ReadyPlanet.com


ปัญหาสิทธิการเป็นสามีภรรยา กับเรื่อง ศาสนา


ผู้ชายเป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม หากจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทยนับถือศาสนาพุทธ แต่ไปทำพิธีแต่งงานกับหญิงไทยนับถือศาสนาอิสลาม ปัญหาคือ ผู้หญิงคนไหนมีสิทธิการเป็นภรรยาที่ถูกต้องแท้จริง ตามกฎหมายไทย เนื่องจากมีความสงสัยว่าจะมีเรื่องกฎหมายอิสลาม เข้ามาขัดกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ การที่หญิงไทยพุทธจดทะเบียนสมรสกับชายไทยอิสลามโดยไม่เข้าพิธี จะเกิดการเสียสิทธิการเป็นภรรยาที่ถูกต้องแท้จริง ของไทย หรือไม่



ผู้ตั้งกระทู้ แก้ว :: วันที่ลงประกาศ 2012-06-14 14:14:27 IP : 61.19.98.125


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3289510)

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   การสมรสที่สมบูรณ์คือการจดทะเบียนสมรส   แม้ไม่เข้าพิธีก็ไม่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ.......แต่จะขัดแย้งกับกฎหมายอิสลามหรือไม่    ตอบไม่ได้ เพราะผู้ตอบนับถือศาสนาพุทธ  และตอบคำถามโดยยึดหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครับ.....แต่ถ้าเป็นผู้อาศัยอยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้   ต้องใช้  มาตรา 3-4 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ ตามที่ยกมา    ในการแก้ไขปัญหาครับ

มาตรา ๓  ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลยหรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก  ทั้งนี้ ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้
 
 
 
มาตรา ๔  การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความในมาตรา ๓ ให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา
 
ให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นด้วย
 
       วินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นอันเด็ด
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-06-14 17:18:19 IP : 180.180.156.214


ความคิดเห็นที่ 2 (3289572)

อย่างนี้ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กลายเป็นประเทศย่อมๆ หรือไม่ หากมีคดีข้อพิพาท สาวไทยก็ไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งหรือไม่ น่าสงสัยมากครับ การจดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมีผลบังคับในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด ที่ใช้กฎหมายอิสลามหรือไม่ หมายความว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะถูกจำกัดขอบเขต ทั้งนี้รวมกฎหมายอาญาหรือไม่

ผู้แสดงความคิดเห็น สงสัยเหมือนกัน วันที่ตอบ 2012-06-15 08:36:19 IP : 61.19.98.125


ความคิดเห็นที่ 3 (3289632)

 4 จังหวัดภาคใต้    ที่ให้ใช้กฎหมายอิสลาม  ก็เฉพาะเรื่องครอบครัวและมรดก  เท่านั้น   เรื่องอื่นๆ  ก็ใช้  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามปรกติ   รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา ก็ใช้ตามปรกติใน 4  จังหวัดภาคใต้  คงไม่ถึงกับเป็นการแบ่งเป็นประเทศย่อมๆ    แต่เป็นหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  จึงยินยอมให้นำเรื่องครอบครัวและมรดก  มาใช้ในการแก้ปัญหาของพี่น้องมุสลิม ซึ่งความเชื่อในแต่ละศาสนา  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ถ้าไม่มีโอนอ่อนผ่อนตามกันบ้างในบางเรื่้อง   ก็คงมีผลเสียมากกว่าผลดีครับ.....ได้นำแนวคำพิพากษาศาลฎีกา  ที่เทียบเคียงเรื่องที่ถาม  ยกมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไปครับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2552  
     ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ถ้าเป็นการกระทำที่ชายกระทำแก่เด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมและภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) และวรรคท้าย (เดิม) มีความหมายว่า ในกรณีที่ชายและเด็กหญิงมีอายุไม่เกิน 17 ปีบริบูรณ์ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 หรือกรณีที่ชายและเด็กหญิงเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ทำการสมรสกันโดยถูกต้องตามหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 อันเป็นกฎหมายพิเศษให้ใช้บังคับแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัวและมรดกเฉพาะในสี่จังหวัดดังกล่าวแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และบรรพ 6 จึงมีผลให้ผู้กระทำผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ 
 
      จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสตูลทำการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) แม้จำเลยไม่ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2552  
 
         ในการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ดะโต๊ะยุติธรรมชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรชายของบุตรชายผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ดังนี้ ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับชั้นเดียวกับผู้ร้อง และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก็เพื่อจะให้ผู้นั้นเข้าไปมีอำนาจหน้าที่จัดการรวบรวมและแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องมรดก เมื่อคดีเกิดในจังหวัดปัตตานี ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นอิสลามศาสนิกจึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ มาตรา 3 และ 4 ซึ่งบัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและคำวินิจฉัยชี้ขาดดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามนั้นให้เป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3563/2551  
 
       คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องมรดกซึ่งเกิดในจังหวัดปัตตานีและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิก จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 ซึ่งให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามมาตรา 4 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมที่นั่งพิจารณาคดีมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและให้คำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นเป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น 
 
      เมื่อดะโต๊ะยุติธรรมที่นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดในข้อกฎหมายอิสลามแล้วว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมายอิสลามและคำวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายอิสลามของดะโต๊ะยุติธรรมดังกล่าวเป็นอันเด็ดขาดตามมาตรา 4 วรรคสาม ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
 
 
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2012-06-15 15:56:07 IP : 180.180.24.82



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.