ReadyPlanet.com


หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา


อันดับแรก ขอชื่นชมด้วยความจริงใจ ที่กรุณาให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องกฏหมายให้แก่ผู้คนด้วยความตั้งใจ เคยตั้งคำถามเข้ามาแล้วถึงกรณีที่มีคนแอบอ้างชื่อเราทาง web site เกี่ยวกับเรื่อง sex และสร้าง facebook โดยใช้ชื่อเรา โดยเราได้ส่งเรื่องไปที่กระทรวง ict เพื่อตรวจสอบ อยากทราบว่า

1.ขั้นตอนต่อไป เรื่องจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อทราบ ip address ของคนที่ post ข้อความ เรื่องจะถูกส่งกลับมาที่ตำรวจใช่ไหมคะ แล้วขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร จนจบเรื่องคะ 

- เรื่องจะไปถึงศาลไหมคะ แล้วเราต้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ถ้าเรื่องไปถึงศาล

- ตำรวจต้องเรียกไปสอบปากคำหรือไม่

2.แจ้งความเพื่อประกอบการส่งเรื่องไป ict ให้ช่วยเช็ค ip address แล้ว ถ้าเรื่องกลับมาแล้วต้องแจ้งความดำเนินคดีอีกครั้งหรือไม่

3.บทลงโทษของผู้กระทำผิด จะเป็นอย่างไร หนักเบาแค่ไหนคะ เราเอาผิดได้แค่ไหน

4.เราสามารถให้ผู้กระทำผิดกระทำการใดได้บ้างเพื่อเป็นการขอโทษทางสื่อหรือต่อสาธารณชน

ขอบคุณนะคะสำหรับความรู้สำหรับเป็นวิทยาทาน



ผู้ตั้งกระทู้ p. :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-27 18:41:50 IP : 110.49.234.201


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3254290)

1-2.  การร้องทุกข์ต้องเป็นการยืนยันให้ตำรวจดำเนินคดี กับผู้กระทำความผิด  ภายในอายุความสามเดือน นับแต่ทราบการกระทำความผิด และทราบตัวผู้กระทำความผิด ดังนั้นควรคุยกับร้องเวรเจ้าของคดีให้ชัดเจนว่า  ที่คุณแจ้งความครั้งก่อน ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่  ถ้าการแจ้งความไม่ชัดเจน  คดีอาจถูกยกฟ้องได้ง่ายดังฎีกาที่ยกมาข้างล่าง  เมื่อร้องทุกข์หรือแจ้งความโดยชอบแล้ว.... ขั้นตอนต่อไปเมื่อตำรวจทราบตัวผู้กระทำความผิด   ก็คงมีหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา   และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งอัยการ เพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป    แต่  เนื่องจากคดีหมิ่นประมาทสามารถยอมความกันได้  ตำรวจก็คงให้ตกลงเจรจากันก่อน   ถ้าตกลงกันได้คดีก็ยุติ  ถ้าตกลงกันไม่ได้ ตำรวจก็ส่งเรื่องให้อัยการสเพื่อฟ้องศาล   แม้ในชั้นศาลก็จะมีการให้ไกล่เกลี่ยเจรจากันก่อนเช่นกันครับ

3.  มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี  ปรับไม่เกินสองแสนบาท   ตาม ปอ. ม.328 ที่ยกมาข้างล่าง   และในทางแพ่งคุณสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ครับ

4.  การฟ้องคดีหมิ่นประมาท   นอกจากจะมีคำขอให้ลงโทษตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถเรียกค่าเสียหายทางแพ่งไปพร้อม  และที่นิยมทำกันคือ  โจทก์มักให้จำเลยมีการลงโฆษณาเพื่อขออภัย และลงข้อหาที่แสดงถึงการสำนึกผิดที่ไปหมิ่นประมาท  ในหนังสือพิมพ์ 3-7 วันเป็นต้น

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษการสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503

นางใยอาว์ของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่า โจทก์ (เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่านางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟังจำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟัง นางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไป แม้จะโดยถูกถามที่ก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2011-08-27 20:27:09 IP : 180.180.26.94



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.