ReadyPlanet.com


ผู้จัดการมรดกโอนมรดกมาเป็นชื่อตน ยังไม่ยอมแบ่งให้กับทายาท


ผมอยากสอบถามเกี่ยวกับกฏหมายมรดก และ ผู้จัดการมรดกครับ ได้อ่านตาม website อื่นมาบ้าง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจในบางประเด็นและผู้ตอบก็มีความขัดแย้งกันเอง

คุณตาผมเสียไปปี 2555 โดยไม่ได้เขียนพินัยกรรม คุณตามีลูก 3 คน และ คุณยายยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสามได้ตกลงกันให้น้าชายเป็นผู้จัดการมรดก
1 ปีที่ผ่านมา น้าชายไม่ได้ทำการแบ่งมรดกอะไร นอกจากเปลี่ยนชื่อบัญชีเงินออมทรัพย์ และกองทุน เป็นชื่อของตน (ตรวจสอบแล้วเงินไม่มีการเคลื่อนย้าย)
โดยที่คุณแม่ของผมและน้าอีกคนนึงรับรู้รับทราบ และเชื่อว่าน้าไม่มีเจตนาทุจริต
คุณตายังมีที่ดินอีก 1 แปลง พี่น้องเห็นร่วมกันจะขายที่ดินนั้น และทำการประกาศขาย
น้าชายได้เสนอให้โอนที่ดินเป็นของเขาซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก เพื่ิอความสะดวกในการซื้อขาย
น้าผู้หญิงอีกคนนึงเห็นด้วย คุณแม่ผมจึงยอมตกลงไป แต่ก็กังวลมาก เพราะว่า ที่ดินมีราคาสูง น้าผู้ชายสุขภาพไม่แข็งแรง และ ภรรยาของน้าชายได้ชื่อว่า เขี้ยวลากดิน และไม่เป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องอีกสองคนเท่าไหร่
อยากขอความช่วยเหลือทุกท่านให้คำแนะนำหน่อยครับว่า


1. น้าชายโอนบัญชีออมทรัพย์ และกองทุน เป็นชื่อของตน แต่ไม่ยอมแบ่งมรดก โดยให้เหตุผลว่าคุณยายยังมีชีวิตอยู่จึงยังไม่ควรแบ่งเงินตอนนี้ สมเหตุสมผลหรือไม่? ผมเข้าใจว่าถ้าน้าชายแอบเคลื่อนย้ายเงิน หรือ ขายกองทุน แล้วเก็บเงินไว้เองจะถือว่าเป็นการทุจริตใช่ไหมครับ?


2. น้าชายโอนที่ดินเป็นชื่อของตนเอง อันนี้ถือการสมควรหรือไม่? น้าชายสามารถนำไปขายต่อโดยไม่บอกกล่าว หรือ ไม่มาตกลงราคากับทายาทอีกสองคนได้หรือไม่?


3. เมื่อน้าชายไปโอนที่ดินเป็นชื่อของตน เท่าที่เข้าใจคือ ทางกรมที่ดินจะระบุในโฉนดว่า เป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ เป็นไปได้หรือไม่ว่าทางกรมที่ดินจะรับโอนดินที่เป็นชื่อน้าโดยมีสิทธิ์เต็มในที่ดิน


4. ที่ดินถ้าขายไม่ได้ (หรือน้าชายเจตนาไม่ยอมขาย เช่น ตั้งราคาสูงเกินจริง) สามารถให้อยู่ในชื่อผู้ดูแลมรดกได้นานขนาดไหน จึงจะไม่ถือว่าหมดอายุความ


5. ถ้าทายาทสามารถหาผู้ซื้อมาได้และราคาได้ตามที่ตกลงกันไว้ตอนแรก ผู้จัดการมรดกสามารถปฎิเสธผู้ซื้อได้หรือไม่ครับ


6. ถ้าพบว่าน้าชายมีเจตนาจะฮุบที่ดินไว้เป็นของตน ควรฟ้องร้องภายในกี่ปี หลังจากที่โอนเป็นชื่อของน้า จึงจะไม่ถือว่าหมดอายุความ


7. ถ้าคุณแม่ของผมต้องการใส่ชื่อลงในที่ดินในฐานะทายาทผู้รับมรดกสามารถทำได้ใช่ไหมครับ? ถ้าน้าชายปฏิเสธสามารถเอาผิดทางกฏหมายได้ใช่ไหมครับ? จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างไรบ้างครับในการเพิ่มชื่อ?


8. เนื่องด้วยน้าชายสุขภาพไม่แข็งแรง ถ้าเกิดเสียชีวิตในระหว่างการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ดินมรดกที่น้าครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก จะตกทอดเป็นของใคร?


ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอยากหลีกเลี่ยงการแตกหัก หรือการฟ้องร้องให้มากที่สุด ถ้ามีความเห็นหรือคำแนะนำกรุณาชี้แนะด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ ต้น :: วันที่ลงประกาศ 2013-05-03 23:58:12 IP : 14.207.215.174


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3310091)

  1. น้าชายโอนบัญชีออมทรัพย์ และกองทุน เป็นชื่อของตน แต่ไม่ยอมแบ่งมรดก โดยให้เหตุผลว่าคุณยายยังมีชีวิตอยู่จึงยังไม่ควรแบ่งเงินตอนนี้ สมเหตุสมผลหรือไม่? ผมเข้าใจว่าถ้าน้าชายแอบเคลื่อนย้ายเงิน หรือ ขายกองทุน แล้วเก็บเงินไว้เองจะถือว่าเป็นการทุจริตใช่ไหมครับ?

 
 
 
ตอบ...น่าจะไม่สมเหตุผล  เพราะผู้จัดการมรดก  มีหน้าที่นำทรัพย์มรดกของผู้ตายมาแบ่งปันทายาทตามสิทธิ  ภายในเวลาอันสมควร  ไม่ควรเกินหนึ่งปี  แม้ยายยังมีชีวิตอยู่  กฎหมายก็มีวิธีแบ่งปันมรดกไว้ชัดเจนแล้ว... ตัวอย่าง  ถ้าเงินบัญชีของตายมี  8 ล้านบาท  ยายก็รับส่วนแบ่งในฐานะคู่สมรสไปก่อน  4  ล้านบาท  ที่เหลือก็แบ่งทายาท 4 คน ( ยายและบุตร สามคน) คนละเท่าๆกัน  สรุปยายได้ส่วนแบ่ง  5 ล้านบาท  บุตรได้ส่วนแบ่งคนละ  1  ล้านบาทเป็นต้น  ก็ไม่จำเป็นต้องมารอเวลาอะไรอีก ครับ
 
 
 
2. น้าชายโอนที่ดินเป็นชื่อของตนเอง อันนี้ถือการสมควรหรือไม่? น้าชายสามารถนำไปขายต่อโดยไม่บอกกล่าว หรือ ไม่มาตกลงราคากับทายาทอีกสองคนได้หรือไม่?
 
ตอบ....ในฐานะผู้จัดการมรดก  น้าสามารถโอนมาเป็นของผู้จัดการมรดกได้  การขาย   โดยหลักน้าต้องแจ้งทายาท  ถ้าน้าไม่แจ้งก็ได้   เมื่อนำไปขาย   ถ้าไม่นำเงินมาแบ่งปันกันตามหลัการที่ตอบในข้อ 1  ทายาท ก็มีภาระต้องไปฟ้องร้องให้ยุ่งยาก ครับ
 
3. เมื่อน้าชายไปโอนที่ดินเป็นชื่อของตน เท่าที่เข้าใจคือ ทางกรมที่ดินจะระบุในโฉนดว่า เป็นผู้ครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่าครับ เป็นไปได้หรือไม่ว่าทางกรมที่ดินจะรับโอนดินที่เป็นชื่อน้าโดยมีสิทธิ์เต็มในที่ดิน
 
ตอบ...คุณเข้าใจถูกต้อง    ในฐานะผู้จัดการมรดก   น้าสามารถนำที่ำดินไปทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ขาย  จำนอง ให้เช่า ได้เสมอ  ถ้าการกระทำของน้า  อาจทำให้ทายาทคนอื่นเสื่อมเสียสิทธิ   ทายาทต้องไปฟ้องร้องเอาเอง ครับ
 
 
4. ที่ดินถ้าขายไม่ได้ (หรือน้าชายเจตนาไม่ยอมขาย เช่น ตั้งราคาสูงเกินจริง) สามารถให้อยู่ในชื่อผู้ดูแลมรดกได้นานขนาดไหน จึงจะไม่ถือว่าหมดอายุความ
 
ตอบ...อายุความมรดกสูงสุดคือ  10 ปี   แต่ไม่น่าจะเสี่ยงรอนานถึงขนาดนั้นครับ
 
5. ถ้าทายาทสามารถหาผู้ซื้อมาได้และราคาได้ตามที่ตกลงกันไว้ตอนแรก ผู้จัดการมรดกสามารถปฎิเสธผู้ซื้อได้หรือไม่ครับ
 
ตอบ...ได้...  โดยหาเหตุผลมาอ้างได้สารพัด   เพราะผู้จัดการมรดก   คือตัวแทนของเจ้ามรดก ซึ่งไม่แตกต่างจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่อย่างไร จึงสามารถตกลงขายที่ดิน  หรือปฏิเสธการขายที่ดินได้เสมอ   ทายาทอื่นๆ ก็คงทำได้แต่มองกันตาปริบๆ   เพราะถือว่าเขายังไม่มีเจตนาทุจริต ครับ
 
 
6. ถ้าพบว่าน้าชายมีเจตนาจะฮุบที่ดินไว้เป็นของตน ควรฟ้องร้องภายในกี่ปี หลังจากที่โอนเป็นชื่อของน้า จึงจะไม่ถือว่าหมดอายุความ
 
ตอบ....ถ้าน้ามีเจตนาทุจริต   ควรแจ้งความฐานยักยอกมรดก  ภายใน สามเดือน  เพราะคดียักยอก สามารถยอมความได้ ถ้าไม่แจ้งความภายในสามเดือนจะไม่มีอำนาจฟ้อง   ส่วนทางแพ่งก็ฟ้องร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ครับ
 
 
7. ถ้าคุณแม่ของผมต้องการใส่ชื่อลงในที่ดินในฐานะทายาทผู้รับมรดกสามารถทำได้ใช่ไหมครับ? ถ้าน้าชายปฏิเสธสามารถเอาผิดทางกฏหมายได้ใช่ไหมครับ? จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างไรบ้างครับในการเพิ่มชื่อ?
 
ตอบ...คุณแม่ของคุณ   คิดหาทางออกได้ดีที่สุดแล้ว  ควรรีบดำเนินการ   คือใส่ชื่อทายาททุกคนให้ถือกรรมทสิทธิ็์ร่วมกันในเอกสารสิทธิ์   ค่าธรรมเนียมการโอนมรดก เพียงร้อยละ  50 สตางค์ของราคาประเมิน  ซึ่ง ถ้าราคาประเมิน 10 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมก็คือ 5 หมื่นบาท   ถ้าเลือกทางออกนี้   แม้อาจมีค่าใช้จ่ายบ้าง  แต่ปลอดภัย 100%   เพราะผู้จัดการมรดกไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับที่ดินได้ โดยอำเภอใจอีกต่อไป   ถ้าทายาทอื่นๆที่ถือกรรมทสิทธิ์ร่วมไม่ยินยอม ครับ....เพิ่มเติม   ถ้าน้าไม่ยินยอม   ก็ต้องร้องศาลให้แบ่งมรดกตามสิทธิ์ ครับ
 
 
8. เนื่องด้วยน้าชายสุขภาพไม่แข็งแรง ถ้าเกิดเสียชีวิตในระหว่างการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ดินมรดกที่น้าครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก จะตกทอดเป็นของใคร?
 
ตอบ...ถ้าน้าเสียชีวิต   การแบ่งมรดก  ก็เป็นไปตามหลักการในข้อ 1  ภรรยาของเขาก็รับส่วนแบ่งของน้าไป 1 ส่วน  แต่ย่อมยุ่งยาก  คือต้องร้องศาลขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของตาคนใหม่   ส่วนภรรยาของน้า   ก็ต้องร้องศาลเป็นผู้จัดการมรดกของสามี  ครับ
 
 
ถาม...ทั้งนี้ทั้งนั้นผมอยากหลีกเลี่ยงการแตกหัก หรือการฟ้องร้องให้มากที่สุด ถ้ามีความเห็นหรือคำแนะนำกรุณาชี้แนะด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
 
ตอบ....คุณคิดไว้ถูกต้องแล้ว    เพราะถ้าจะคิดมีปัญหาจะฟ้องร้องกัน   ก็ต้องอ่านนิทานเรื่อง ตาอินกะตานา หลายๆรอบก่อน แต่ความโลภไม่เคยปรานีใคร  บางทีการฟ้องร้องอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ก็ได้ ครับ.....ทางออกอีกทางหนึ่ง   คือหาญาติผู้ใหญ่ที่มีบารมี  ช่วยไกล่เกลี่ย  ให้น้ายอมแบ่งปันมรดกแ่ก่ทายาทตามสิทธิ์  ถ้าสามารถทำได้   ก็ย่อมแก้ปัญหาได้ด้วยดี   ครับ
 
 
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-05-04 05:56:37 IP : 101.51.166.202


ความคิดเห็นที่ 2 (3310124)

ขอขอบพระคุณที่สละเวลา และให้คำแนะนำมากครับผม

ผู้แสดงความคิดเห็น ต้น วันที่ตอบ 2013-05-05 01:32:24 IP : 14.207.120.170


ความคิดเห็นที่ 3 (3310125)

ขอรบกวนถามคำถามเพิ่มเติมครับ

1. น้าชายได้นำเงินมรดกไปซื้อกองทุนในชื่อของตัวเอง และสัญญา(ปากเปล่า) กับแม่ของผมและน้าอีกคนว่าจะแบ่งเมื่อคุณยายเสีย ถ้าไม่ได้แบ่งเงินตรงส่วนนี้ภายใน 1 ปี จะมีปัญหาอะไรหรือครับ?
2. ปัจจุบันคุณยายอายุ 95 ปี ไม่สามารถเดิน หรือ เซ็นเอกสารได้แล้วเพราะโรคชรา ถ้าจะให้ใส่ชื่อในโฉนดโดยให้เป็นชื่อลูกทั้ง 3 จะทำได้หรือไม่ครับ? ผู้จัดการมรดกจะมีความผิดหรือไม่ครับ ถ้าไม่ได้แบ่งตามสัดส่วนที่กฏหมายกล่าวไว้?
3. ในกรณีที่จำเป็นต้องใส่ชื่อทั้ง 4 คน เมื่อมีการขายที่ดิน คุณยายจะต้องไปเซ็นเอกสารด้วยหรือไม่ครับ?
4. ถ้าใส่ชื่อคุณยายไปด้วย จะต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนมรดกอีกรอบหรือไม่ครับ ถ้าคุณยายเสียชีวิตก่อนที่จะขายที่ดินได้ (น้าผู้ชายอ้างว่า ถ้าแบ่งที่ดินตอนนี้จะต้องเสียภาษีเพิ่ม เมื่อคุณยายเสียชีวิตก่อนที่จะขายที่ดินได้)

ขอบพระคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ต้น วันที่ตอบ 2013-05-05 02:24:53 IP : 14.207.120.170


ความคิดเห็นที่ 4 (3310148)

  1. น้าชายได้นำเงินมรดกไปซื้อกองทุนในชื่อของตัวเอง และสัญญา(ปากเปล่า) กับแม่ของผมและน้าอีกคนว่าจะแบ่งเมื่อคุณยายเสีย ถ้าไม่ได้แบ่งเงินตรงส่วนนี้ภายใน 1 ปี จะมีปัญหาอะไรหรือครับ?

 

ตอบ....จะมีปัญหาหรือไม่   คงไม่สามารถตอบได้  ก็อยู่ที่ในส่วนลึกของหัวใจ ของผู้จัดการมรดกว่าเขาจะคิดอย่างไร  ซึ่งแม่ของคุณ  น่าจะอ่านใจเขาได้ดีกว่าผู้ตอบ  เพราะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมานาน  ขอแนะนำให้ใส่ชื่อผู้ซื้อกองทุนทุกคนเพื่อป้องกันปัญหา   ดีกว่าใส่ชื่อเขาคนเดียว  เพราะใจคนหยั่งยาก   แม้จะมีช่องทางฟ้องร้องได้่    แต่การป้องกันไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า ครับ

2. ปัจจุบันคุณยายอายุ 95 ปี ไม่สามารถเดิน หรือ เซ็นเอกสารได้แล้วเพราะโรคชรา ถ้าจะให้ใส่ชื่อในโฉนดโดยให้เป็นชื่อลูกทั้ง 3 จะทำได้หรือไม่ครับ? ผู้จัดการมรดกจะมีความผิดหรือไม่ครับ ถ้าไม่ได้แบ่งตามสัดส่วนที่กฏหมายกล่าวไว้?
 
ตอบ....การแบ่งปันมรดก   ตามที่ตอบมาแล้วนั้นว่ากันตามแนวทางของกฎหมาย   ทายาทสามารถแบ่งปันอย่างไรก็ได้  ใครจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่า หรือจะสละมรดกเลยก็ได้ ตามที่ตกลงกัน  เพราะเป็นเรื่องทางแพ่ง    ถ้าจะให้มีหลักฐานมั่นคงเมื่อทายาทตกลงแบ่งปันมรดกกันอย่างไร  ก็ควรทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ  ระบุไว้ให้ชัดเจนว่า  ใครได้ส่วนแบ่งอะไรบ้าง  ให้ทายาททุกคนลงลายมือชื่อรับรอง  และทำสัญญาเท่ากับจำนวนทายาท   เก็บไว้ทุกๆคน  เพื่อป้องกันการโต้แย้งในภายหลังว่า ไม่แ่บ่งมรดกตามที่ตกลงกัน(แบบสัญญาดาวน์โหลดได้ในกูเกิ้ล)...ส่วนยายในเมื่อท่านอายุมากแล้ว   ไม่ต้องแบ่งปันให้ท่านก็ได้  ถ้าลูกๆยินยอมพร้อมใจกัน  ก็แบ่งเป็นสามส่วนเท่าๆกัน  แม้ยายไม่ได้รับส่วนแบ่ง   ลูกๆน่าจะปล่อยให้แม่ต้องอดอยากครับ
 
3. ในกรณีที่จำเป็นต้องใส่ชื่อทั้ง 4 คน เมื่อมีการขายที่ดิน คุณยายจะต้องไปเซ็นเอกสารด้วยหรือไม่ครับ?
 
ตอบ...ตัดปัญหาโดยใส่ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมเพียงสามคนก็ได้ ครับ
 
4. ถ้าใส่ชื่อคุณยายไปด้วย จะต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนมรดกอีกรอบหรือไม่ครับ ถ้าคุณยายเสียชีวิตก่อนที่จะขายที่ดินได้ (น้าผู้ชายอ้างว่า ถ้าแบ่งที่ดินตอนนี้จะต้องเสียภาษีเพิ่ม เมื่อคุณยายเสียชีวิตก่อนที่จะขายที่ดินได้)
 
ตอบ...ถ้าแบ่งปันตามสิทธิ   คือยายมีส่วนแบ่งด้วย   ถ้ายายเสียชีวิต   มรดกของยายก็เป็นมรดก  ที่ตกทอดแก่ลูกๆทั้งสามคน   ก็ต้องมีการร้องศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของยายอีกรอบ....ก็ใส่ชื่อเพียงสามคนก็ได้....   ที่น้าหาข้ออ้าง   ก็คงหวังซื้อเวลาไปเรื่อยๆเท่านั้น   ก็ควรยืนยันว่าต้องใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมสามคน   ไม่ว่า ที่ดิน   บัญชีเงินในธนาคาร   และทรัพย์สินอื่นๆที่ตาเป็นเจ้าของ  เพื่อป้องกันปัญหา ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2013-05-05 16:04:37 IP : 101.51.185.43


ความคิดเห็นที่ 5 (3310171)

ขอขอบพระคุณมากสำหรับคำตอบครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ต้น วันที่ตอบ 2013-05-06 22:02:36 IP : 14.207.194.15


ความคิดเห็นที่ 6 (3310207)

มาเล่าสู่กันฟังครับ น้าชายมีอาการบ่ายเบี่ยงที่จะใส่ชื่อแม่ผมลงในโฉนด แม้ว่าเจตนายังไม่ชัดเจน แต่ก็ทำให้ผมผิดหวัง สงสารแม่ผมที่เสียใจกว่า เพราะ ความรักและไว้ใจที่มีต่อน้องย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง ตอนนี้ให้คุณแม่พักก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะทำยังไงต่อ ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ต้น วันที่ตอบ 2013-05-08 00:32:10 IP : 14.207.109.207


ความคิดเห็นที่ 7 (3315283)

เจ๋งมากเลย

ผู้แสดงความคิดเห็น เจ้าชาย วันที่ตอบ 2014-01-04 13:47:30 IP : 101.51.107.3


ความคิดเห็นที่ 8 (3315284)

ว้าวมีแต่คาวมรู้ทั้งนั้นเลยอ่ะแต่ไม่ค่อยรู้เรื่งหรอกเพราะแค่ป.6เอง (จากเด็กด่าน)

ผู้แสดงความคิดเห็น เจ้าชาย วันที่ตอบ 2014-01-04 13:51:23 IP : 101.51.107.3


ความคิดเห็นที่ 9 (3901137)

ถ้าที่ดินนั้นผู้จัดการมรดกโอนเป็นชื่อตัวเองแล้วไปจำนอง จะทำอย่างไร

ผู้แสดงความคิดเห็น โชค วันที่ตอบ 2015-11-18 15:20:03 IP : 119.76.71.52


ความคิดเห็นที่ 10 (4214871)

ขอสอบถามครับ

1.แม่เป็นผู้จัดการมรดกอยู่ สามารถนำที่ดินไปกู้เงินกับธนาคาร ได้หรือไม่ ต้องเปลื่อยจากผู้จัดการมรดก มาเป็นเจ้าของที่ดินก่อนหรือไม่ ลูกๆต้องเซ็นยินยอม ก่อนหรือไม่ เสืยภาษี ร้อยละเท่าไหร่ ในการเข้าชื่อมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น แย่เพราะลุงตู่ วันที่ตอบ 2017-09-26 15:21:07 IP : 49.229.65.97



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.