนไล่ที่

เรื่องคือ บ้านที่หนูอยู่ปัจจุบันนี้และที่ดินเปล่าข้างๆเป็นมรดกตกทอดจากยาย(ยายคือมารดาของแม่หนูยายมอบบ้านพร้อมที่ดินให้แม่หนูอยู่ ส่วนที่เปล่าข้างๆยายมอบให้ลูกคนอื่นๆ มอบให้กันแบบปากเปล่า ไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ใดๆแม่ได้บ้านพร้อมที่ดินเพราะแม่เป็นคนดูแลตากับยายมาตั้งแต่เด็ก ตากับยายมีลูกทั้งหมด8คน ลูกยังมีชีวิตอยู่ทุกคนแม่เป็นลูกคนที่ลูกคนอื่นๆก็มีบ้านมีครอบครัวอยู่หมู่บ้านอื่นถัดๆไปกันหมด แต่ก็ได้รับมอบที่เปล่านี้จากตากับยายด้วย รู้เห็นกันหมดทุกคน ทีนี้หนูอยากรื้อบ้านหลังนี้แล้วสร้างหลังใหม่ให้เหลือชั้นเดียวเพราะบ้าน2ชั้นหลังที่ว่า อยู่มายาวนานค่อนข้างพุพังมากๆกลัวจะถล่มเป็นอันตรายกับพ่อแม่ หนูเลยปรึกษาป้า(ลูกคนโตทั้ง3คนของยาย)ว่าอยากได้โฉนดที่ดินให้เป็นกิจลักษณะ เพราะหนูเป็นลูกคนเดียว อยากมีบ้านที่มั่นคง  ป้าลูกสาวคนแรกของยายจึงเล่าให้หนูฟังว่าที่ดินผืนนี้แต่เดิมเป็นที่ดินของตาทวด(ตาทวดคือสามีใหม่ของแม่ของยายหนูซึ่งตอนตาทวดมีชีวิตอยู่ ตาทวดมีลูกติดอยู่แล้ว(แต่ตอนนี้ป้าไม่รู้ว่าลูกๆปู่ทวดเขาไปอยู่ไหนตาทวดได้หย่าร้างกับภรรยาแล้วมาอยู่กับยายทวดซึ่งยายทวด(ยายทวดคือแม่ของยายหนู)ก็มีลูกติดกับสามีเก่าเหมือนกันคือยายของหนู  ตาทวดมาอยู่กับยายทวด จนยายของหนูโตแล้วแต่งงานกับตา มีลูกด้วยกันทั้งหมด8คน ตาทวดกับยายทวดเป็นคนช่วยเลี้ยงลูกคนโตทั้ง3คนของตากับยายจนเติบโต ก่อนที่ตาทวดจะเสียชีวิต จึงได้เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงที่นาของตาทวดที่มีอยู่ให้กับป้าคนโตทั้ง3คน(***แต่ป้าบอกว่าตาทวดไม่ได้เขียนระบุเจาะจงที่ดินผืนนี้ในพินัยกรรมแต่บอกเป็นทรัพย์สินโดยรวม แม่ของหนูยังไม่เห็นพินัยกรรมฉบับนี้ค่ะ )ทีนี้หนูอยากสร้างบ้านใหม่ให้แม่ จึงไปปรึกษาป้าคนโต ป้าคนโตบอกว่าสร้างพออยู่ไปก่อนได้ไหม  ไม่ต้องขอโฉนดหรอกเพราะกลัวทางฝั่งลูกติดของตาทวดจะรู้ แล้วเขาจะมาฟ้องเอาที่ดินแปลงนี้ได้ แต่ถ้าอยากได้โฉนดจริงๆให้หนูช่วยเป็นคนดำเนินการเพราะป้าอายุเยอะแล้ว หนูจึงปรึกษาน้าคนอื่นๆแต่ละคนก็บอกว่าอยากให้ที่นี้มีโฉนดจะได้แบ่งสรรปันส่วนกันให้ถูกต้องแต่อยากให้หนูช่วยเป็นกำลังหลักในการดำเนินการเรื่องนี้เพราะไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้ (ตอนนี้ทวดทั้ง2และตายายของหนูเสียชีวิตแล้วค่ะ)

หนูจึงขอเรียนปรึกษานะคะว่า

  • ป้าของหนูจะมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินผืนนี้แล้วออกโฉนดได้ไหมคะ (มีโฉนดแล้วค่อยโอนโฉนดให้แม่หนู ส่วนที่เปล่าข้างๆโอนให้น้าคนอื่นๆ)
  • ถ้าขอออกโฉนดที่ดิน ลูกติดของตาทวดจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องเราได้ไหมคะ
  • ถ้าต้องการออกโฉนดที่ดิน หนูต้องเริ่มดำเนินการจากขั้นตอนใดก่อนคะ หนูพยายามศึกษาเรื่องกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับที่ดินมรดกมาตลอด แต่หนูยังไม่ค่อยเข้าใจหลายเรื่องเลยค่ะ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ จิตลดา :: วันที่ลงประกาศ 2020-05-21 22:08:51 IP : 223.24.184.123


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4378154)

 ปัญหาที่ดิน

    ถ้าที่ดินไม่มีเอสารสิทธิ์ใดๆ ถือว่าเป็นดินมือเปล่า  ผู้ครอบครองอยู่ย่อมมีสิทธิ์ดีกว่าคนอื่น ตาม ปพพ. ม.1367 ม.1368  ม.1369 ม.1370  ม.1371  แม้จะเป็นที่ดินที่เป็นมรดก ตกทอดกันมา  และมีพินัยกรรมมอบให้ใครก็ตาม  ถ้าคุณแม่ เข้าครอบครอง ในฐานะเจ้าของเกินหนึ่งปี  ย่อมใช้ยันเจ้าของที่ดินได้ ตาม ปพพ. ม.1375  (คือถ้าเจ้าของที่ดิน ไม่โต้แย้ง หรือฟ้องขับไล่ ภายในหนึ่งปี  ย่อมหมดอำนาจฟ้อง)... ถ้าไปไล่สายตั้งแต่โบราณนานมา  ย่อมมองดูยุ่งยาก  ก็ตัดตอนในชั้นคุณแม่ของคุณ  ถ้าเข้าครอบครองที่ดินแปลง นี้  ย่อมมีสิทธิครอบครองดีกว่า ดังกล่าวข้างต้น....ขอแนะนำให้ไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากอัยการคุ้มครองสิทธิ์  ณ สนง.อัยการ ในเขตอำนาจศาล ที่เป็นภูมิลำเนา  เล่าข้อเท็จจริง ให้ท่านรับทราบ  น่าจะมีทางออกให้ได้  และขั้นตอนต่อไป คงต้องไป ติดต่อ สนง.ที่ดิน  เพื่อให้ออกหนังสือรับรองการครอบครองที่ดิน  ถ้ามีช่องทางทำได้  ก็คงสามารถออกเป็นโฉนดที่ดินได้ ในอนาคต..ก็อย่าเพิ่งไปปรับปรุงบ้าน หรือรื้อบ้าน  ควรเคลียร์ปัญหาเรื่องที่ดินให้จบก่อน  .....ดูเหมือนเคยตอบมาแล้วนะ ครับ

กฎหมายที่ใช้อ้างอิง  ในการตอบ....ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


มาตรา ๑๓๖๗  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

 

มาตรา ๑๓๖๘  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

 

มาตรา ๑๓๖๙  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน

 

มาตรา ๑๓๗๐  ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย

 

มาตรา ๑๓๗๑  ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา

 

มาตรา ๑๓๗๒  สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย

 

มาตรา ๑๓๗๓  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

 

มาตรา ๑๓๗๔  ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน

 

มาตรา ๑๓๗๕  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2020-05-23 07:49:23 IP : 101.51.184.126



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.